การผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งใหม่ของกองทัพเรือไทยกองทัพเรือจะผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้งพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในวันกองทัพเรือ เมื่อ 20 พ.ย.57 ว่าได้เสนอแผน
พัฒนากองทัพเรือ ซึ่งประกอบด้วยโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างการตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพเรือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร
ได้สั่งการให้กองทัพเรือ ทำการศึกษารายละเอียดความต้องการเรือดำน้ำเพื่อนำเสนอต่อไป
กองทัพเรือมีความพยายามในการจัดหาเรือดำน้ำจำนวนหลายครั้ง นับตั้งแต่ปลดระวางประจำการเรือดำน้ำชุด ร.ล.มัจฉาณุ
จำนวน 4 ลำ เมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดกองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น 206A มือสองจำนวน 6 ลำ
(พร้อมใช้ 4 ลำ) เมื่อปี พ.ศ.2553 พร้อมกับได้จัดตั้งกองเรือดำน้ำขึ้นเพื่อเตรียมการรองรับโครงการเรือดำน้ำดังกล่าว
แต่โครงการได้ถูกต่อต้านและไม่ถูกนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ.2555 กองทัพเรือได้อนุมัติการจัดส่งกำลังพลไปศึกษาความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำ ณ ต่างประเทศ จำนวนรวม
28 นาย เพื่อเตรียมองค์ความรู้สำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำในอนาคต และกองทัพเรือได้ทำพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการ
กองเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
http://www.bangkokpost.com/news/general/444449/navy-renews-push-for-sub-planที่มา page กองเรือดำน้ำ
https://www.facebook.com/pages/Submarine-Squadron-กองเรือดำน้ำ-กองเรือยุทธการ/222887361082619
ตรงนี้ขอกล่าวถึงบทความข่าวต้นฉบับของ Bangkok Post สักเล็กน้อยครับว่ามีการกล่าวถึงประวัติการจัดหาเรือดำน้ำ
ที่ผ่านมาของกองทัพเรือ ตั้งแต่เรือดำน้ำ A19 ของ Kockums สวีเดนช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ เรื่องที่จีนเสนอให้เช่าซื้อ
เรือดำน้ำ Type 039 Song ช่วงปี ๒๕๔๙ และโครงการจัดหาเรือ U206A จากเยอรมนีในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ซึ่งทั้งหมด
มีการพาดพิงถึงเรื่องการเมืองด้วย แน่นอนความเห็นตอบรับของผู้อ่านข่าวส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกันครับคือต่อต้านว่า
กองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำทำไม? จะเอามาเป็นของเล่นพวกนายพลแก่ๆรึ? จะผลาญงบประมาณประเทศเล่นรึ ?
เอาไปลงกับการศึกษา คมนาคม กับเกษตรไม่ดีกว่ารึ ? พาลไปจนถึงว่าน่าจะยุบกองทัพเรือแล้วตั้งเป็นหน่วยยามฝั่ง
อย่างเดียวดีกว่าเพราะประเทศไทยไม่มีภัยคุกคามทางทะเลแล้ว คือมันเสียเวลาไปชี้แจงตอบนะครับ เราไม่สามารถ
