เพื่อนบ้านจับตาไทยซื้อ STARstreak เอาไว้สอย UAV ฮ.ติดจรวดเครื่องยิงจรวดสตาร์สเตรค (Starstreak) ชุดหนึ่ง ตั้งแสดงในงานฟาร์นโบโรห์แอร์โชว์ (Farnborough Airshow 2012) ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอนวันที่ 10 ก.ค.2555 อังกฤษใช้ระบบจรวดป้องกันทางอากาศนี้เป็นหลักในการป้องปรามภัยข่มขู่ที่จะโจมตีในช่วงที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2555 ในเมืองหลวง ซึ่งทำให้ Starstreak ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง บริษัททาเลส (Thales) ผู้ผลิตรายงานในเว็บไซต์ว่ากองทัพบกไทยเซ็นสัญญาจัดซื้อสัปดาห์ที่แล้วโดยไม่ได้ระบุจำนวนหน่วยและมูลค่าที่คาดว่านับร้อยล้านปอนด์ เรื่องนี้กำลังได้รับความสนใจจากเพื่อนบ้าน. -- REUTERS/Luke MacGregor.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สื่อเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งสำนักข่าวกลาโหมอีกหลายแห่งทั่วโลก ต่างตีพิมพ์เผยแพร่ภาพ และข่าวกองทัพบกไทยเลือกระบบจรวดความเร็วสูงไว้ป้องกันตอบโต้การโจมตีจากยานไร้คนบังคับ และอากาศยานข้าศึกที่บินในระยะต่ำ ซึงเป็นอาวุธป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดอีกระบบหนึ่ง แต่บางเสียงวิจารณ์ว่าโอกาสจะได้ใช้ในการศึกยุคใหม่มีน้อยลง
ไทยได้เซ็นซื้อระบบจรวดนำวิถีสตาร์สเตรค (Starstreak) จากบริษัททาเลส (Thales) ในประเทศอังกฤษ ระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นรายงานในเว็บไซต์บริษัผู้ผลิตในกรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ
สองฝ่ายไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยจำนวนที่ซื้อ ตลอดจนมูลค่าของระบบอาวุธ ซึ่งเชื่อว่าหลายร้อยล้านปอนด์ ในการจัดซื้อที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรกับ นรม.ของไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเซ็นสัญญาซื้อขาย ทั้งนี้เป็นรายงานในเว็บไซต์ข่าวดิเฟนซ์ทอล์คด็อทคอม
สตาร์สเตรค เป็นระบบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ Very-Short-Range Air Defence (VSHORAD) หรือระบบจรวดป้องกันทางอากาศระยะสั้นมากที่สุดในโลก พร้อมเครื่องยิงน้ำหนักเบาแบบผสมผสาน (Lightweight Multiple Launchers -LML) บนขาตั้งแบบสามขา ทำให้ง่ายต่อการติดตั้ง และการเล็งเป้าหมาย พวกอากาศยานไร้คนบังคับ หรือ โดรน (Drone) เฮลิคอปเตอร์และยานบินโจมตีระยะต่ำชนิดอื่นๆ
ระบบนี้จะเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างการป้องกันทางอากาศของราชอาณาจักรไทยให้ทันสมัย เว็บไซต์บริษัททาเลส ระบุ
ระบบสตาร์สเตรคถูกนำออกติดตั้งในหลายจุดของกรุงลอนดอนเดือน ก.ค.ปีนี้ ในช่วงที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อป้องกันการโจมตีใดๆ หลังจากที่หน่วยข่าวกรองระบุว่า กลุ่มอิสลามหัวแรงอาจจะออกปฏิบัติการแก้แค้นอังกฤษที่ส่งกำลังเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรในสงครามอิรัก และอัฟกานิสถาน
ระบบสตาร์สเตรคนำเข้าประจำการในกองทัพสหราชอาณาจักรมานานกว่า 20 ปีแล้ว มีการพัฒนาขีดความสามารถเป็นระยะ เมื่อใช้เป็นระบบอาวุธหลักสำหรับกองทัพบกอังกฤษในช่วงเวลาสำคัญดังกล่าว ทำให้ระบบจรวดได้รับความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง
ตามข้อมูลของบริษัททาเลส สตาร์สเตรค มีความเร็วสูงสุดกว่า 3 เท่าของความเร็วเสียง ซึ่งทำให้สามารถยิงทำลายจรวดโจมตีของข้าศึกในระยะ 1 กม.ได้ทัน ก่อนที่มันจะถึงเป้าหมายภาคพื้นดิน และยิงทำลายโดรน หรือเฮลิคอปเตอร์โจมตีของข้าศึกได้ในระยะยิงดังกล่าว
ระบบการเล็งของสตาร์สเตรคจะควบคุมจรวดที่มีจำนวน 3 ลูกในชุดเดียวกัน ที่นำวิถีด้วยเลเซอร์ ตลอดระยะทางที่พุ่งเข้าหายานข้าศึกอย่างแม่นยำ ลดการสร้างความสูญเสียแก่วัตถุที่มิใช่เป้าหมายเพื่อการทำลาย
ระบบสามารถติดตั้งบนยานพาหนะได้หลากหลายชนิด เช่น แร็พพิดเรนเจอร์ (RAPIDRanger) ยานพาหนะน้ำหนักเบาเคลื่อนที่เร็ว และสะดวกในทุกสภาพพื้นที่ที่ติดตั้งระบบควบคุมในลำเดียวกัน มีค่าใช้จ่ายในการดูแลต่ำที่สุด เนื่องจากแทบไม่ต้องการการบำรุงรักษาใดๆ ตลอดอายุใช้งาน 15 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเชื่อถือได้สูงสุด ระบบนี้นำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2538 และจะยังใช้ต่อไปจนถึงปี 2568
ระบบสตาร์สเตรคยังสามารถติดตั้งได้บนรถแลนด์โรเวอร์ กับรถฮัมวีซึ่งในปัจจุบันเป็นยานลำเลียงพลมาตรฐานของกองทัพบกไทยอีกด้วย
ภาพจากวิกิพีเดีย จรวดนำวิถีสตาร์สเตรค ปล่อยจากแท่นยิงและระบบที่ติดตั้งบนยาน M1097 อาเวนเจอร์ (Avenger Air Defense Platform) ของกองทัพบกสหรัฐ ในภาพเดือน ก.ค.2551 ระบบจรวดของบริษัททาเลส (Thales) ผู้ผลิตในอังกฤษ สามารถติดตั้งบนรถแลนด์โรเวอร์หรือรถฮัมวีได้ กองทัพบกไทยเซ็นซื้อสัปดาห์ที่แล้วระหว่างการเยือนของ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่มีการเปิดเผยทั้งจำนวนและมูลค่า.
