เชียงกงคึกคัก ทัพบกสหรัฐโละ M113 ปิดตำนานม้าศึกสงครามเวียดนาม
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- วันหยุดยาวที่ผ่านมาทำให้ข่าวสำคัญข่าวหนึ่งถูกบดบังอย่างน่าเสียดาย ช่วงก่อนสิ้นปี 2557 กองทัพบกสหรัฐได้ตัดสินใจเลือกยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ ที่จะพัฒนาขึ้นใหม่บน "แพล็ตฟอร์ม" ของยาน M2/M3 "แบรดลีย์" (Bradley) เพื่อเข้าประจำการแทน ยานสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ M113 ที่กรำศึกมาหลายยุคสมัยในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามเวียดนาม นี่คือข่าวดีสำหรับกองทัพหลายประเทศ ที่แสวงหายานลำเลียงพลคุณภาพดี ราคาถูกและใช้งานได้สารพัด ทั้งงานลำเลียง งานลาดตระเวณ งานรบ จนถึงงานรักษาพยาบาลในสนาม
กองทัพบกสหรัฐได้เริ่มปลดระวางประจำการยาน M113 มาตั้งแต่ปี 2550 คือ 7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันยังมีรุ่นใหม่ๆ ประจำการอยู่อีกราว 5,000 คัน และ จะต้องปลดให้หมดในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า เพื่อนำ "แบร็ดลีย์" รุ่นใหม่เข้าใช้แทน เป็นการปิดตำนานม้าศึกอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งในช่วง 10 ปีสงครามเวียดนามนั้น มีชื่อเสียงในเรื่องความคล่องตัว และความอึดความทน สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก มีพิษสงรอบตัว
พูดให้เป็นศัพท์ก็คือ ราว 10 ปีมานี้ กองทัพบกสหรัฐได้ทำโครงการจัดหายานสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะอเนกประสงค์ (Armored Multi-Purpose Vehicle หรือ AMPV แบบใหม่ รุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการพัฒนา M113 ใช้งานมาต่อเนื่อง และ คราวนี้จะเริ่มปลดระวางออกจากหน่วยรบระดับกองพลน้อยลงไป ที่มีใช้อยู่ประมาณ 2,900 คัน มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม
ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.2557 กระทรวงกลาโหมได้ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกบริษัท BAE Systems ให้เป็นผู้มีสิทธิ์ในการพัฒนาและผลิต AMPV ตามความต้องการของกองทัพ โดยบริษัทดังกล่าวจะผลิตยานต้นแบบออกมาจำนวน 29 คันในระยะ 4 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งเรียกกันว่า "ระยะการพัฒนาทางวิศวรกรรม" และจะพิจารณาคัดเลือกกันอีกครั้งหนึ่งก่อน จะเปิดสายการผลิตเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐกล่าวว่า ถึงแม้จะมีการปลดระวาง M113A2/A3 ในระดับกองพลน้อยลงมาแล้วก็ตาม ในหน่วยรบอื่นๆ ที่เป็นระดับกองพลใหญ่ จะยังคงใช้ "ม้าศึก" รุ่นเดิมๆ นี้ต่อไปแกจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็อีกชั่วระยะหนึ่ง
ตัวเลขของสหรัฐระบุว่า นับตั้งแต่ผลิตคันแรกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการผลิตรุ่นต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 80,000 คัน ยังไม่นับรวมกับในอีกหลายประเทศ ที่ทำเป็นของตัวเองโดย "โคลนนิ่ง" ซึ่งรวมทั้งปากีสถาน อียิปต์ ตุรกี และ ในอิหร่านอีกด้วย M113 จึงเป็นแพล็ตฟอร์มยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกตลอด 50 ปีมานี้ ปัจจุบันมีใช้แพร่หลายในราว 50 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ที่มีประจำการกว่า 500 คัน ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ คือ M113A2 กับ A3 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด
นอกจากนั้นยังมี M113 ใช้ในกองทัพบกฟิลิปปินส์อีกหลายร้อยคัน ในอินโดนีเซียที่ซื้อต่อจากเบลเยียมอีกกว่า 100 คัน และ ในเวียดนามที่มีอยู่ 750 คัน เป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลเวียดนามใต้ในอดีต ปัจจุบันยังมีหลายร้อยคันที่ใช้การได้ ทั้งนี้เป็นตัวเลขที่รายงานโดยสำนักข่าวกลาโหมแห่งหนึ่ง