ทำความเข้าใจกับพวกคนที่มีธงในใจเรียบร้อยแล้วได้ เพราะพวกเขาเลือกที่จะเชื่อแบบนั้นนะครับ
กลับมาที่เรื่องความเป็นไปได้สำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำใหม่ของกองทัพเรือไทยต่อ ส่วนตัวคิดว่าการพิจารณา
จัดตั้งหรืออนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำนั้นอาจจะไม่ได้เกิดในช่วงรัฐบาลนี้ครับ คืออาจจะมีการกล่าวถึงอีกทีหลัง
เลือกตั้งใหม่ปลายปี ๒๕๕๘ ถึงต้นปี ๒๕๕๙ ก็เป็นได้ครับ เพราะเห็นท่าทีของทางกองเรือดำน้ำเองจะเน้นเรื่องเตรียมการ
ภายในและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรือดำน้ำและการปฏิบัติการเรือดำน้ำ
รวมถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคประชาชนต่อไป
นอกนั้นก็จะเป็นในส่วนการฝึกศึกษา เช่นที่ได้ส่งนายทหารไปศึกษาที่เยอรมนี ๑๘นาย และที่เกาหลีใต้ ๑๐ นายแล้ว
ตามข้อมูลในข้างต้นครับ
แต่ถ้าจะมีการพิจารณาและอนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำในช่วงรัฐบาลนี้จริงก็น่าจะมีข้อจำกัดในการเลือกแบบ
อยู่พอสมควรครับ ก็ตามที่เคยรายงานไปว่าในช่วงปีหลังมานี้มีตัวแทนบริษัทผู้สร้างเรือจากหลายประเทศมาเสนอ
ข้อมูลแบบเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทยพิจารณา ถ้าให้วิเคราะห์ส่วนตัวมองว่าแหล่งจัดหาเรือดำน้ำถ้าเป็นเรือใหม่
ของกองทัพเรือที่เป็นไปได้มากในช่วงนี้อาจจะมีเพียงสองแหล่งคือจีนกับเกาหลีใต้ครับ
เหตุที่ตัดแหล่งจากยุโรปก็เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศไทยขณะนี้ แต่ถ้าจะว่าไปตามตรงสหภาพยุโรปอาจจะ
ไม่มีปัญหาอะไรมากกับการขายอาวุธให้กองทัพเรือไทยก็ได้ (ดูตัวอย่างโครงการจัดหา SAAB ARTHUR กับ Airbus
Helicopters EC645 T2 ที่ลงนามในปีนี้) ประเด็นสำคัญคือราคาเรือที่ถือว่าแพงไม่ว่าจะเช่นเรือแบบ Scorpene ของ
DCNS ฝรั่งเศส ที่มาเลเซียจัดหาไปแล้ว ๒ ลำ หรือ U214 ที่เป็นที่นิยมในหลายประเทศหรือ U218SG ที่สิงคโปร์จะจัดหา
๒ลำในราวปี 2020 ของ ThyssenKrupp Marine Systems เยอรมนี
ส่วนเรือดำน้ำแบบ A26 ของ SAAB Kockums สวีเดนตามที่เคยรายงานข่าวไปครับว่าแม้ว่ารัฐบาลสวีเดนจะยกเลิกโครงการ
และให้บริษัทไปออกแบบความต้องการเรือแบบใหม่แทนแล้ว แต่ SAAB Kockums สวีเดนได้เสนอแบบเรือดำน้ำ A26
ให้หลายประเทศอยู่ เช่นเสนอเรือ 4,000tons ที่พัฒนาจาก A26 ให้กองทัพเรืออสเตรเลียในโครงการทดแทนเรือชั้น Collins
หรือการเสนอเรือดำน้ำ A26 ให้กองทัพเรือโปแลนด์ทดแทนเรือแบบ Project 877E Kilo ORP Orzel ๑ลำแข่งกับ U212A
ของ TKMS และ Scorpene ของ DCSN ตรงนี้มองว่าถ้าดูจากที่ระบบของกองทัพเรือไทยในช่วงหลังที่ใช้ระบบของ SAAB
สวีเดนอย่างมาก ทั้งโครงการปรับปรุงเรือชุด ร.ล.นเรศวร และระบบที่ติดตั้งกับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่สั่งต่อกับ DSME
