ประวัติศาสตร์กีฬากอล์ฟในประเทศไทย
ที่มา
http://www.krirk22.com/index.php?topic=3.0พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พร้อมทีมนักกอล์ฟในพระราชวงศ์ ณ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน
ความแพร่หลายเรื่องกีฬากอล์ฟในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อใดไม่หลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่ได้กลายเป็นกีฬาในพระราชูปถัมภ์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแม้จะไม่ทรงโปรดกีฬากอล์ฟนัก แต่ก็ได้ทรงมีพระบรมราชโองการเพื่อสนองตอบความปรารถนาอันแรงกล้าของบรรดาผู้นิยมกีฬากอล์ฟ โดยโปรดให้มีการสร้างสนามแข่งกอล์ฟขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และยังได้ทรงโปรดให้นับรวมเอาสนามกอล์ฟขนาด 9 หลุมนี้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การตากอากาศอันหรูหราตระการตาในสมัยนั้น อันได้แก่ โรงแรมรถไฟแห่งใหม่ซึ่งจะได้สร้างขึ้น ณ ริมชายหาดหัวหินด้วย ซึ่งกลุ่มผู้นิยมกีฬากอล์ฟประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และชาวต่างประเทศทั้งที่เป็นพ่อค้า ทูตานุฑูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทย
แรกเริ่มเดิมที เคยมีดำริเกี่ยวกับโครงการสร้างสนามกอล์ฟร่วมกับโครงการโรงแรมรถไฟหัวหิน โดยผู้เสนอโครงการ คือ สมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟหลวง ดังนั้น สนามกอล์ฟแห่งนี้จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 26 ตุลาคม 2465 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่อความสวยงาม และประโยชน์ที่ใช้สอยในมาตรฐานระดับมืออาชีพ และใน วันที่ 28 มกราคม 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงเปิดสนามกอล์ฟจากที่จุดแรก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงการกอล์ฟในประเทศไทย เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกอล์ฟในประทศไทย
หนึ่งปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต หลังจากรัชสมัยของพระองค์แล้ว วงการกอล์ฟไทยก็ได้เฟื่องฟูขึ้นเป็นอย่างมากด้วยการสนับสนุนของพระอนุชาของพระองค์ คือ เจ้าฟ้าประชาธิปก ผู้ซึ่งภายหลังได้เสด็จขึ้นครองราชน์ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับสนามที่ใช้เพื่อการเล่นกอล์ฟที่มีชื่อเสียงว่าเป็นสนามที่งดงามขึ้นชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด และมีชื่อสียงของกรุงเทพมหานครอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ สนามของราชกรีฑาสโมสร และ สนามของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมมีจุดประสงค์เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้นิยมกีฬาม้าแข่งในเมืองหลวง อย่างไรก็ดี ทั้งสองแห่งนี้ก็เคยดำริจะสร้างสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุมขึ้น และความคิดอันแรงกล้านี้ก็มีส่วนทำให้เกิดมีการสร้างสนามกอล์ฟที่ดึงดูดใจ นักกอล์ฟอย่างมากขึ้นหลายต่อหลายแห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีบางแห่งที่มีหลุมแข่งเลียบไปกับลำคลอง ทำให้มีเกร็ดขำๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุแปลกๆ ที่เกิดขึ้น ในสนามมาเล่าสู่กันฟังอย่างมากมายไม่รู้จบ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิด สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2467 และทรงกอล์ฟ ณ ที-ออฟหลุมที่ 1 ในวันนั้น