หลังสงครามเวียดนาม M113 รุ่นต่างๆ ยังถูกนำไปใช้เป็นม้าศึกในสงคราม แทบจะทุกครั้งที่มีสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงคราม "พายุทะเลทราย" ขับไล่กองทัพอิรักออกจากการยึดครองประเทศคูเวต และ ยุทธการเพื่ออิสรภาพอิรัก (Iraqi Freedom Operation) โค่นล้มระบอบประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติแต่ไหนแต่ไรมา ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ และ ยุทโธปกรณ์อีกหลายชนิด ที่ปลดระวางประจำการจากกองทัพแล้ว สหรัฐจะเสนอให้แก่ชาติพันธมิตรแบบฟรีๆ โดยมีค่าซ่อมบำรุงและค่าอัปเกรด ตามความต้องการของประเทศปลายทาง อีกส่วนหนึ่งสหรัฐขายให้แก่ประเทศที่สนใจ
ส่วนยานลำเลียงพล "แบรดลีย์" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่ พล.อ.โอมาร์ แบร็ดลีย์ (Omar Bradley) นายพล 5 ดาวคนสุดท้าย จากทั้งหมด 5 คน ของกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐ และวีรบุรุษจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคพื้นยุโรป
"แบร็ดลีย์" (Bradley Fighting Vehicle) เป็นอีกแพล็ตฟอร์มหนึ่งที่ใช้งานมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 คู่ขนานมากับ M113 มีการพัฒนาต่อๆ มา เป็นอีกหลายเวอร์ชั่น จนกระทั่งมาเป็น M2 กับ M3 โดย BAE Systems ในปัจจุบัน ซึ่งทันสมัยกว่า M113 อย่างเทียบกันไม่ได้
M113 มีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวถังที่ทำจากอะลูมิเนียมเกรดเดียวกันกับเครื่องบิน ทำให้มีน้ำหนักเบา ขนส่งทางอากาศได้ง่าย บรรทุกกำลังพลได้มากกว่าและแล่นเร็วกกว่าแบร็ดลีย์เล็กน้อย แต่จุดอ่อนสำคัญก็คือ เกราะของ M113 ป้องกันได้เฉพาะกระสุนที่ยิงจากปืนขนาดเล็กทั่วไป แต่ไม่สามารถทานแรงระเบิดของอาร์พีจีได้
จุดอ่อนสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นช่องว่างระหว่างตีนตะขาบกับตัวถัง เมื่อโดนอาร์พีจีเข้าบริเวณนี้กำลังพลภายในรถจะเสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่เกราะของ M2/M3 แบร็ดลีย์นั้นเป็นแบบ Space Laminated ใช้วัสดุต่างออกไป และ ยังมีส่วนที่เป็นเกราะแบบ Explosive Reactive Armor ป้องกันตัวเองได้เมื่อถูกยิง และ ทนแรงระเบิดของอาร์พีจีได้อีกด้วย
ทั้งสองแพล็ตฟอร์มนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในภารกิจต่างๆ และ ยังติดอาวุธได้หลากชนิด ปืนกลหลายขนาด มีทั้งรุ่นที่ติดตั้งป้อมปืนแบบรถถัง พร้อมติดปืนกลขนาด 50 มม. ออกจากโรงงาน และ รุ่นที่ไม่มีป้อมปืน แต่ติดปืนกล 40 มม. หรือ 25 มม. รวมทั้งติดระบบจรวดต่อสู้รถถังได้หลายระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจรวดโทว์ (TOW) ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดรุ่นหนึ่ง
ยังไม่ทราบสเป็คที่กองทัพบกสหรัฐกำหนดออกมา สำหรับ AMPV ในอนาคต แต่ M2/M3 ที่ผลิตโดยบริษัท BAE Systems นั้น ใช้ส่วนประกอบของแบร็ดลี่ย์รุ่นดั้งเดิมจำนวนมากและไม่มีป้อมปืน ติดตั้ง"เชนกัน" (Chain Gun) ซึ่งก็คือ ปืนกล M242 "บุชมาสเตอร์" (Bushmaster) ขนาด 25 มม. ติดจรวดโทว์ BMG-71 จำนวน 2 ท่อยิง
M2/M3 ของ BAE ยังติดปืนกล M240 ขนาด 7.62 มม. อีก 1 กระบอกด้วย และ เป็นที่ทราบกันมาว่า ยานลำเลียงพลรุ่นนี้ ปัจจุบันมีใช้เฉพาะในสหรัฐ กับซาอุดิอาระเบีย 2 ประเทศเท่านั้น.
http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9580000003255 ทบ.ไทย น่าจะขอซื้อล๊อตใหม่ๆ หลังๆที่กำลังปลดประจำการมาใช้ในราชการในราคามิตรภาพ หรือโครงการ FMS นะครับ จะได้ขยายกองพลทราบยานเกราะให้มีเยอะๆ หน่อย