เกาหลีใต้แล้ว ถึงแม้ว่าเรือแบบ A26 จะยังไม่มีการสร้างออกมาจริง แต่ก็น่าจะเป็นแบบเรือดำน้ำที่เหมาะกับไทยมาก
เพราะทะเลบอลติกในสวีเดนก็เป็นทะเลน้ำตื้นที่ลึกน้อยกว่าอ่าวไทย (สวีเดนแม้เป็นประเทศเป็นกลางแต่ก็มีภัยคุกคาม
หลักจากเรือดำน้ำรัสเซียที่เข้ามาสอดแนมล้ำน่านน้ำสวีเดนบ่อยมากซึ่งตรวจจับได้หลายครั้งแต่ทำอะไรไม่ได้มาก)
ถ้าไม่ติดปัญหาเรือดำน้ำสวีเดนก็น่าจะยังเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ แม้ส่วนตัวจะคิดว่าไม่น่ามีโอกาสมากนักในขณะนี้ครับ
ด้านเรือดำน้ำรัสเซียอย่าง Project 636M Kilo ที่กองทัพเรือประชาชนเวียดนามจัดหามา ๖ลำซึ่งขณะนี้ได้รับมอบแล้ว ๓ ลำ
อาจจะมีข้อแย้งว่าเนื่องจากระบบเรือดำน้ำของไทยนั้นต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์ การจะเลือกเรือดำน้ำของรัสเซียก็อาจจะเป็น
ตัวเลือกหนึ่งที่กองทัพเรือไทยสามารถพิจารณาได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังมองว่าการจัดตั้งกองเรือดำน้ำของ
กองทัพเรือไทยทั้งระบบการฝึกและการส่งเจ้าหน้าไปฝึกศึกษาที่ต่างประเทศจะอิงระบบของตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนีเป็นหลัก
อีกทั้งกองทัพเรือไทยไม่เคยจัดหาระบบอาวุธเรือหลักจากรัสเซียเลยด้วย แม้ว่ารัสเซียจะส่งตัวแทนมานำเสนอเรือแบบ Kilo
หรือ AMUR หลายครั้ง เพราะฉะนั้นส่วนตัวยังมองว่าเรือดำน้ำของรัสเซียคงจะเกิดในกองทัพเรือไทยค่อนข้างยากครับ
สำหรับจีนอย่างที่ทราบว่าพยายามเสนอขายหรือเช่าซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรือมาตลอดเช่นการเสนอให้เช่าซื้อเรือแบบ
Type 039 Song ที่กล่าวไปในข้างต้น หรือการเสนอเรือดำน้ำแบบ S20 ที่เป็นรุ่นส่งออกของ Type 039A Yuan
ที่ลดขนาดลงจาก3,600tons เป็น 1,850tons และลดสมรรถนะคือตัด AIP ออก ซึ่งโครงการเรือดำน้ำที่ปากีสถาน
จะเจรจาจัดหาจากจีน ๖ ลำ ก็เป็นในลักษณะนั้น แต่ก็อย่างที่ทราบว่านอกจากบังคลาเทศที่จะจัดหาเรือชั้น Type 035 Ming
มือสอง ๒ลำวงเงิน $200 million แล้วก็แทบจะไม่เคยมีประเทศอื่นใดที่จัดหาเรือดำน้ำจีนไปใช้เลย และก็เช่นกันว่าที่ผ่านมา
กองทัพเรือไม่ค่อยพอใจกับคุณภาพเรือรบที่ต่อจากจีนนัก ตั้งแต่เรือชุด ร.ล.เจ้าพระยา ชุด ร.ล.กระบุรี ชุด ร.ล.นเรศวร
จนถึงชุด ร.ล.ปัตตานี เข้าใจว่ากองทัพเรือน่าจะเลี่ยงเรือดำน้ำจีนให้ใด้มากที่สุดถ้าเป็นไปได้ เพราะถ้ากองทัพเรือไทย
จะจัดหาเรือดำน้ำจีนจริงคงจะเป็นการแบกรับความเสี่ยงอย่างมากครับ
ถ้ากองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำที่ผลิตจากเกาหลีใต้แบบเดียวกับที่อินโดนีเซียสั่งจัดหาไปล่าสุดคือแบบ DW1400T
ของ DSME ๓ ลำ ก็ถือว่ายอมรับได้ครับ เพราะพื้นฐานระบบเรือดำน้ำของกองทัพเรือเกาหลีใต้เป็นระบบเยอรมัน
