แง้ม'สมุดปกเขียว'แจงทุกปม'เรือดำน้ำจีน'
แง้ม'สมุดปกเขียว'กองทัพเรือแจงทุกปม'เรือดำน้ำจีน' : ทีมข่าวความมั่นคง
โครงการจัดหา "เรือดำน้ำ" ของกองทัพเรือ ที่ลงมติคัดเลือกแบบเรือดำน้ำชั้น Yuan Class S26T จำนวน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท จากจีน มีอันต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะรัฐบาลต้องชะลอโครงการออกไปก่อน เพื่อลดกระแสต่อต้านการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในช่วงที่ประชาชนกำลังประสบภัยแล้งขั้นรุนแรง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงสั่งการให้ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ไปจัดทำเอกสารเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้สาธารณชนได้รับทราบถึงเหตุผลความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ รวมทั้งประเด็นความคุ้มค่า และความปลอดภัยของเรือดำน้ำจากจีน
จากนั้น ผบ.ทร.ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไปจัดทำเอกสารชี้แจงต่อสาธารณชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะการดูแลผลประโยชน์ทางทะเลที่มีมูลค่ามากกว่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี
หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเอกสารชี้แจง หรือ "สมุดปกเขียว" ของกองทัพเรือว่า กองทัพเรือกำลังจัดทำเอกสารอยู่ โดยจะชี้แจงถึงหลักการ ความจำเป็น และเหตุผลที่กองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำในการดูแลผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่นับวันจะทวีมูลค่ามากขึ้นทุกขณะ
"การปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลคือ การเสริมสร้างกำลังทางเรือให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการรักษาดุลคือจะต้องมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกัน หรือเหนือกว่าก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เอาแค่ใกล้เคียงกัน กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อเรือดำน้ำมาสร้างสมดุล"
ผช.ผบ.ทร. ชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคนี้ได้สร้างเสริมกำลังรบโดยวางแผนล่วงหน้ามาเป็น 10 ปีแล้ว จนสามารถจัดซื้อเรือดำน้ำเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บกันหมดแล้ว ถ้าประเทศไทยยังรอต่อไป และยังไม่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้กำลังรบไม่ได้สมดุลกัน
"บางคนมองว่า เรามีเรือฟริเกตอยู่แล้ว แต่ที่จริงแล้วยังไม่เพียงพอ เพราะกำลังทางเรือต้องประกอบด้วยเรือผิวน้ำ ใต้น้ำ และกำลังทางอากาศ เพื่อให้มีความสมดุลทั้ง 3 มิติ ขณะนี้ถือว่าเรากำลังเสียดุล และตามหลังเขาเป็น 10 ปี"
ทั้งนี้่ เนื่องจากการซื้อเรือดำน้ำต้องรอไปถึง 5-6 ปี รวมทั้งขั้นตอนการฝึกเพื่อให้เกิดความชำนาญ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 ปี รวมแล้วก็ราวๆ 8 ปี ถึงจะทำให้มีขีดความสามารถในการรบ ซึ่งขณะที่ไทยยังไม่มีเรือดำน้ำ แต่เพื่อนบ้านกำลังจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาเพิ่มเติม เช่น สิงคโปร์ได้สั่งต่อเรือเพิ่มจากเยอรมันอีก 2 ลำ ทั้งที่ปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว 6 ลำ
ส่วนประเด็นโจมตีที่ว่า ระดับน้ำอ่าวไทยตื้นไม่สามารถเดินเรือดำน้ำได้นั้น ยืนยันว่า เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำสหรัฐอเมริกาเคยเข้ามาจมเรือรบไทยมาแล้ว
"ทุกวันนี้ก็มีเรือดำน้ำของสหรัฐที่มีระวางขับน้ำถึง 5,000-6,000 ตัน ซึ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดใหญ่เข้ามาฝึกซ้อมในอ่าวไทย ขณะที่เรือดำน้ำที่ไทยจะซื้อจากจีนมีระวางขับน้ำเพียง 2,600 ตัน จะเห็นได้ว่าสามารถปฏิบัติการได้สบาย อีกทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ทำให้เรือสามารถดำในเขตตื้นได้ดี เพราะสามารถรักษาระดับน้ำได้อย่างเที่ยงตรง"
เรือดำน้ำสมัยใหม่สามารถเดินเรือเหนือพื้นท้องทะเล 5 เมตร ได้สบายๆ และสามารถวางกับ "พื้นทะเล" ได้เลย ซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธีของเรือดำน้ำ เพราะเรือดำน้ำไม่จำเป็นต้องปฏิบัติการที่น้ำลึกอย่างเดียว แต่น้ำตื้นก็ต้องปฏิบัติการได้
