สมมุติว่า
ถ้าผมขับรถกลับบ้านและระหว่างทางกลับ ผมได้จอดรถลงไปซื้อบุหรี่ บังเอิญไปเจอเหตุ นาย ก. กับ นาย ข. กำลังทะเลาะกัน
จากนั้นผมเห็น นาย ก.ใช้มีดแทง นาย ข.จนล้มลง ขณะนั้นในที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง ไม่มี จนท.ตำรวจอยู่เลย
ผมจึงโทรแจ้งตำรวจทันที แต่เมื่อ นาย ก.เห็นผมโทรแจ้งตำรวจจึงวิ่งตรงมาหาผม โดยที่ในมือยังถือมีด ที่ใช้แทงนาย ข.อยู่
ในกรณีนี้ ผมจึงตัดสินใจวิ่งไปที่รถแล้วหยิบปืนในรถ มายิงใส่ นาย ก. ผมจะมีความผิดมั้ยครับ
เหตุผลที่ผมมีปืนในรถเพราะเพิ่งกลับมาจากสนามยิงปืน
ระยะห่างของ นาย ก.กับผม ประมาณ 15 เมตร และร้านที่ผมซื้อของห่างจากรถ ประมาณ 5 เมตร
และที่สำคัญผมไม่ได้เป็นตำรวจนะครับ
รบกวนสอบถามเพื่อให้หายสงสัยหน่อยนะครับ ขอบคุณครับ
เป็นการสมมุติสถานะการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ขอแสดงความเห็นส่วนตัวในอีกแง่มุมหนึ่ง
จากเหตุการณ์สมมุติที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
1. อำนาจ หน้าที่ ในการเข้าจับกุมหรือช่วยเหลือผู้ประสพเหตุถูกทำร้ายร่างการโดยมีด ในฐานะประชาชน
2. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนที่นำพามา เพื่อจับกุมหรือป้องกันภยันตรายแก่ตนหรือผู้อื่น
3. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพกพาชอบหรือไม่
4. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
5. ประเด็นด้านคุณธรรม ในการเลือกทางเดิน
ประเด็นพิจารณา
1. ด้านอำนาจของคุณ jeaw 561
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อพบ นาย ก. และ นาย ข. ทะเลาวิวาทกัน จนกระทั่งเห็น นาย ก. ใช้มีดแทงนาย ข. จนล้มลง ซึ่งถือว่าการใช้มีดแทงผุ้อื่นเป็นการประทุษร้ายแก่ชีวิตหรือแก่ร่างกาย เป็นความผิดตาม " บัญชีแนบท้าย ป.วิ.อาญา เกี่ยวกับ ความผิดในกฏหมายลักษณะอาญา ที่มาตรา 79 อ้างถึง ซึ่งราษฎรมีอำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย"
ป.วิ.อาญา ม.79 บัญญัติไว้ว่า " ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา ๘๒ หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย "
แต่คุณ Jeaw 561 จับแล้วต้องดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา ม.83,84 (ในส่วนนี้เป็นเรื่องทีหลังจากระงับเหตุแล้วประชาชนสามารถสอบถามการปฏิบัติได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ )
แต่หาก นาย ก. ขัดขืน คุณ jeaw 561 มีอำนาจใช้อาวุธได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.83 ซึ่งบัญบัติไว้ว่า " ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น "(แต่คำว่าสมควรนั้น แม้แต่ผมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ก็ยังสงสัยอยู่หลายประเด็น และไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็น เช่นความเชื่อที่ว่าคนร้ายต้องยิงก่อนเจ้าหน้าที่ถึงจะยิงได้ มันช้าไป หากผมประสบเหตุสงสัยต้องฏีกาแน่เลย เพราะเตรียมหลักฐานต่างๆรอแล้ว หากต้องยิงคนร้ายก่อน)
ดังนั้น หากคุณ jeaw 4561 ประสงค์จะทำการจับกุม นาย ก. สามารถทำได้ตามบทกฏหมายดังกล่าวข้างต้น
ประเด็นหน้าที่ ของคุณ jeaw 561 ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือนาย ข. ตาม ป.อาญา
ป.อาญา ม.374 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า " ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
หากคุณ jeaw 561 ไม่กลัวอันตรายกับตนซึ่งเกิดจากนาย ก. ซึ่งถือมีดอยู่ ก็มีหน้าที่ต้องช่วยนาย ข. ตามกฏหมายดังกล่าวข้างต้น แต่หากกลัวอันตราย ก็คงไม่ผิดตาม มาตรา 374
2. ในประเด็นการใช้อาวุธ ในความเห็นของผม ในระยะ 15 เมตร นั้น ตามฎีกาที่ตัดสินนั้นพฤติการณ์ย่อมแตกต่างออกไป ซึ่งผมยังไม่เห็นฏีกาเต็ม แต่เชื่อว่าคนถือมีดยังไม่ได้ทำอะไร และศาลประสงค์ไม่อยากให้เกิดเหตุยิงหรือแทงกันขึ้นจึงได้กำหนดอย่างนั้น เพื่อป้องกันให้คนถือปืนมีสติยั้งคิดหน่อยโดยเว้นระยะไว้ที่ 15 เมตร
