กฟภ.ขู่เลิกโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จีนนำร่องผุดเตาเผาขยะเล็งรุกเออีซี
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ --
ศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2555 00:00:24 น.
งามวงศ์วาน * กฟภ.เดินหน้ายกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ หลังผลิตไม่ได้ตามสัญญา ระบุเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน พร้อมขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ไม่เกิน 1 ปี ด้านยักษ์ใหญ่จีนทุ่ม 900 ล้าน ผุดโรงไฟฟ้าขยะที่หนองแขม
นายนำชัย หล่อวัฒนตระ กูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ. จะควบคุมปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เอาไว้ไม่ให้เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสนอโครงการเพื่อขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ให้กับ กฟภ. ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และปัจจุบัน มีโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาซื้อจนและถูกยกเลิกโครงการไปแล้ว ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ก็มีหลายสัญญาที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้วประมาณ 900 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,000 กว่าเมกะวัตต์ นั้น ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ทั้งนี้ ในส่วนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมที่จะลงทุน แต่ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่การเงิน หรือขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัยนั้น กฟภ.จะขยายระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน และต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โครงการสุดท้ายภายในสิ้นปี 2558
ทั้งนี้ แผนการรับซื้อไฟฟ้า ขนาดเล็กของ กฟภ.ในส่วนของ พลังงานแสงอาทิตย์ จะรับซื้อใน สามส่วน คือ 1.ในส่วนของนักลง ทุนประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ 2.โครง การหนึ่งชุมชนหนึ่งพลังงาน อีกประมาณ 900 เมกะวัตต์ และ 3. ส่วนที่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์จากบ้านที่อยู่อาศัย อีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมา มีการรับซื้อไปแล้วเฉพาะส่วนที่มาจากนักลงทุน โดยในส่วนของชุมชนและบ้านที่อยู่อาศัยนั้น ยังต้องรอนโยบายการส่งเสริมราคาค่าไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงานแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผู้ประกอบการ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามกำหนด ทั้งๆ ที่มีความพร้อมเรื่องของที่ดินและเงินลงทุนแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากขั้นตอนการขอใบอนุญาตจัด ตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากกรมโรงงานอุตสาห กรรม ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีความล่าช้า จนผิดปกติ และยังมีข่าวลือเรื่องการยอมจ่ายเงินให้กับนักการเมืองเพื่อแลกกับใบอนุญาตติดตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้มอบนโย บายให้กับสำนักนโยบายและแผน พลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนา พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลัง งาน (พพ.) ไปทบทวนแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) หลังจากพบว่าการรับซื้อไฟจากเซลล์แสงอาทิตย์ต้องจ่ายส่วนต่างรับซื้อค่าไฟ แอดเดอร์ (ADDER) เฉลี่ย 6-8 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น"ที่ผ่านมามีผู้ยื่นขายไฟจำนวนมาก แต่กลับพบว่าบางรายไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นได้สั่งให้ สนพ.ไปดู หากพบรายใดเห็นว่าผลิตไม่ได้และครบกำหนดจ่ายแต่ยังไม่จ่ายไฟก็ให้ยกเลิกสัญญาทันที แต่ถ้าได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น จัดซื้ออุปกรณ์ ก็ให้ดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกระทรวงพลังงานนั้นจะรับซื้อไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ แต่หากสัญญาผูกพันและยกเลิกไม่ได้ก็ไม่ควรเกิน 3,000 เมกะวัตต์" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยเตาเผามูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้าและการบำบัดน้ำเสีย รายใหญ่จากประเทศจีน เปิดเผยว่า เมื่อเดือน ก.ค.2555 ได้เซ็นสัญญากับกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างโรงเตาเผามูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ของกรุงเทพมหานคร โดยใช้เงินลงทุนกว่า 900 ล้านบาท และสามารถเผาขยะได้ประมาณ 300-500 ตันต่อวัน หรือสูงสุดรับได้ 600 ตันต่อวันคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ในปี 2557
"การลงทุนในประเทศไทยถือว่าเป็นโครงการนำร่องเพื่อที่จะเจาะเข้าไปในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยนั้น ทางบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปประมูลเพื่อก่อสร้างเตาเผามูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้าในหลายจังหวัด โดยจะเน้นจังหวัดขนาดใหญ่" นายหนิง เหอ กล่าว.
บรรยายใต้ภาพ
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
http://www.ryt9.com/s/tpd/1558428