DOGVILE
หนังเจ๋งมาก แต่ดูยากนิดนึง ต้องดูแบบคนมีอารมณ์อยากดูฝีมือคนสร้างจริงๆ
Dogville เมืองหมา หรือสุนัขนคร
เขียนโดย ดร . เสรี พงศ์พิศ
Tuesday, 02 August 2005
(วันที่ 3 สิงหาคม ผมไปวิจารณ์หนังเรื่อง Dogville ที่คณะรัฐศาสตร์รามคำแหง เตรียมข้อเขียนนี้ไห้นักศึกษา)
ด็อกวิลล์เป็นเมืองหรือหมู่บ้านเล็กๆ ในแถบเขาร็อกกี้ รัฐโคโลราโด ในช่วงทศวรรษ 1930 ยุคข้าวยากหมากแพง วิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรง เป็นหมู่บ้านที่ดูเรียบง่าย แม้จะลำบากยากแค้นเพียงใจก็ยัง "พึ่งตนเองได้" ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนนอกเข้าไปยุ่งว่นวายกับชีวิตของพวกเขา
แล้ววันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มขึ้นเมื่อมีคนแปลกหน้ามาเยือน เธอชื่อเกรซ (นิโคล คิดแมน)เป็นหญิงสาวสวยลึกลับที่หนีการไล่ล่าของมาเฟีย ทอม เอดิสัน จูเนียร์ (พอล เบตตานี) ชาวบ้านหนุ่มช่วยเหลือเธอให้หลบซ่อนและหาทางให้ชาวบ้านด็อกวิลล์ยอมรับเธอเป็นสมาชิก ให้เวลาเธอ 2 อาทิตย์เพื่อเอาชนะใจชาวบ้าน ซึ่งที่สุดเธอก็ได้อยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้โดยไปช่วยงานทุกบ้าน และดีกับทุกคน และดูเหมือนทุกคนก็ดีกับเธอ เธอบรรยายว่า "ผู้คนที่นี่มีความหวังและมีความฝัน"
วันเวลาผ่านไปไม่นาน ตำรวจก็ตามมาที่หมู่บ้านและติดประกาศหาตัวเธอ คราวนี้กล่าวหาว่าเธอได้ขโมยอาวุธ เมื่อชาวเมืองรู้ว่าเธอหนีอาญาแผ่นดิน พฤติกรรมของพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้เธอต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม ได้รับค่าจ้างน้อยลง จนที่สุดเธอถูกข่มขืนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เธอพยายามหนี แต่ก็หนีไม่พ้น และต้องได้รับการกดขี่ข่มเหงอย่างโหดร้ายทารุณหนักขึ้นไปอีก
ฉากสุดท้ายของ "หนัง-ละคร" เรื่องนี้เป็นความรุนแรงที่อาจจะสะใจใครหลายคนที่ทนไม่ได้กับทารุณกรรมที่ชาวเมืองหมาๆ ทำกับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น และคงเป็นความตั้งใจของ Lars von Trier ผู้กำกับชาวเดน (เดนมาร์ค) ผู้ไม่เคยไปประเทศสหรัฐอเมริกาเลย (เพราะไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน) เขาวิพากษ์สหรัฐอเมริกาอย่างตั้งใจ จากห้วงลึกแห่งความเป็นสังคมนิยม และทนไม่ได้กับอหังการของชาวอเมริกันและความหฤโหดแห่งทุนนิยมและสังคมบริโภคแบบบ้าเลือด
สังคมนี้ดูเรียบง่ายภายนอก แต่นั่นคือเปลือกนอกที่ซ่อนเอาสัญชาติญาณดิบที่ไม่ได้ต่างไปจากสัตว์อย่างสุนัข ที่เปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงออกมาเมื่อมีเงื่อนไขปัจจัยเอื้ออำนวย ช่วยให้ผู้ชายทั้งเมืองพร้อมที่จะกดและขี่ผู้หญิงคนหนึ่งเพียงเพื่อปลดเปลื้องราคะและตัณหาแห่งตน โดยไม่สนใจความถูกผิด คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นคน ถึงได้เรียกว่า เมืองหมา
ลาร์ส ฟอน เตรียร์กล้าหาญอย่างยิ่งที่ทำหนังเรื่องนี้และแบบนี้ เขาไม่ต้องการสร้างหนังที่ให้ความบันเทิง แต่ต้องการให้เป็นงานศิลปะ งานที่ใครเห็นแล้วจะเข้าใจอย่างไร ตีความอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน "แล้วแต่คุณจะมองว่าหนังเรื่องนี้บอกอะไร"