- ผมเห็นว่าหากยิงในระยะนี้กับคนที่ถือมีด และได้ทำร้ายคนอื่นไปแล้ว และยังมีทีท่าว่าจะทำร้ายคนอื่นอีก
- ที่จอดรถซื้อบุหรี่คงเป็นร้านค้าซึ่งมีประชาชนมาซื้อของพอสมควร ผมเห็นว่า นาย ก. ยังเป็นตรายต่อ นาย ข. , คุณ jeaw 561 หรือประชาชนคนอื่นอยู่อีก จึงจำต้อง " ยิงปืนไปที่นาย ก. ที่บริเวณขา 1 นัด เพื่อหยุดยั้งป้องกันตัวหรือผู้อื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่ให้ถูกนาย ก. ทำร้ายเพิ่มเติมอีก"
- เหตุการณ์นี้คุณ jeaw 561 ไม่มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากมูลเหตุไม่ได้เกิดจากคุณ jeaw 561 และคุณ jeaw 561 ยังมีอำนาจ หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามบทกฏหมายข้างต้นอีก แต่หากจะหลีกเลี่ยงโดยขึ้นรถหนี ก็คงไม่ผิดกฏหมายอะไร
3. ประเด็นเรื่องการพกพา นั้น เป็นความเห็นส่วนตัวหากพิจารณาจากพฤติการณ์ดังกล่าวและความเป็นคนดีของคุณ jeaw 561 (ในกรณีทีช่วยเหลือนาย ข.) ผมคงมีความเห็นว่า " ไม่ใช่การพกพา ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ ม. 8 ทวิ (ซึ่งการพกพาก็มีรายละเอียดให้ศึกษาอยุ่แล้วในเวปซ์นี้)
4. ประเด็นเรื่องการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมนั้น
- หากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบ คงต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน
- หากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานปรากฏแล้วพนักงานสอบสวนเชื่อตามที่คุณ jeaw 561 เล่ามา พนักงานสอบสวน อาจจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งหากแจ้งข้อกล่าวหา หรือ อาจจะให้ประกันโดยไม่มีหลักทรัพย์อาจเป็นได้
- หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทุกข้อกล่าวหาไปยัง พนักงานอัยการ หากพนักงานอัยการมีความเห็นเดียวกับพนักงานสอบสวน ก็สั่งไม่ฟ้อง เป็นอันเสร็จคดี เว้นแต่ ญาติของ นาย ก. จะไปฟ้องต่อศาลเอง
5. ประเด็นคุณธรรม
- ชาวปืนมีอาวุธไว้เพื่อสิ่งใดกัน มีไว้ป้องกันตนเองหรือทรัพย์สินนั้นก็สมควรอยุ่ แต่หากโชคชะตากำหนดให้ชาวปืนท่านใดท่านหนึ่ง ที่มีอาวุธปืนต้องไปอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว คิดได้หลายแง่มุมคือ
อาจจะเป็น " ความซวย " ที่ต้องไปประสบเหตุดังกล่าวนั้น ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องเสียเงินเสียทอง เสียเวลา อันนี้หากคิดถึงแต่ตัวเองนั้น ก็คงใช่
แต่ " หากเป็นฟ้ากำหนด " ให้คุณ jeaw 561 ซึ่งเป็นผู้มีฐานะ พอที่จะซื้อปืนได้ มีสิทธิ์ซื้อปืน มีการฝึกฝนที่ดีเยี่ยม มีจิตใจมีคุณธรรม และบังเอิญว่าพึ่งกลับจากซ้อมยิงปืน มีอาวุธปืนที่สามารถช่วยเหลือ นาย ข. ได้ คุณ jeaw ถุกฟ้ากำหนดให้ต้องมาประสบเหตุเพื่อช่วยหลือ นาย ข. ให้รอดชีวิต (ซึ่งหากนาย ข. ทำผิดกฏหมายด้วย ก็สมควรต้องถูกลงโทษตามกฏหมาย ไม่ใช่การถูกแทงตาย ) ผมเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งมีค่าที่สุด หากปืนที่เราซื้อมาได้ช่วยเหลือชีวิตของตนเองหรือผู้อื่นสักครั้ง (ซึ่ง ไม่ได้ช่วยแค่ นาย ข. แต่ช่วยเหลือครอบครัวของ นาย ข. ด้วย )
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณ jeaw 561 ท่านอื่นจะนิ่งดูดาย หรือไม่ได้เข้าช่วยเหลือ ผมก็คงไม่ว่าอะไรเพราะมันเป็นสันชาติญาณของมนุษยที่ต้องรักตัวเองอยู่แล้ว แต่หากคุณ jeaw 561 เป็นเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกคองแล้วคุณ jeaw 561 นิ่งดูดาย ผมก็คงเสียใจที่ประเทศไทยของเราฝึกฝนเจ้าหน้าทีไม่มีคุณธรรมเพียงพอ
ปล. ความเห็นดังกล่าว เป็นเพียงหลักคิดตามกฏหมาย ไม่ใช่ข้อยุติ เป็นเพียงความคิดเห็น ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงปรากฏในกระบวนพิจารณา ผลการตัดสินอาจจะเป็นอย่างอื่นได้