"The Little House Series"
'หนังสือชุดบ้านเล็ก' หรือ 'The Little House Series' วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่เขียนโดย
ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับคนไทยมานานนับสามสิบปี ด้วยสำนวน
แปลของ สุคนธรส ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น เมื่อปี 2507 และได้รับความนิยม
จากผู้อ่านเป็นอย่างมาก จนได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง หลังจากนั้นถึงแม้จะมีคนนำมาแปลอีก
แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับสำนวนแปลของสุคนธรส กระทั่งหนังสือขาดหายไปจากตลาดนาน
ทีเดียว
ล่าสุด สำนักพิมพ์แพรวเยาวชนคว้าลิขสิทธิ์นำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ
รวมทั้งหมด 10 เล่ม ได้แก่ บ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้านเล็กในทุ่งกว้าง เด็กชายชาวนา บ้านเล็กริมห้วย
ริมทะเลสาบสีเงิน ฤดูหนาวอันแสนนาน เมืองเล็กในทุ่งกว้าง ปีทองอันแสนสุข สี่ปีแรก และ ตาม
ทางสู่เหย้า พร้อมทั้งได้มีการพูดคุยเล่าขานความประทับใจจากผู้ที่อ่านหนังสือชุดนี้ เมื่อวันที่ 27
กันยายน 2548 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเพนนินซูล่า พลาซ่า โดยมี ม.ร.ว.เบญจาภา ไกรฤกษ์
และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ มาร่วมลำรึกความทรงจำ และดำเนินรายการโดย อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร
หนังสือชุด 'The Little House Series' เป็นเรื่องชีวิตจริง ผู้แต่งได้บรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่
ของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของผู้แต่งเอง ตั้งแต่เด็กจนโตอย่างละเอียดลออ สะท้อน
ชีวิตชาวอเมริกันที่ได้ต่อสู้กับธรรมชาติและความลำบากยากแค้นมาด้วยความมานะอดทนมากมาย
เพียงไร ก่อนที่บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในชั่วระยะเวลาเพียงแค่
80 ปีเศษเท่านั้นเอง
ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ (Laura Ingalls Wilder) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้ เธอเป็นบุตร
คนที่สองของชาล์ส ฟิลิปป์ และแคโรไลน์ เลค ควินน์เนอร์ อิงกัลล์ส เกิดในกระท่อมไม้ซุงชายป่า
ใกล้เมืองเปปปิน มลรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1867 ครอบครัวของเธอเดินทาง
อพยพบนเกวียนประทุน ผ่านแคนซัส มินเนโซตา และตั้งรกรากถาวรบนที่ดินจับจองใกล้เมือง
เดอ สเม็ต (De Smeth) มลรัฐดาโคตา เมื่ออายุ 15 ปี ลอร่าสอบเป็นครูได้และเริ่มต้นสอนหนังสือ
เมื่อ ค.ศ.1885 ลอร่าแต่งงานกับแอลแมนโซ เจมส์ ไวล์เดอร์ ในตอนสุดท้ายของชีวิตได้ตั้งบ้าน
เรือนอยู่ในรัฐมิสซูรี และมีบุตรสาวผู้หนึ่งชื่อ โรส ไวล์เดอร์ เลน
หนังสือ 'บ้านเล็กในป่าใหญ่' ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1932 และมีหนังสือชุดเดียว
