ตรึงดีเซล 30บ./ลิตร แก้วิกฤติสินค้าแพงสร้างเมื่อ วันที่ 20 เมษายน 2554 10:29:36
หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง
วิกฤติเศรษฐกิจในญี่ปุ่น และโรงกลั่นของจีนหยุดซ่อมบำรุง จนส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล
ซึ่งเป็นต้นทุนของภาคการขนส่ง รัฐบาลจึงเร่งหามาตรการในการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าขึ้นราคา
ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงได้หารือกับนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน
และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เพื่อหามาตรการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรที่กำลังจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนเมษายน
เพื่อไม่ให้กระทบภาคขนส่ง และราคาจำหน่ายสินค้าต่างๆ โดยได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะยังคงนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาท
ต่อลิตรต่อไป โดยเปลี่ยนจากการใช้เงินอุดหนุนน้ำมันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
จากปัจจุบันที่เรียกเก็บ 5.30 บาทต่อลิตร บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 40 สตางค์ต่อลิตร รวมเป็นเงิน 5.70 บาทต่อลิตร
ส่งผลให้เหลือเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพียงลิตรละ 0.005 บาท โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
หากไม่ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จะทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 36 บาท
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหากปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร อาจส่งผลให้ภาคขนส่งและผู้ประกอบการสินค้าต่างๆ
เข้ามาขอปรับราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากราคาสินค้าแพง จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะเดียวกันวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤตินิวเคลียร์ในญี่ปุ่นรวมถึงปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น
อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว จนสุดท้ายอาจซ้ำเติมกับเศรษฐกิจทั้ง 2 ด้าน คือ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อและเงินฝืด
เพราะประชาชนจะไม่กล้านำเงินออกใช้จ่าย ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สำหรับรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เสียไปนั้น จะไม่กระทบต่อสถานะการคลังในปีงบประมาณ 2554
เนื่องจากรัฐบาลมีแนวทางแก้ไขโดยนำเงินเหลือจากงบกลางปีจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ที่รัฐจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้มา
อุดหนุนภาษีสรรพสามิต รวมทั้งจะเอางบกลางอีก 1.4 หมื่นล้านบาทมาช่วย รวมเป็นเงินที่จะนำมาอุดหนุนกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท
ซึ่งจะไม่กระทบกับกรอบการกู้เงินใดๆ ของรัฐบาลทั้งสิ้น ส่วนกรอบงบประมาณปี 2555 ที่อาจจะได้รับผลกระทบในกรณีจัดเก็บรายได้
ของกรมสรรพสามิตนั้น หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารก็สามารถพิจารณาปรับสัดส่วนรายรับรายจ่ายหรือนโยบายให้เหมาะสมได้
โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 เมษายนนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันติดลบ
และเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก็จะประกาศบังคับใช้ให้เร็วที่สุด
การที่รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ก็เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นตาม เพราะหากปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันแล้ว
เชื่อได้ว่าเมื่อราคาน้ำมันลดลงราคาสินค้าจะไม่ปรับตัวลงตามแน่นอน สุดท้ายผลกระทบก็จะตกไปสู่ประชาชนที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น
ทั้งๆ ที่เงินเดือนและค่าแรงเท่าเดิม
http://www.pm.go.th/blog/52936