จะเชื่อดีไหม....
ผู้ค้าน้ำมันแจงปม "บาทแข็ง" แต่ราคาน้ำมันไม่ลด ปตท.กางโพยเปรียบเทียบต้นทุนราคาตลาดโลก-ส่วนต่างค่าเงิน พร้อมระบุ โรงกลั่นซื้อน้ำมันดิบเป็นดอลลาร์ แต่ขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเป็นเงินบาท ดังนั้น ค่าการกลั่น ซึ่งมาจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นซื้อมากลั่น ทำให้มีกำไรลดลง ชี้ ท่อส่งน้ำมันรัฐอิลลินอยส์รั่ว ดันราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้น เป็นเหตุให้ยังลดราคาขายปลีกไม่ได้
นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคน้ำมันได้รับประโยชน์ และควรลดราคาน้ำมันลง โดยยืนยันว่า ขณะนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในช่วงปรับขึ้น เนื่อจากผลกระทบท่อน้ำมันในสหรัฐฯ รั่ว แต่เพราะเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังไม่ปรับขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาน้ำมันสูงขึ้น และเงินบาทที่แข็งค่า จะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น และทุกอย่างจะเข้าสู่จุดสมดุลในที่สุด ส่วนราคาน้ำมันดิบนั้นคาดจะกลับมาทรงตัวที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวนัก ส่งผลให้การขยายตัวของการบริโภคน้ำมันมีข้อจำกัด
นางสุทัศนี ทับทิม ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในสัดส่วน 50 ต่อลิตร ดังนั้น ในช่วงตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2553 ที่เงินบาทอยู่ที่ 31.65 บาทต่อดอลลาร์ มาถึงวันที่ 9 กันยายน 2553 ที่เงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 65 สตางค์ต่อดอลลาร์ เมื่อคำนวณแล้วจะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงได้ประมาณ 30 สตางค์ต่อลิตร
"ยืนยันว่า ราคาน้ำมันที่ผ่านมาปรับขึ้น โดยราคาน้ำมันเบนซินสิงคโปร์ ปรับขึ้น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 เฉลี่ยประมาณ 4.50 ดอลลาร์ หรือ 90 สตางค์ต่อลิตร ส่วนกลุ่มน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 2.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือต้นทุนขึ้น 54 สตางค์ ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงยังไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนที่ขึ้นทั้งหมดได้"
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติเงินบาทที่แข็งค่าต่อ 1 ดอลลาร์ จะมีผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ 50 สตางค์ต่อลิตร แต่ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศไม่สามารถปรับลดลงได้ ขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.40-1.50 บาทต่อลิตรเท่านั้น
ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ที่ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือนตุลาคม 2553 ปรับเพิ่มขึ้น 2.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ตลาดลอนดอน ปรับเพิ่มขึ้น 0.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์วานนี้ (13 กันยายน 2553) ปรับขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยต่ำกว่า 1.50 บาทต่อลิตร ดังนั้น สถานการณ์ราคาน้ำมันขณะนี้ จึงมีแนวโน้มปรับขึ้นมากกว่าลดลง
สาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น เนื่องจากบริษัท เอนบริดจ์ (Enbridge) ปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบขนาด 6.7 แสนบาร์เรลต่อวันของประเทศแคนาดามายังสหรัฐอเมริกา หลังจากพบมีการรั่วไหลของน้ำมันจากท่อ ที่รัฐอิลลินอยส์ จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำลังผลิตน้ำมันดิบและการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูป
นอกจากนี้ ยอดการใช้น้ำมันของจีนยังขยายตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกปี 2553 ขึ้นอีก 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 86.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือสูงขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน
นายอนุสรณ์ กล่าวถึง ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันว่า โรงกลั่นซื้อน้ำมันดิบเป็นดอลลาร์มากลั่น และขายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเป็นเงินบาท ดังนั้น ค่าการกลั่น ซึ่งมาจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นซื้อมากลั่น จึงมีกำไรลดลง อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ในสัดส่วน 30-40% จึงไม่กระทบต่อรายได้มากนัก
manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9530000128809