"การปฏิบัติการในน้ำตื้นก็เป็นปฏิบัติการที่จำเป็นของเรือดำน้ำ เช่น การส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือ หรือมนุษย์กบออกไปปฏิบัติการ หรือการไปวางทุ่นระเบิดทางลึกในแดนข้าศึก ซึ่งหากดำลงไปที่ระดับความลึกแค่ 20 เมตร ก็จะมองไม่เห็นแล้ว เพราะแสงสว่างลงไปไม่ถึง เราเคยฝึกซ้อมกับเรือดำน้ำของสหรัฐยังมองไม่เห็นเลย"
ส่วนกระแสโจมตีว่า เรือดำน้ำจีน "คุณภาพต่ำ" เมื่อเทียบกับของยุโรป หรือกระทั่งรัสเซียนั้น ยืนยันว่า เรือดำน้ำจีนไม่ได้มีคุณภาพต่ำอย่างที่พูดกัน เพราะจีนผลิตเรือดำน้ำใช้เองมานาน และสร้างมาแล้วมากกว่า 70 ลำ โดยพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนข้อห่วงใยเรื่อง "ความปลอดภัย" นั้น คณะกรรมการจัดซื้อเรือดำน้ำยืนยันว่า เรือดำน้ำจีนมีความปลอดภัยทั้งเรื่องการออกแบบเรือ และโครงสร้างเรือเทียบเท่ากับของยุโรป
"จีนเองก็มีความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของกำลังพลของเขาเช่นกัน ดังนั้นคงไม่ออกแบบและสร้างในสิ่งที่จะทำให้กำลังพลของเขาเสี่ยงต่อชีวิต ขณะที่อุปกรณ์ช่วยชีวิตในเรือก็ทัดเทียมกับของยุโรป แต่ที่ผ่านมามีการโจมตีกันจนเกินจริง ผมขอรับประกันในเรื่องความปลอดภัยของกำลังพล"
พล.ร.อ.ณรงค์พล กล่าวถึงกระแสโจมตีเรื่องยุทโธปกรณ์จากจีนที่เคยนำมาใช้บนเรือรบของไทยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีของจีนพัฒนาไปไกลมาก เพราะสร้างมาหมดแล้วทั้งรถไฟความเร็วสูง อากาศยาน ดาวเทียม หรือแม้แต่ "ยานอวกาศ" ซึ่งจีนผลิตสินค้าทุกประเภทตั้งแต่คุณภาพต่ำสุดจนถึงสูงสุด แล้วแต่เราที่จะเลือกซื้อมาใช้
สำหรับคุณสมบัติเด่นของเรือดำน้ำชั้น Yuan Class S26T เมื่อเทียบกับอีก 5 ประเทศที่เหลือ คือ การให้ระบบ Air-Independent Propulsion system (AIP) หรือระบบเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งอากาศจากผิวน้ำเพื่อยืดเวลาการอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะทำให้เรือดำน้ำอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 20-21 วัน โดยที่ไม่ต้องโผล่ขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรือดำน้ำยุคใหม่
เรือดำน้ำรุ่นนี้มีระวางขับน้ำ 2,600 ตัน ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่กองทัพเรือจีนใช้ เมื่อเป็นรุ่นเดียวกันก็จะทำให้ง่ายต่อการถ่ายทอดในการฝึก การส่งกำลังบำรุงจะง่าย อะไหล่ก็มีผลิตอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนจะต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย หากเราซื้อเรือดำน้ำรุ่น u-209 จากเยอรมัน จะลำบากในการฝึก และอัพเกรดเทคโนโลยี เพราะเยอรมันไม่ได้ใช้รุ่นนี้แล้ว
นอกจากนี้ จีนยังพ่วง "แพ็กเกจ" ที่มากับเรือดำน้ำด้วย ทั้งตอร์ปิโด จรวด ทุ่นระเบิด รวมถึงการฝึกอบรม และการสนับสนุนอะไหล่อีก 8 ปี แต่ถ้าไทยเอาเรือของยุโรปจะไม่ได้แพ็กเกจที่ครบขนาดนี้ เพราะต้องหาซื้อมาเพิ่มทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ซึ่งเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ 3.6 หมื่นล้านบาท และในราคานี้ก็จะได้มาเพียง 2 ลำเท่านั้น
ในส่วน "งบประมาณ" ที่จะนำมาจัดซื้อจะใช้งบประมาณของ "กองทัพเรือ" ถ้าผ่อน 10 ปี จะตกปีละ 3,600 ล้านบาท ขณะที่กองทัพเรือได้งบปีละ 3 หมื่นกว่าล้านบาท
"งบประมาณในส่วนนี้ถ้ากองทัพเรือไม่ซื้อเรือดำน้ำคงต้องนำไปซื้อเรือฟริเกต หรืออากาศยาน เพื่อเสริมสร้างกำลังรบอยู่แล้ว ซึ่งงบส่วนนี้เป็นงบของกองทัพเรือและเป็นคนละส่วนกับงบประมาณที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ยืนยันว่า การจัดซื้อมีความคุ้มค่า และไม่ได้ถูกล็อบบี้จากฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด"
คณะกรรมการจัดซื้อเรือดำน้ำตั้งความหวังว่า เมื่อได้ชี้แจงครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ทั้งฝ่ายการเมือง และประชาชน จะมีความเข้าใจตรงกันว่า กองทัพเรือมีความตั้งใจจริงในการดูแลผลประโยชน์ทางทะเล เพราะหากมีกำลังรบที่ทัดเทียมกัน การเจรจาจะทำได้ง่ายกว่า พร้อมยืนยันว่า โครงการยังไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่รัฐบาลต้องการให้กองทัพเรือชี้แจงให้ชัดเจนครบถ้วนเท่านั้น
http://www.komchadluek.net/detail/20150722/210220.html