ราชกรีฑาสโมสร เป็นสถานที่แรกสำหรับการเล่นกอล์ฟในเมืองไทย ปี พ.ศ. 2445 เป็นปีที่มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการของสโมสรแห่งนี้ และอีก 5 ปีต่อมา ใน ปี 2449 สมุดบัญชีรายรับของสโมสรแจ้งยอดจำนวนค่าธรรมเนียมเข้าสนามเรียกเก็บได้ตลอดกันยายนปีนั้นว่า มีจำนวนถึง 74.14 บาท ในขณะนั้นตัวเลขนี้ยังนับว่าไม่ถึงขั้นน่าพอใจ แต่ก็ยังเป็นจุดเริ่มแรกที่แสดงให้เห็นถึงการต้อนรับอย่างงดงามเป็นของมวลชน อันเป็นการปูแนวทางให้แก่นักกอล์ฟรุ่นหลังของชาติได้เป็นอย่างดี
จนกระทั่ง เมื่อมีการเปิด สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ขึ้นใน ปี พ.ศ. 2465 กอล์ฟในช่วงนั้นถือเป็นงานอดิเรกของวงสังคมมากกว่าจะเป็นการเล่นกีฬาจริงๆ จังๆ แต่กระนั้น กอล์ฟก็ยังได้รับความนิยมมากพอที่จะอำนวยให้มีการสร้างสนามกอล์ฟหลวงจิตรลดาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ณ สนามนี้ รวมทั้งที่สนามราชกรีฑาสโมสร และราชตฤณมัยสมาคม กอล์ฟได้กลายเป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งในการพบปะสังสรรค์ของสุภาพบุรุษซึ่งมักจะมีการดื่มเหล้าบางๆ คลอเคล้าไปด้วย แต่นี่ ย่อมมิใช่ลักษณะการเล่นกอล์ฟอย่างแท้จริงดังปรากฏในระยะหลังที่หัวหิน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นอิทธิพลจากข้าราชบริพารของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งมีความสนพระทัยในกีฬากอล์ฟเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สนามกอล์ฟที่มีชื่อเสียงของสก๊อตแลนด์ และความเอาพระทัยใส่อย่างจริงจังของพระองค์ได้สร้างเป็นแนวทางให้แก่นักนิยมกอล์ฟที่หัวหินนี้
ระบบที่รู้กันดีอยู่ของสนามกอล์ฟที่หัวหินระยะแรกดูเหมือนจะเป็นเช่นนี้ คือ ที่นี่คือสนามแข่งกอล์ฟ เพราะฉะนั้น เราควรมาฝึกทักษะเพื่อแข่งขัน ชิงรางวัลชนะเลิศให้ได้ บรรดาข้าราชบริพารในราชสำนักขณะนั้นต่างพากันยึดถือคตินี้ ทั้งยังทุ่มเทเวลาว่างทั้งหมดในการสนทนาในเรื่องของกีฬายอดนิยมประเภทนี้กันอย่างกว้างขวางจริงจัง ทั้งยังยึดถือเป็นหัวข้ออภิปรายที่สำคัญในงานสันนิบาติชาติ และระบาดไปถึงในการพบปะทั่วๆ ไปอีกด้วย กระทั่งเป็นที่รำคาญใจแก่บรรดาข้าราชบริพารผู้ที่ไม่นิยมกอล์ฟ และอาคันตุกะ ทั้งหลายของเขาซึ่งต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกเบื่อหน่ายเต็มประดาแล้วกับเรื่องของกีฬาพระราชนิยมนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกอล์ฟ ณ สนามกอล์ฟหลวงหัวหินพร้อม
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
