เรือดำน้ำอินเดียถูกเรือประมงชนไปไม่เป็น.. ชั้น Kilo แบบเดียวกันกับเวียดนาม ภาพด้านข้างของเรือสินธุโกศ (INS Sindhughosh -S55) ในภาพที่ไม่ได้ระบุวันถ่ายของกองทัพเรือสหรัฐ
สินธุโกศลำนี้เป็นเรือต้นของชั้น กองเรืออินเดียขึ้นระวางประจำการเมื่อปี 2529 ต่อขึ้นภายใต้ Project 877
แบบเดียวกันกับเรือชั้นคิโล (Kilo-class) ของสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน อินเดียยังทยอยซื้อต่อๆ มาอีก 9 ลำ
จนถึงปี ค.ศ.2000 ผ่านการอัปเกรดมาเป็นลำดับ เป็นชั้นเดียวกันกับของกองทัพเรือเวียดนาม ที่ต่อขึ้นห่างกัน
เกือบ 30 ปี ภายใต้ Project 636 เหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นครั้งที่มีรายงานว่า เรือชั้นคิโลถูกเรือประมง
ชนจนเดี้ยง ถึงแม้ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรือดำน้ำของชาติต่างๆ มาแล้วมากมาย แม้กระทั่งเรือพลังงานนิวเคลียร์
ของสหรัฐก็ไม่ได้รับการยกเว้น. ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เรือดำน้ำชั้นคิโล (Klo-class) ลำหนึ่งของกองทัพเรืออินเดีย ได้ประสบเหตุการณ์
ไม่คาดคิดอีกครั้งหนึ่ง ขณะออกฝึกเป็นการลับๆ อยู่นอกชายฝั่งเมืองมุมไบ ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เรือไปชนกับ
เรือหาปลาของชาวประมงลำหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถจะดำน้ำ และปฏิบัติภารกิจต่อไปได้ กองทัพเรือต้องส่งทีม
ลงไปช่วยกู้ภัย หนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศรายงานเรื่องนี้
เหตุการณ์เกิดขึ้นวันศุกร์ 20 ก.พ. ขณะเรือสินธุโกศ (INS Sindhughosh -S55) ดำน้ำในระดับกล้องส่องทาง
หรือกล้องเปอริสโคป (Periscope) ระหว่างร่วมการฝึกซ้อมในทะเลอาหรับ ภายใต้รหัส TROPEX (Theatre Readiness
Operational Level Exercise) หนังสือพิมพ์ไทม์ส ออฟอินเดีย (Times of India) รายงานเหตุการณ์
นี่คือเรือดำน้ำขนาด 3,000 ตัน ชั้นเดียวกันกับอีก 6 ลำที่กองทัพเรือเวียดนามซื้อจากรัสเซีย แต่เป็นรุ่นหลัง
ที่สามารถติดจรวดโจมตีเป้าหมายบนบกได้ และของเวียดนามสร้างทีหลังห่างกันเกือบ 30 ปี จึงทันสมัยกว่า
ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ กับระบบอาวุธอื่นๆ
สินธุโกศ เป็นเรือต้นของชั้น จำนวน 10 ลำ ที่กองทัพเรืออินเดียทยอยจัดซื้อจากสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ช่วง
ปลายทศวรรษที่ 1980 จนถึงปี 2000 ในยุคที่กลายเป็นรัสเซียแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเรือดำน้ำทันสมัย และยังมี
ใช้ในกองทัพเรือรัสเซีย กับอีกหลายประเทศ รวมทั้งในกองทัพเรือจีนอีกจำนวนหนึ่งด้วย
เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นขณะเรือสินธุโกศ กำลังฝึกซ้อม ส่งทีมประดาน้ำออกจากเรือผ่านทางช่องยิงตอร์ปิโด
ที่อยู่ทางด้านหน้า ในปฏิบัติการลับ เคลื่อนเข้าสู่ท่าเรือของฝ่ายตรงข้าม แต่เรือประมงได้ผ่านไปชนเข้า ทำให้
กล้องเพอริสโคปเสียหาย จนไม่สามารถจะซ่อมให้ใช้การได้อีก เจ้าหน้าที่ต้องลากเรือกลับฐานทัพมุมไบเวลาต่อมา
เพื่อซ่อมแซม หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว
ผู้แทนกองทัพเรือ แถลงว่า สาเหตุของอุบัติเหตุก็เนื่องเรือสินธุโกศ ไม่ได้เปิดระบบโซนาร์นำทาง ไม่เปิดไฟ
หรือสัญญาณแจ้งเตือนใดๆ และเป็นช่วงเวลากลางคืน เรือประมงจึงไม่เห็น และไม่เห็นเรือประมง ไม่สามารถตรวจจับ
วัตถุแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายได้ สาเหตุที่ไม่เปิดระบบโซนาร์ เปิดไฟ หรือสัญญาณใดๆ ก็เนื่องจากเป็นการฝีกซ้อม
การเคลื่อนไหวในเชิงลับ นั่นเอง
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 นี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ที่เกิดกับเรือสินธุโกศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ปีที่แล้ว
ลูกเรือคิดคำนวณน้ำขึ้นน้ำลงผิดพลาด ทำเรือดำน้ำ เกยตื้น ขณะจอดนิ่งอยู่ใต้ผิวน้ำที่ฐานทัพเรือมุมไบ น้ำได้ลดลง
มาก และลดลงระดับต่ำกว่าที่คำนวณไว้
ก่อนหน้านั้น ในเดือน ม.ค.ปีเดียวกัน ก็ได้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ขณะเกยตื้นนั้นเรือสินธุโกศมีลูกเรืออยู่
70 คน เรืออยู่ในสภาพพร้อมรบ ติดอาวุธครบ เหตุเกยตื้นทำให้ระบบโซนาร์ของเรือเสียหายหนัก กองทัพเรือต้อง
ส่งทักโบตไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือ และกู้ภัย ปลดตอร์ปิโดกับจรวดนำวิถี เพื่อลดน้ำหนักช่วยให้เรือลอยลำขึ้นได้
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2551 เกิดอุบัติเหตุเรือสินธุโกศ ชนกับเรือสินค้าลำหนึ่งในอ่าวมุมไบ ทำให้กราบเรือข้างหนึ่ง
เสียหายเล็กน้อย แต่ก็ใช้เวลาซ่อมถึงหนึ่งเดือน
ในช่วงต้นเดือน ส.ค.2556 ได้เกิดระเบิดขึ้นภายในเรือดำน้ำชั้นสินธุโกศ อีกลำหนึ่ง คือ เรือสินธุรักศักดิ์
(INS Sindhurakshak -S63) ซึ่งเป็นลำที่ 9 ของกองเรือ ขณะจอดลอยลำอยู่ฐานทัพเรือมุมไบแห่งเดียวกันนี้
มีลูกเรือเสียชีวิต 18 คน เรือถูกทำลายเสียย่อยยับทั้งลำ
การสอบสวนหาสาเหตุได้พบว่า เป็นความผิดพลาดของลูกเรือที่ไม่ได้ปลดชนวนจรวดนำวิถีขณะขนย้าย
ภายในเรือ การระเบิดของจรวดทำให้เกิดไฟไหม้ลามเข้าสู่ห้องเก็บตอร์ปิโด เกิดการระเบิดสนั่นหวั่นไหว
ติดต่อกันอีกหลายระลอก เปลวไฟกับควันดำจากบริเวณอ่าวมุมไบสามารถมองเห็นได้ จากจุดที่อยู่ไกล
ออกไปกว่า 10 กิโลเมตร
เหตุระเบิดบนเรือสินธุรักศักดิ์ ยังทำให้ตอร์ปิโดของเรือในกองเดียวกันอีกลำหนึ่งที่จอดอยู่ใกล้เคียง
เกิดระเบิดตามกันอีก 1 ลูก คือ เรือสินธุรัตน์ (INS Sindhuratna -S59) เรือได้รับความเสียหายหนัก
ถึงแม้ว่าเรือดำน้ำจะมีพิษสงร้ายกาจแค่ไหนก็ตาม แต่หลายทศวรรษมานี้เรือประมงก็ยังคงเป็น ภัยคุกคาม
ที่น่ากลัว เป็นคู่กรณีของเรือดำน้ำบ่อยครั้งในขอบเขตทั่วโลก ไม่แพ้เรือขนาดใหญ่ ซึ่งรวมทั้งเรือสินค้า กับเรือ
บรรทุกน้ำมันด้วย นอกจากชนแล้ว ก็ยังเคยเกิดเหตุการณ์ที่เรือดำน้ำติดอวนลากของชาวประมง สร้างความเสียหาย
แก่ทั้ง 2 ฝ่าย และถ้าหากเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กก็มักจะดิ้นไม่หลุด เนื่องจากแบตเตอรี่แรงไม่พอที่จะดิ้นหนี
ยังมีเหตุการณ์ร้ายแรงอื่นๆ เกิดขึ้นกับเรือดำน้ำขนาดใหญ่อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เหตุไฟไหม้
ซึ่งแม้แต่เรือชั้นลอสแองเจลิส (Los Angeles-Class) เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่น่าเกรงขามที่สุดอีกชั้นหนึ่ง
ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็ประสบเหตุเพลิงไหม้มาหลายลำ
นอกจากนั้น ก็ยังมีอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับกับ การขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งระบบของเรือล้มเหลวอีกหลายครั้ง
