ขอบคุณทุกท่าน โดยเฉพาะท่านสิงห์กลิ้งที่อนุเคราะห์ผม ตั้งแต่เรื่องมรดกแล้ว
ส่วนในคดีทางแพ่งนั้น ข้อหาหรือฐานความผิดคือ ละเมิด ทำให้ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย
อันเป็นคดีฟ้องตัวบุคคลผู้ทำละเมิดโดยตรง ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว
ดังนั้น หากคู่กรณีของเราจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น ต้องฟ้องทายาทของผู้เสียชีวิต ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
หรือในกรณีที่มีผู้จัดการมรดก ก็จะฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย
โดยจำเลยที่ถูกคู่กรณีฟ้องมานั้น แนวทางการต่อสู้แน่นอน ว่าผู้ตายไม่ได้ประมาท หรือหากประมาท ฝ่ายโจทก์ก็มีส่วนประมาทร่วมกับผู้ตายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
และผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก และไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายตกแก่จำเลย
ต่อมา หากศาลพิจารณาและพิพากษาให้เรารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ผู้ที่ถูกฟ้อง ต้องรับผิด แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับจากผู้ตาย
เช่น หากคู่กรณีฟ้องมารดาของผู้ตาย ปรากฎว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกแก่มารดาผู้ตาย มา ๒,๐๐๐ บาท
แม้ว่าโจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนมา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท มารดาผู้ตายก็ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง ๒,๐๐๐ บาท เท่านั้น
ส่วนอีก ๙๙๘,๐๐๐ บาท โจทก์จะมายึดที่ดินของมารดาผู้ตายเพื่อขายทอดตลาดให้ให้ครบ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้
ดังนั้น หากผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกใดๆตกทอดแก่ทายาทเลย เจ้าหนี้คือโจทก์ ก็จะมายึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์สินของทายาทไม่ได้
เพราะทายาทที่ถูกฟ้อง ไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิดนั้นเองครับ
ทางอาญาก็ไม่รู้จะหลุดไหม ทางแพ่งฟ้องแล้วยังไม่รู้จะมีอะไรให้ยึดอีก เวรกรรม