อย่างไรก็ตาม ความนิยมในกีฬากอล์ฟในขณะนั้น ได้แพร่หลายอย่างมากมายจนกระทั่งแม้แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างที่สุดก็จำต้องละความคิดต่อต้านเสีย และเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จไปทรงกอล์ฟร่วมกับพระราชสวามี ก็ทำให้เกิดเป็นแนวปฏิบัติแก่เหล่าสตรีที่รักจะเป็นผู้อยู่ในสมัยนิยมในการที่จะหันมาเล่นกอล์ฟเลียนแบบพระองค์ เกิดเป็นยุคแห่งนักกอล์ฟหญิงขึ้นในเมืองไทย
ในระยะหลัง กษัตริย์ผู้ทรงให้กำเนิดกีฬาพระราชนิยมนี้ขึ้นก็เริ่มจะทรงไม่แน่พระทัยว่า นี่เป็นการแนะนำคุณ หรือโทษแก่ประชาชนกันแน่ แต่เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักกอล์ฟที่เอาจริงเอาจัง และยังทรงเป็นนักแก้ปัญหาผู้สามารถ เมื่อข่าวมโนสาเร่ (เรื่องเบ็ดเตล็ด) อย่างกอล์ฟกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับราชสำนักพระองค์จึงทรงยุติโดยโปรดให้มีการจัดตั้งกำปั่นเก็บเงินค่าปรับจากผู้ที่ชอบซุบซิบเกี่ยวกับเรื่องกอล์ฟ กำปั่นนี้วางอยู่บนโต๊ะที่ประทับ นับว่าเป็นกำปั่นที่น่าพรั่นพรึงแก่บรรดาผู้ที่ชอบซุบซิบเรื่องกอล์ฟเป็นอย่างมาก
จากการเก็บเงินค่าปรับนี้ ต่อมาได้เกิดเป็นระบบการหารายได้ขึ้นมา ด้วยการตั้งอัตราค่าปรับไหมใหม่ที่หนักกว่าเก่าขึ้นเพื่อใช้ลงโทษผู้ที่บังอาจแสดงท่าทางล้อเลียนในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินีเสด็จมาทรงกอล์ฟ แต่ถึงแม้จะมีการปรับไหมแล้วก็ตาม พระเจ้าอยู่หัวพระองค์เองก็ยังไม่เคยคลายความสนพระทัยจากการกีฬาที่ทรงโปรดนี้เลย ทั้งยังไม่ทรงดำรงพระองค์เป็นเพียงนักกีฬาสมัครเล่นเท่านั้น เช่นเดียวกับหนุ่มนักเรียนเก่าอังกฤษทั่วไป พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการเล่นสควอช เทนนิส และทรงม้าด้วย และโดยฐานะกษัตริย์ พระองค์ทรงมีพระอุตสาหะในการเฟ้นหา และส่งเสริมชายหนุ่มผู้มีความสามารถเป็นเลิศในเชิงกีฬา และเป็นผู้อุทิศชีวิตจิตใจให้การกีฬาอย่างจริงจัง
จากพระอุตสาหะนี้ พระองค์ได้ทรงค้นพบ นักกอล์ฟผู้ปรีชาสามารถคนแรกของเมืองไทย เป็นแคดดี้หนุ่มคนหนึ่งของสนามกอล์ฟหัวหินนั่นเอง ครั้งหนึ่ง ระหว่างการทรงกอล์ฟในวันหยุดพระองค์รู้สึกว่า เกมการเล่นในครั้งนั้นดำเนินไปอย่างเฉื่อยชาน่าเบื่อ จึงทรงเรียกแคดดี้ผู้หนึ่งซึ่งได้เข้ามาเฝ้าด้วยท่าทีหวั่นเกรงพระราชอาญาเข้ามาเพื่อทรงแนะนำ แต่แล้วพระองค์เองกลับต้องการทรงเป็นฝ่ายแปลกพระทัยเมื่อแคดดี้หนุ่มผู้นั้น ได้ถวายคำแนะนำมากมายที่บ่งบอกถึงภูมิรู้อันแท้จริง และความชำนาญในเกมของเขา ทั้งยังเป็นคำแนะนำที่ถูกจุดเสียด้วย
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเปิด "ศาลาประชาธิปก" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2512
