จากห้องข่าวของเว็บไซต์ ปตท. ครับ
วันนี้ (29 มกราคม 2552) กลุ่ม ปตท. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงผลสำเร็จในการผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงต้นแบบ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถป้องกัน
กระสุนปืนระดับเอ็ม-16 และปืนไรเฟล มีน้ำหนักเบากว่าเสื้อเกราะที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าที่ผลิตด้วยวัตถุดิบนำเข้าเกือบเท่าตัวและมีประสิทธิภาพทัดเทียมต่างประเทศ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต
การนำวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศมาใช้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์ของประเทศ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. โดยบริษัท พีทีที โพลิเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พีทีทีพีเอ็ม) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลการจำหน่ายเม็ดพลาสติก InnoPlus HDPE ทั้งหมดของกลุ่ม ปตท. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ 5.5 ล้านบาท พร้อมวัตถุดิบเม็ดพลาสติก InnoPlus HDPE ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลและเอ็มเทค เพื่อใช้ในการศึกษาและพัฒนางานวิจัยแผ่นโพลิเมอร์และแผ่นเซรามิก เพื่อนำมาผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงต้นแบบจำนวน 100 ตัว สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้ป้องกันตัวขณะปฏิบัติในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลนเสื้อเกราะกันกระสุนอย่างมาก ทั้งนี้เสื้อเกราะกันกระสุนต้นแบบทั้ง 100 ตัวจะผลิตแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคมนี้ โดยกลุ่ม ปตท. จะส่งมอบให้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งานต่อไป และยังมีแผนที่จะให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนให้มีคุณสมบัติดียิ่งขึ้นอีกในอนาคต
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า เสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตขึ้นนี้เป็นเสื้อเกราะชนิดแข็ง ใช้แผ่นกันกระสุนที่ทำจากแผ่นเซรามิกและแผ่นโพลิเมอร์ HDPE ที่มีความแข็งแรงสูงมาประกบกัน ในลักษณะเป็นแผ่นโค้งที่ออกแบบให้รับกับสรีระของคนไทย ซึ่งแผ่นเซรามิกที่อยู่ด้านนอกจะทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุน ส่วนแผ่นโพลิเมอร์คอมพอสิทที่อยู่ด้านใน ทำหน้าที่กระจายแรงและลดแรงกระแทก ทั้งนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงดังกล่าวน้ำหนักเพียง 10 ก.ก. และ
ผ่านการทดสอบคุณภาพจากกรมพลาธิการตำรวจแล้วว่า มีประสิทธิภาพการป้องกันภัยของเกราะบุคคลในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) ของสหรัฐอเมริกา คือสามารถป้องกันกระสุนปืน 7.62 ม.ม. ปืนเอ็ม-16 และปืนไรเฟล ขณะที่ต้นทุนการผลิตเสื้อเกราะครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อชุด ซึ่งต่ำกว่าราคาเสื้อเกราะกันกระสุนระดับเดียวกันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบเท่าตัว รวมทั้งยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า เพราะสามารถทนต่อความชื้นและแสงแดดได้ดีกว่า
ที่มา :
http://www.pttplc.com/th/nc_bu_dt.aspx?K=MjM3NQ==