กันอีก 8 ตอน ตามออกมาเป็นลำดับ หนังสือ 'บ้านเล็กในป่าใหญ่' ได้รับรางวัล Newberry Award
ในปี ค.ศ.1932 และปี ค.ศ.1942 ลอร่าได้รับรางวัลวรรณกรรม Harry Hartman Award จาก Pacific
Northwest Library Association ปี ค.ศ.1943 หนังสือ 'ปีทองอันแสนสุข' ได้รับรางวัล New York
Herald Tribune Spring Book Festival และปี ค.ศ.1954 Children's Library Association ตั้งรางวัล
Laura Ingalls Wilder Award ให้กับนักเขียนที่มีผลงานดีเด่นสำหรับเด็กทุกๆ 5 ปี และห้องสมุดประจำ
รัฐต่างๆ อุทิศอาคารให้เกียรติกับเธอ ทั้งในเซ็นต์หลุยส์ ดีทรอยต์ มิชิแกน แมนฟิลด์ มิสซูรี โปมานา
และแคลิฟอร์เนีย
ครอบครัวไวล์เดอร์ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่แมนฟิลด์ มลรัฐมิสซูรี แอลแมนโซ ผู้เป็นสามีสิ้นชีวิตที่นี่ในปี
ค.ศ.1949 อายุ 92 ปี ลอร่าสิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1957 อายุ 90 ปี และลูกสาวของลอร่า ต่อมาเป็นนักเขียน
มีชื่ออีกคนหนึ่งของอเมริกาด้วย หนังสือจากงานเขียนของลอร่ายังเป็นที่นิยมอ่านกันแพร่หลายในหมู่เด็ก
และหนังสือชุด 'บ้านเล็ก' ก็ได้รับการยอมรับเป็นผลงาน 'อมตะ' ที่ดีเด่นชิ้นหนึ่งสำหรับเยาวชน
(ที่มา : นิตยสารโลกหนังสือ)
สำหรับงานเสวนาเปิดตัวหนังสือได้จำลองบรรยากาศบนเวทีเป็นบ้านกระท่อมไม้ซุงที่ลอร่าเกิดและ
อาศัยอยู่เมื่อตอนเด็กๆ โดย ม.ร.ว.เบญจาภา ไกรฤกษ์ กล่าวถึงประทับใจหนังสือชุดนี้ว่า "วรรณกรรม
เยาวชนชุดบ้านเล็กเป็นเรื่องของชีวิตชาวอเมริกันที่เป็นอมตะ ซึ่งคนยุคนี้อาจจะไม่ได้สัมผัสมาก่อน
ถ้าเด็กๆ ได้อ่านไม่ว่าจะเป็นน้องๆ หลานๆ ลูกๆ ที่เกิดในสมัยนี้ และเริ่มจะเลิกอ่านนิทาน แทนที่จะหัน
ไปเล่นเกมและอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ขอให้ลองชิมรางอ่านดูสักนิดนึง แล้วจะได้รู้ว่าหนึ่งชั่วโมงที่ใช้เวลา
อ่านบ้านเล็ก เราจะเพิ่มอีกเป็นสองชั่วโมงและสามชั่วโมง อ่านจนลืมที่จะพูดกับใคร หรือลืมแม้แต่
กระทั่งเวลารับประทานอาหารก็เป็นได้"
ฉากที่ชอบมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ม.ร.ว.เบญจาภา กล่าวว่า "ชอบเป็นตอนๆ ตอนเล็กๆ จะประทับใจ
เรื่องการอบรมสั่งสอนที่ลอร่าได้รับ คือเด็กสมัยก่อนเวลานั่งโต๊ะอาหารเด็กจะพูดไม่ได้สักคำเดียว ถ้า
ผู้ใหญ่ไม่ถามหรือไม่พูดด้วย สมัยนี้ตรงกันข้าม และส่วนฉากความรักระหว่างแอลแมนโซกับลอร่าก็
ซาบซึ้ง เพราะความรักสมัยนี้เป็นความรักที่ฉาบฉวย ขณะที่ความรักในหนังสือเล่มนี้ ที่มีลอร่ากับแอลแมน
โซเป็นพระเอกกับนางเอก จะเป็นความรักที่ซาบซึ้ง ผู้หญิงได้รับการอบรมที่ดี มีความรู้ที่ดี เป็นภรรยาและ
แม่ที่ดีได้ด้วย ซึ่งเป็นความรักที่ตั้งใจจะก่อสร้างบ้านเรือน ตั้งใจร่วมชีวิตกันจริงๆ รักกันด้วยความซาบซึ้ง"
และมองว่า "อย่างหนึ่งที่ยังลังเลว่าเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย จะมีความสนใจในหนังสือเรื่องนี้แค่ไหน