แคดดี้หนุ่มผู้นั้น คือ "ทิม ก้านไร่" หรือที่รู้จักกันดีภายหลังในนามของ "ทิม ทัพพวิบูลย์" ผู้ซึ่งได้เป็นบุคคลสำคัญของวงการกอล์ฟไทย นับแต่หลังจากการได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่หัวหินครั้งนั้น หลังจากที่สามารถกวาดรางวัลต่างๆ ในการแข่งขันกอล์ฟภายในประเทศทั้งในกรุง และส่วนภูมิภาคจนหมดสิ้นแล้ว ใน ปี พ.ศ. 2473 ทิมถูกส่งตัวไปเข้าร่วมแข่งขันที่ประเทศฟิลิปปินส์ และกลับมาพร้อมด้วยชัยชนะ เขายังพิชิตรางวัลอย่างเดียวกันนี้ ในการแข่งกอล์ฟที่ประเทศพม่าใน ปี พ.ศ. 2474 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการจัดการแข่งขันกอล์ฟ "ไทยแลนด์ โอเพ่น" ขึ้นที่หัวหิน ทิมก็ได้พิสูจน์ความสามารถของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการทำสถิติของสนามนั้น อันเป็นสถานที่ที่เขาได้เข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกนั่นเอง ทิมได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศจากพระเจ้าอยู่หัวสืบมา นับเป็นจำนวนครั้งได้ถึง 10 ครั้ง
ต่อมา ความสามารถอันเลิศของทิมก็ได้ถูกทาบรัศมี โดยนักกอล์ฟอีกผู้หนึ่ง คือ "เฉลา จุลลกะ" ผู้ซึ่งกวาดรางวัลการแข่งขันทั้งประเภทสมัครเล่น และบุคคลทีมชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 รางวัล ในช่วงระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
หากวงการกอล์ฟไทยจะเคยมีอุปสรรคให้ถูกจำกัดขัดขวางการเจริญเติบโตมานานัปการ แชมป์ทั้งสองนี้ก็นับว่าเป็นผู้ที่สามารถทำลายอุปสรรคกู้เอกราชให้แก่วงการกอล์ฟได้โดยแท้ ปัจจุบันนี้ ในจำนวนนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีของเมืองไทยก็มีเหล่าทายาทของทิมยืนหยัดอยู่เป็นสุดยอดฝีมือรวมอยู่ด้วย สำหรับเฉลานั้น เขาได้มีบทบาทสำคัญในการแนะแนว และให้กำลังใจแก่นักกอล์ฟรุ่นน้องหลายต่อหลายท่าน หนึ่งในจำนวนนั้น ได้แก่ สุกรี อ่อนฉ่ำ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น "แชมป์ของแชมป์" คือ เป็นสุดยอดฝีมือในเชิงกอล์ฟของเมืองไทย อีกผู้หนึ่งที่มีกิตติศัพท์ เลื่องลือไม่แพ้กัน ก็คือ ตจิณ โสภณ ผู้ซึ่งได้จารึกนามประเทศไทยให้เกรียงไกรในประวัติศาสตร์ในการแข่งขัน "เวิร์ลคัพ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ" ที่สิงคโปร์ใน ปี พ.ศ. 2512
เมื่อมีการเอ่ยถึงเรื่องการแข่งขันกอล์ฟระดับโลกซึ่งไทยต้องแข่งกับนักกอล์ฟทั่วโลก มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับการแข่งขันอันเป็นที่เล่าต่อกันมา เรื่องหนึ่ง คือ ในการแข่งขันกอล์ฟที่ชมรมกรีฑากรุงเทพ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลนลูกกอล์ฟ แคดดี้หนุ่มสมองใสคนหนึ่งมองเห็นช่องทางที่จะหากำไรจากการนี้ เขาจึงนำเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นลูกกอล์ฟใช้นำมาแทนลูกจริง และเมื่อเขาดำเนินตามอุบายแยบยลที่คิดขึ้นได้นี้ ก็ให้บังเอิญมีเจ้านกหน้าโง่ฝูงหนึ่งบินมาโดยเอาลูกกอล์ฟข้าวเหนียวนี้กลับไปไว้รังของมัน ร้อนถึงบรรดาแคดดี้ต้องช่วยกันไปเก็บคืนมาก่อนที่จะขายลูกกอล์ฟนั้นไปโดยได้กำไรอย่างงามทีเดียว
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีระหว่างเสด็จพระราชดำเนินทรงกอล์ฟที่สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน เป็นการส่วนพระองค์