ระบบจรวดนำวิถีสตาร์สเตรค ตั้งแสดงในนิทรรศการอาวุธและการกลาโหมนัดหนึ่ง ในภาพจากเว็บไซต์ข่าวกลาโหมดีเฟนซ์ทอล์คด็อทคอม บริษัททาเลส (Thales) ผู้ผลิตในอังกฤษรายงานเว็บไซต์ว่า กองทัพบกไทยเซ็นสัญญาซื้อชนิดติดตั้งบนยานหนะ เอาไว้ต่อสู้ยานโจมตีแบบไร้คนบังคับ เฮลิคอปเตอร์หรือยานบินโจมตีระยะต่ำชนิดอื่นๆ.
ภาพจากวิกิพีเดีย จรวดนำวิถีสตาร์สเตรค (Starstreak Missile) ตั้งแสดงในงาน Africa Aerospace & Defence ในเดือน ก.ย.2549 ระบบนี้เข้าประจำการในกองทัพบกสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันพัฒนาติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ และบนเรือรบได้อีกด้วย บริษัททาเลส (Thales) ผู้ผลิตรายงานเว็บไซต์ว่า กองทัพบกไทยเซ็นสัญญาซื้อชนิดติดตั้งบนยานหนะ เอาไว้ต่อสู้ยานโจมตีแบบไร้คนบังคับ เฮลิคอปเตอร์หรือยานบินโจมตีระยะต่ำชนิดอื่นๆ.
สำหรับกองทัพไทย นักสังเกตการณ์รายหนึ่งเขียนลงในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมปากีสถานดีเฟนซ์ด็อทคอม ระบุว่า ยังมองไม่เห็นเป้าหมายของระบบอาวุธสตาร์สเตรค เนื่องจากภัยข่มขู่ทางบกมีต่ำมาก ประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างมีเพียงมาเลเซีย ที่มีระบบเฮลิคอปเตอร์โจมตี ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นโอกาสเช่นนั้นจะเกิดขึ้น
การข่มขู่ต่อกองกำลังทางบกของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการโจมตีเป้าหมายประเภทรถถัง ยานลำเลียงพล หรือยานยกพลขึ้นบกนั้น มีระบบอาวุธอื่นๆ อีกหลายรายการที่ใช้การแทนเฮลิคอปเตอร์โจมตีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอาวุธใหม่ๆ ที่ใช้ยิงทำลายจากระยะไกลได้แม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น โอกาสเสี่ยงที่จะถูกโจมตีด้วยโดรนยังมีต่ำมากเช่นกันซึ่งอาจจะเป็นทศวรรษข้างหน้า และรอบๆ ประเทศไทยก็มีเพียงสิงคโปร์ที่มียานบินไร้คนบังคับใช้งาน แต่ปัจจุบัน จำกัดเอาไว้สำหรับภารกิจบินสำรวจภูมิประเทศ น่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา และถ่ายภาพทางอากาศเพื่อติดตามศึกษาปัญหา และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกเท่านั้น ผู้สังเกตการณ์คนเดียวกันกล่าว
การซื้อระบบอาวุธโจมตีของไทยยังได้รับความสนใจจากสำนักข่าวออนไลน์ในเวียดนาม เว็บบล็อกข่าวกลาโหมในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ทุกแห่งนำเสนอข่าวสารโดยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไร
ทาเลสเป็นกลุ่มเทคโนโลยี และระบบอาวุธที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในยุโรป ปัจจุบันเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทฝรั่งเศสกับบริษัทอังกฤษ ระบบเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบเรดาร์ และระบบอาวุธอีกหลายชนิดของกลุ่มนี้ใช้ในเรือรบ เครื่องบินของกองทัพหลายประเทศ รวมทั้งในราชนาวีไทยด้วย อีกหลายระบบใช้ติดตั้งในเครื่องบินโดยสารด้วย
ช่วงเวลากว่า 10 ปีมานี้ บริษัท ทาเลสแอร์ดีเฟนซ์ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งได้ผลิตระบบจรวดสตาร์สเตรคออกมาหลายเวอร์ชัน รวมทั้งชนิดยิงจากอากาศสู่เป้าหมายในอากาศที่ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์โจมตี กับชนิดที่ติดตั้งบนเรือรบ ใช้คู่กับระบบปืนกลยิงเร็วแบบ โคลส-อิน (Close-in Ship Canon System) อีกด้วย.
http://www.manager.co.th/indochina/viewnews.aspx?NewsID=9550000142668