เคยมีอยู่คณะหนึ่งเอารถ ปตอ. กับ M113 ออกมา
ทำสำเร็จมั้ยครับ
ลองหาอ่านตามเวบดูครับ เรื่อง
กบฏนัดแล้วไม่มาหรือกบฏ 9 กันยายน 2528 นี่แหละ มีนายเอกยุทธ อัญชันบุตรเข้าไปพัวพันในฐานะนายทุนของฝ่ายกบฏด้วย แล้วมี พ.อ.มนูญ รูปขจร (ยศในขณะนั้น) เป็นหัวหน้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ
เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆจนบานปลาย เมื่อมีการสั่งให้รถถัง M41 ยิงปืนใหญ่รถถังตลอดจนระดมยิงปืนกล 93 บนป้อมปืนใส่เสาอากาศและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์จนมีนักข่าวต่างชาติตาย 2 ศพ ส่วนกระสุนปืนใหญ่พลาดไปตกแถวบางซื่อ แล้วทุกวันนี้ยังเป็นปริศนากันว่าใครที่นัดแล้วไม่มา ใครกันที่หักหลังพวกเดียวกันจนการรัฐประหาร 9 กันยาล่มไม่เป็นท่าเลยครับ
รถถัง M41 ยิงปืนใหญ่รถถังใส่เสาอากาศและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
แล้วคณะผู้ก่อการที่ถูกดำนินคดีได้รับโทษอย่างไรกันบ้างครับ
ตามนี้ครับ...
กบฏทหารนอกราชการ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถถังยิงจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
ความเสียหายหน้าสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จากการถูกระดมยิงด้วยปืนกล 93 ขนาด 12.7 มม. (0.50 นิ้ว) บนป้อมรถสายพาน M113
กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.เสริม ณ นคร พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฏครั้งนี้พยายามจะยึดอำนาจการปกครองที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
ในส่วนของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่ง และผู้นำสหภาพแรงงาน เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย
ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วยพล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.ท.ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พล.ท.สุจินดา คราประยูร พล.ท.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโทเกษตร โรจนนิล
เมื่อเวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏ ที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน
ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดย พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.
ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันนั้น แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดยทันที
เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พ.อ.มนูญ รูปขจร และ น.ท.มนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน
มีข่าวลือเกี่ยวกับการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า พ.อ.มนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึด เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจที่จะนำกำลังออกมาสมทบในภายหลัง และการกบฏครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจาก "นัดแล้วไม่มา"
เกร็ดเพิ่มเติม[แก้]
ในขณะนั้น คาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตกำลังมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างสูง คาราบาวได้รับการติดต่อจากทางคณะผู้่ก่อการตั้งแต่ไปแสดงคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาก่อนหน้านั้น ในลักษณะทาบทามไว้ก่อน เนื่องทางวงมีแนวความคิดต่อต้านตัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี อยู่แล้ว ซึ่งทางผู้่ก่อการนั้นเดิมจะลงมือในวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่ทว่าได้เลื่อนมาเร็วขึ้นเป็นวันที่ 9 กันยายน
ต่อมาในเย็นวันที่ 8 กันยายน หนึ่งวันก่อนการลงมือ จึงได้ทราบความชัดเจน แอ๊ด คาราบาว ในฐานะนักร้องนำและหัวหน้าวง พยายามล็อกตัวบุคคลในครอบครัวและเพื่อน ๆ สมาชิกของวงไม่ให้เดินทางไปไหน เพื่อมิให้ความลับรั่วไหล เมื่อถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 9 กันยายน จึงขับรถพาสมาชิกในวง ไปตั้งวงแสดงดนตรีที่สวนอัมพร ซึ่งตามแผนจะมีการถ่ายทอดสดการแสดงคอนเสิร์ตของคาราบาวทางโทรทัศน์ สลับกับการอ่านประกาศของคณะปฏิวัติ เพื่อปลุกใจให้คนหันมาเป็นแนวร่วม ซึ่งในวงขณะนั้นเพื่อความไม่ประมาท แอ๊ด และเล็ก คาราบาว ได้พกอาวุธปืนมาเพื่อป้องกันตัวด้วย แต่ทว่าการยึดอำนาจกระทำไม่สำเร็จ เลยกลายสภาพมาเป็นการกบฏ ตัวของแอ๊ดมารู้ว่าแพ้แน่แล้วเมื่อเวลา 15.00 น. เมื่อรู้ว่า พ.อ.มนูญ และ น.ท.มนัส รูปขจร สองพี่น้องผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อการ ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว จึงเดินทางกลับบ้านไปเพื่อให้ถูกจับ แต่ทว่าก็ไม่มีการมาจับกุมแต่อย่างใด
ดังนั้น ในอัลบั้มชุดที่ 6 ของคาราบาว "อเมริโกย" ซึ่งออกจำหน่ายในปลายปีเดียวกัน จึงมีอยู่เพลงนึง ซึ่งเป็นเพลงโปรโมตชื่อ มะโหนก มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตทหาร และมีท่อนนึงที่ร้องว่า "โหนกตัดสินใจรับใช้ชาติประชา มาเป็นพลทหารม้าสังกัดมอพันสี่" ซึ่งต้องการสื่อหมายถึง พ.อ.มนูญ รูปขจร นายทหารม้าสังกัด กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในเหตุการณ์ครั้งนี้ และในท้ายเพลงมีบันทึกเสียงปืนจากรถถังที่ยิงใส่เวทีคอนเสิร์ตในวันเกิดเหตุด้วย พร้อมกับเสียงผู้คนโหวกเหวก และเป็นที่มาของหน้าปกอัลบั้มชุดนี้ที่เป็นลายพรางทหาร และคำว่า vol.6 ซึ่งเมื่ออ่านกลับหัวจะอ่านได้ว่า 9 กย.
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3