ในที่สุด การก่อกวนของนกได้สร้างความรำคาญอย่างมากจนอนุกรรมการของราชกรีฑาสโมสรตกลงใจที่จะทำอะไรสักอย่าง โดยมีปรากฏในบันทึกของสมาคมเป็นข้อความที่มีเลศนัยอย่างไรชอบกล แต่บันทึกไว้เพียงธรรมดาๆ ว่า "Mr. S.G. Boyd" เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ลงมือจัดการเรื่องนั้น" ซึ่ง Mr. Boyd ก็ประสบความสำเร็จด้วยดีในภารกิจ ดังกล่าว แต่นอกจากนั้นแล้วก็ไม่ได้มีบันทึกไว้ในทำเนียบประวัติสมาคมว่า ฝูงนกกายังมีบทบาทอะไรต่อไปอีกหรือไม่
ด้านบทบาทของสมาคมกอล์ฟ แม้จะจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2473 พร้อมกับการเริ่มแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่น แชมเปี้ยนชิพ ครั้งแรกแต่ก็ไม่มีกิจกรรมที่ได้รับการบันทึกในเรื่องการดำเนินงานมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2507 อันเป็นปีที่ไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟเซอร์กิตแห่งภาคตะวันออกไกล หรือ "ฟาร์อีสต์ กอล์ฟ เซอร์กิต" ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เอเชีย กอล์ฟ เซอร์กิต โดยมีประเทศสมาชิก คือ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย
สำหรับการแข่งขัน ไทยแลนด์โอเพ่น แชมเปี้ยนชิพ ที่จัดครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2473 ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งใน ปี 2508 ที่สนามกองทัพอากาศดอนเมือง โดยสมาคมกอล์ฟได้รับความช่วยเหลือจากแพต โอคอนเนล แห่งเบนไลน์ และเทดดี้ เดอลาไฟรเอ็ท แห่งเชลล์ ได้จัดการแข่งขันไทยแลนด์โอเพ่นขึ้นในเดือนมีนาคม 1965 โดยมีเงินรางวัล 2 แสนบาท ไทยเป็นสาขาที่ 5 ของการแข่งขันเซอร์กิตครั้งนั้น
นับแต่นั้นมา การแข่งกอล์ฟ "ไทยแลนด์ โอเพ่น กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ" ก็เพิ่มความมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จวบจนในปีที่มีพิธีฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การแข่งขันกอล์ฟ "ไทยแลนด์ ไบเซนเทนเนียล โอเพ่น กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ" นี้ มีความภูมิใจที่จะได้เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับนักกอล์ฟผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของโลก ผู้ซึ่งได้เดินทางมาร่วมฉลองในนัดพิเศษนี้ด้วย นั่นคือ ทอม ซีคแมนน์ จากสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเคยชนะเลิศ "ไทยแลนด์ กอล์ฟ โอเพ่น" ใน ปี 2524 มาแล้ว ณ สนามกอล์ฟขนาดพื้นที่ 7,023 หลา พาร์ 72 ของสนามกอล์ฟกองทัพไทย บางเขน และจากจำนวนผู้แข่งขันทั้งหมดถึง 150 คน นับว่าเป็นความแตกต่างอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่ยังมีผู้เล่นกอล์ฟฝีมือดีอยู่เพียงไม่กี่คน ณ สนามกอล์ฟหลวงหัวหินในครั้งกระโน้น แต่ถึงแม้จะมีความแตกต่างจากครั้งเก่า สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิม คือกติกาในการเล่น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักกอล์ฟ ในการที่ทรงนำเข้ามาเผยแพร่ และวางมาตรฐานให้แก่วงการกอล์ฟไทย