คุณอาจจะมองว่า เขาเปรียบเมืองหมาแห่งนี้กับสหรัฐอเมริกา เมืองที่ปากว่าตาขยิบ มือถือสากปากถือศีล เอาเปรียบคนอื่น ชาติอื่น ประเทศอื่นทั่วโลก และที่สุดก็คงไม่พ้นโศกนาฎกรรมดังกรณี 11 กันยายน 2001 วินาศกรรมทำลายตึกเวิร์ลเทรด สัญลักษณ์ของทุนนิยมและอำนาจของสหรัฐ ประเด็นคงไม่ใช่อเมริกาเลว ผู้ก่อการร้ายดี ประเด็นอยู่ทีว่า ใครเลวกว่าใครเท่านั้น
เกรซ สาวงามเปิดเผยตัวเองในตอนท้ายว่าแท้ที่จริงเธอเป็นใคร ที่สุดแล้วเธอพบว่า แม้มาเฟียที่เธอหนีมาจะโหดเหี้ยมเลวร้ายเพียงใดก็ยังไม่เลวร้ายเท่ากับชาวเมืองหมา เธอหนีเสือมาปะจรเข้ และพร้อมที่จะกลับไปอยู่กับเสือและเป็นเสือเสียยังดีกว่าอยู่กับพวก "จระเงี้ย" ทั้งหลาย
ลาร์ส ฟอน เตรียร์ น่าจะประสบความสำเร็จอย่างสูงที่สามารถก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนังเรื่องนี้และตัวเขาไปทั่วโลกอย่างรุนแรง แท้ที่จริง เขาคงอยากสะท้อนวงจรอุบาทว์ของความรุนแรงเลวร้ายในโลกปัจจุบัน อันก่อเกิดจากนรกที่เขายกให้สหรัฐอเมริกาเป็นขุมกำเนิดสำคัญ แล้วกรรมใดใครก่อ กรรมนั้นก็มาถึงตัว และน่าจะจบแบบเดียวกับหนังเรื่องด็อกวิลล์
ใครที่อยากดูหนังสนุกต้องไม่ดูหนังเรื่องนี้ ใครที่ใจกว้างและอยากเรียนรู้ อดทนดูไปเรื่อยๆ จะได้อะไรดีๆ และมีคุณค่าสำหรับการคิดคำนึง การเข้าถึงประเด็นสำคัญทางการเมืองในโลกปัจจุบัน ที่ผู้กำกับหนังพยายามจะบอกแบบเปิดกว้างให้คิด ให้ตีความ
บางคนดูหนังเรื่องนี้แล้วอาจคิดถึงเคียกเคอการ์ด นักปรัชญาชาวเดนมาร์ค บิดาของปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลิสม์ ผู้ปลุกสำนึกของผู้คนให้แสวงหาเสรีภาพ อัตลักษณ์ ความเป็นไทจากการครอบงำของกระแสวัฒนธรรมหลัก เขาเป็นคนบ้านเดียวกับผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ที่สร้างหนังแบบคนยุโรปที่มุ่งสื่อสาระบางประการกับผู้คน โดยไม่ได้เน้นความบันเทิงแบบฮอลลิวูด
อาจจะคิดถึงฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาเอ็กซิสท์ร่วมสมัยผู้ใช้วรรณกรรมเพื่อสื่อสาระแห่งปรัชญา สะท้อนความบัดซบของชีวิต เขียนเรื่อง "เทพธิดาโรงแรม" คล้ายกับชีวิตของคาบีเรียในหนังที่ได้รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของฮอลลิวูด "คืนของคาบีเรีย" (The Nights of Cabiria) ผลงานชั้นบรมครูของ Federico Fellini ซึ่ง "บัดซบสิ้นดี" ไม่มีผิดเพี้ยนแตกต่างจากชีวิตของ "เกรซ" เพียงแต่จบไม่เหมือนกัน ของฟอนเตรียร์จบแบบเปื้อนเลือด ของเฟลลีนีจบแบบเปื้อนน้ำตา
หากมองจากมุมหนึ่งของหมู่บ้านในชนบทไทยอาจเห็นร่องรอยความเลวร้ายหลายรูปแบบ การพัฒนาที่เข้ามาหมู่บ้านเหมือนสาวแสนสวย แล้ววันหนึ่งชีวิตที่สงบเรียบง่ายก็ล่มสลาย กลายเป็นนรกที่ผู้คนต่างดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดจากปัญหาสารพัน ทั้งหนี้สิน ยาเสพติด เอดส์ โรคร้อยแปดที่รุมเร้า รวมทั้งโรคบ้าสารพัดแบบ แล้วก็อาจถึงวันที่หมู่บ้านแตกดับเหมือนด็อกวิลล์ตอนจบก็เป็นได้
นี่คือเสน่ห์ของหนังศิลปะที่เปิดทางให้คิดคำนึงได้ไม่รู้จบ
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Wednesday, 03 August 2005 )
เครดิต***เขียนโดย ดร . เสรี พงศ์พิศ
http://phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=151&Itemid=54