ตั้งแต่ชั้น Chang Bogo U209/1200 และชั้น Son Won il U214 ซึ่งกำลังพลในส่วนที่กองทัพเรือผลิตมาในหน่วย
กองเรือดำน้ำก็มาจากแหล่งการศึกษาตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนีเป็นหลักรวมถึงเกาหลีใต้ตามข้อมูลในข้างต้นด้วย
อย่างไรเรือดำน้ำเกาหลีใต้ก็คงน่าจะเหมาะสมและดีกว่าเรือดำน้ำจีนสำหรับกองทัพเรือไทยครับ อย่างไรก็ตามก็ตาม
ที่เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งครับว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยยังไม่มีอะไรที่แน่นอนในขณะนี้
กองทัพเรือเองยังมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากต่อเนื่องอยู่หลายโครงการครับ
เช่นโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงใหม่จากเกาหลีใต้ซึ่งต้องจัดหาให้ครบ ๒ลำ พร้อมการถ่ายทอด Technology
การต่อเรือในประเทศ โครงการอากาศยานของกองการบินทหารเรือ เช่น เครื่องบินลาดตระเวนแบบใหม่แทน P-3T
ที่ปลดประจำการไป อาจรวมถึง F-27 Mk200 กับ DO-228 ในอนาคต และ UAV ตรวจการณ์แทน T-337 ด้วย
การจัดหา ฮ.ลล.๕ MH-60S เพิ่มเติมให้ครบความต้องการ ๖เครื่อง โครงการจัดหา ฮ.ประจำเรือฟริเกตใหม่ ๔เครื่อง
ในส่วนของนาวิกโยธินก็มีเช่นการขยายขนาดกำลังเพิ่มอย่างการจัดตั้งกรมทหารราบที่๒อีกกรม การจัดหารถเกราะล้อยาง
ระยะที่ ๒ อีก ๑๒ คัน และอีกหลายๆอย่างมากครับ
ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ณ ที่ตั้งถาวรที่สัตหีบ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
แต่ในช่วงปัจจุบันนี้มองว่าเป็นไปได้ยากมากที่กองทัพเรือจะได้รับงบประมาณตามที่ประเมินไว้คือราว ๔๐,๐๐๐ล้านบาท
สำหรับการจัดหาเรือดำน้ำ ๒ลำได้ส่วนตัวเกรงเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้กองทัพพม่าอาจจะจัดหาเรือดำน้ำ
เข้าประจำการเพื่อคานอำนาจกับกองทัพเรือบังคลาเทศที่มีข้อพิพาททางทะเลกันอยู่ ซึ่งกองทัพเรือพม่าอาจจะได้
เรือดำน้ำมาประจำการได้ก่อนกองทัพเรือไทยก็ได้ ตราบใดที่โครงการเรือดำน้ำยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
และประชาชนส่วนใหญ่อยู่และยิ่งกองทัพเรือไทยยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการถึงขั้นพร้อมรบนานเท่าไร การคงอำนาจ
ในการป้องกันภัยคุกคามทางทะเลของไทยก็ยิ่งลดขีดความสามารถลงเรื่อยๆเท่านั้น ฉะนั้นตรงนี้มองว่าก่อนที่จะเริ่ม
ประกาศการจัดตั้งโครงการเรือดำน้ำใหม่จริง งานหลักของกองเรือดำน้ำก็คือการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าเข้ากับ
ทุกภาคส่วนให้ประสบผลมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำกับที่เคยเกิดกับโครงการเรือดำน้ำแบบ U206A ที่ผ่านมา
เพราะกองทัพเรือไทยเมื่อตั้งกองเรือดำน้ำแล้วก็ต้องมีเรือดำน้ำประจำการจริงให้ได้ครับ
http://aagth1.blogspot.com/2014/12/blog-post.html