จากสนามกอล์ฟหลวงแห่งแรกขนาด 9 หลุม ได้มีการพัฒนามาจนกระทั่งเรามีสนามกอล์ฟขนาด 72 หลุม เป็นอย่างต่ำแล้ว ขณะนี้ กติกาการเล่นยังคงเป็นไปตามแบบแผนมาตรฐานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาจากกติกาของ "รอแยล แอนด์ แอนเชียนท์ กอล์ฟ คลับ" แห่งรัฐ เซนต์ แอนดรูว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ ประกอบกับกติกาซึ่งกำหนดโดยสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และกฎเฉพาะที่คณะกรรมการจัดการของสนามกอล์ฟกองทัพไทยกำหนดขึ้น
ผู้อุปถัมภ์การแข่งขัน ไม่อาศัยเพียงแต่พระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางเดียวอีกแล้ว การแข่งขันกอล์ฟนัดฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีนี้ สายการบินไทย จำกัด ได้ร่วมกับสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยในการออกค่าใช้จ่ายในการแข่งขันนี้ นอกจากนี้ยังได้รับความอุปถัมภ์จากบริษัทห้างร้านพาณิชย์อีกหลายแห่ง เช่น บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัทน้ำมันเชลล์, บริษัทคอลเกตปาล์มโอลีฟ, บริษัทเสริมสุข จำกัด, บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ห้างร้านขายเครื่องกีฬาต่างๆ และธนาคารไทยพาณิชย์
ทุกวันนี้ ทั่วราชอาณาจักรมีสนามกอล์ฟอยู่มากมาย ซึ่งล้วนแต่พรั่งพร้อมในเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอันที่จะให้ความเพลิดเพลินแก่นักกอล์ฟได้กว่า 30,000 คน และมีสนามกอล์ฟที่อยู่ในระยะก่อสร้าง และมีโครงการที่จะสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สนามที่ดำเนินการอยู่ก็มีการดึงดูดใจนักกอล์ฟด้วยการตั้งราคาเข้าสนามสำหรับผู้เล่นขาจรในราคาที่ต่ำ นับว่า ตลอดระยะที่ผ่านมา นับแต่การเปิดสนามกอล์ฟขึ้นเป็นครั้งแรกที่หัวหิน ประเทศไทยได้เขยิบฐานะของกอล์ฟจากการเป็นกีฬาพระราชนิยม มาเป็นงานอดิเรกของมหาชน และเป็นกีฬาจริงจังที่มีผู้เล่นมาจากชนทุกระดับ และยังเปิดกว้างสำหรับนักกอล์ฟจากทุกๆ ประเทศทั่วโลกอีกด้วย
ผู้ชนะเลิศการแข่งขันกอล์ฟ "ไทย รัตนโกสินทร์ ไบเซนเทนเนียล โอเพ่น กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ" จะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลประจำปี 2525 จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งในการทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์นี้ ได้ถือเป็นประเพณีสืบมาแต่ครั้งสมัย รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการที่ได้ทรงยื่นพระหัตน์เข้ามาโอบอุ้มวงการกอล์ฟจนรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบันและได้เป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์นักกอล์ฟฝีมือดีมากมายทั้งในประเภทสมัครเล่น และมืออาชีพ ที่มิอาจละเลยที่จะกล่าวถึงก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ทรงเป็นเพียงผู้ดู แต่หากปราศจากพระองค์แล้ว กีฬากอล์ฟคงจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาเป็นที่รู้จักนิยมเล่นกันอย่างที่เราได้พบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้อย่างแน่นอน
สมเด็จย่าทอดพระเนตรในหลวงทรงกอล์ฟ
ถ่ายมาจากสนามกอล์ฟ Evergreen กาญจนบุรี