รวมทั้งโศกนาฏกรรมใหญ่ครั้งหนึ่ง ที่เรือดำน้ำชั้นหมิง (Ming-Class) ลำหนึ่งของกองทัพเรือจีน จมลงนอกชายฝั่ง
จ.เหลียวหนิง เมื่อปี 2546 ลูกเรือ 70 คน เสียชีวิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เรือสินธุโกศ ดูจะเป็นครั้งแรกที่เรือชั้นคิโลชนกับเรือประมงจนใช้การไม่ได้
นอกจากเหตุการณ์ เกยตื้น ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ประเภทหลังนี้จะเคยเกิดขึ้นกับเรือดำน้ำ
ชั้นอื่นๆ ของหลายประเทศมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเรือชั้นลอสแองเจลิส ของสหรัฐฯ ด้วย
ในยุคสงครามเย็นได้เกิดเรือดำน้ำชั้นวิสกี้ (Whiskey-Class) ของอดีตสหภาพโซเวียตลำหนึ่ง ไปเกยตื้น
อย่างเป็นปริศนาในน่านน้ำทะเลบัลติกของของสวีเดน ซึ่งเกือบจะนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน เมื่อสวีเดนระดม
ทั้งเรือพิฆาต เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำพร้อมสั่งยิง .. ฝ่ายโซเวียตได้พยายามอธิบายใน
ภายหลังว่า เรือเกิดขัดข้องเกี่ยวกับระบบนำร่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหลงทาง มิได้มีความตั้งใจจะไปละเมิดน่านน้ำ
ของเพื่อนบ้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อกัน แต่ฝ่ายสวีเดนได้แอบตรวจพบสารกัมมันตรังสีบนเรือที่เกยตื้น
และโซเวียตได้ออกยอมรับในช่วงปีต่อไปมาว่า ในยุคโน้นเคยมีการติดหัวรบนิวเคลียร์เข้ากับตอร์์ปิโด
และใช้ในเรือดำน้ำหลายลำในกองเรือทะเลบัลติก สวีเดนได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้น ณ จุดเกิดเหตุเพื่อรำลึก
ถึงเหตุการณ์ที่เรียกกันเป็นภาษาของนักดื่มว่า .. Whiskey in the Rock.
เมื่อปี 2524 ในยุคสงครามเย็น ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเมื่อเรือดำน้ำ S-363 (หรือ เรือ U-137
ตามรหัสของกลุ่มนาโต้) ซึ่งเป็นเรือวิสกี้ (Whiskey-class) ลำหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ไปติดเกยตื้น
ในบริเวณโขดหินแห่งหนึ่งในน่านน้ำของสวีเดน ห่างจากฐานทัพเรือเพียง 17 กม.
เหตุการณ์ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า วิสกี้ ออน เดอะ ร็อก (Whiskey on the Rock) นั้น หวุดหวิด
จะทำให้วิกฤติการณ์ขึ้นมา เมื่อโซเวียตส่งกองเรือพิฆาตตามไปช่วยกู้ภัย และสวีเดนตอบโต้อย่างทันควัน
สวีเดน ส่งทั้งเรือพิฆาต เรือดำน้ำ และเครื่องบิน-เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือ ไปยังจุดเกิดเหตุเผชิญหน้ากับ
กองเรือรบโซเวียต เพื่อพิทักษ์น่านน้ำของตน จรวดกับขีปนาวุธนานาชนิดที่เรียงรายบนชายฝั่งได้รับคำสั่งให้
ล็อกเป้า เรือโซเวียตทุกลำ แต่ในที่สุดฝ่ายโซเวียตก็ได้ตัดสินใจ ถอนกองเรือออกไปยังเขตน่านน้ำสากล
ในทะเลบัลติก
หลังเกตุการณ์ผ่านไป 10 วัน หน่วยกู้ภัยของสวีเดนได้เข้าช่วยเหลือกัปตัน กับลูกเรือของเรือ S-363
หลังการสอบสวนแล้วเสร็จ ก็ได้ส่งคืนทั้งคน และเรือให้ฝ่ายโซเวียต และแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะมีความตึงเครียด
สูงทางการทหาร ส่วนทางการทูตสวีเดนทำแค่ทำบันทึกประท้วงเท่านั้น
ณ จุดที่เกิดเหตุยังคงมีอนุสรณ์สถานปรากฏอยู่ต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน.
http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9580000023214