เพราะว่าหนังสือเรื่องนี้ออกจะเป็นแนวที่สร้างความประทับใจให้ผู้หญิงมากกว่า แต่ส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้
ผู้ชายสนใจได้คือในเรื่องของการผจญภัย หรือการที่เขาต้องต่อสู้ หรือว่าการที่ต้องย้ายถิ่นเพื่อการหากิน
หรืออะไรต่างๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าผู้หญิงที่รักครอบครัวหรือผู้หญิงหรือเด็กที่มีความผูกพันกับครอบครัว
หรือต้องการจะมีครอบครัวที่อบอุ่นนั้น จะรู้สึกรักหนังสือชุดนี้มากๆ"
ม.ร.ว.เบญจาภา ไกรฤกษ์ ยังกล่าวอีกว่า "อยากให้มีการเผยแพร่หนังสือชุดนี้ไปตามโรงเรียนและห้องสมุด
ให้มากที่สุด เพราะว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เยาวชนไทยได้มีทัศนคติ โดยเฉพาะเยาวชนตอนนี้เขาสบายเกิน
ไป จะได้ให้รู้ถึงความลำบากว่ามันฝึกฝนให้คนมีชีวิตที่ดีได้มากทีเดียว อีกอย่างคือเราทุกคนรักอิสรภาพ
ถ้าหากแนะนำเยาวชนไทยให้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะได้ซึมซับโดยที่ไม่ต้องมาเน้นมาสอนมาจ้ำจี้จ้ำไชด้วย
ปาก เยาวชนอาจจะได้เห็นเองว่าความอิสระที่ดีทำให้เกิดความสร้างสรรค์ จะต้องอยู่ที่กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น
โดยมีรากฐานของกฎเกณฑ์ที่ดี ซึ่งอเมริกันได้สร้างสิ่งนี้ไว้ตั้งแต่แรก เช่น กฎเกณฑ์ในการจับจองที่ดิน
เขาจะมีกฎเกณฑ์ว่าให้จับจองได้ฟรี ทุกคนได้ 160 เอเคอร์ ซึ่งใหญ่มาก แล้วเลือกได้ตามสบาย โดย
กำหนดว่าถ้าหากเขาทำไม่สำเร็จภายในสามปีจะต้องย้ายออกไปจากที่นั่น ตรงนี้น่าจะจุดประเด็นให้
เยาวชนเข้าใจว่าความอิสรภาพย่อมขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่ดี อิสรภาพนั้นจึงจะได้มาซึ่งประโยชน์สำหรับตน
อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือการที่อเมริกาจะให้ความสำคัญกับคุณค่าชีวิตมนุษย์ และสิ่งนี้ยังไม่ตายไปจาก
กฎเกณฑ์และวัฒนธรรมของอเมริกัน ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่า กฎเกณฑ์ของอเมริกันจะแน่นหนามากในเรื่อง
การสร้างคุณค่าของชีวิต"
ขณะที่ นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ บรรณาธิการเล่ม สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน กล่าวถึงการนำหนังสือชุดนี้
กลับมาพิมพ์ใหม่ว่า "เนื่องจากว่าหนังสือขาดตลาดไปนาน หรือถ้ามีวางตลาดอยู่ก็จะมีไม่ครบ คิดว่า
น่าจะนำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งฉบับสำนวนแปลของคุณสุคนธรส พิมพ์ครั้งแรกปี 2507 และ
แปลเป็นคนแรก เพราะเท่าที่ทราบจะมีแปลสองสำนวน แต่สำนวนหลังจะได้รับความนิยมน้อยกว่า ใน
ขณะที่สำนวนแปลของสุคนธรสได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง คนติดกันมาก ในช่วงแรกสมัยผมเป็นเด็ก
จะมีแค่ 8 เล่ม คือเล่ม 1 บ้านเล็กในป่าใหญ่ ถึงเล่ม 8 คือ ปีทองอันแสนสุข หลังจากนั้นพอโตขึ้นมา
อีกหน่อยก็มีการแปลต่ออีก 2 เล่ม คือ เล่ม 9 และ 10 โดยแปลลงในนิตยสารลลนาที่คุณสุวรรณี สุคนธา
เป็นบรรณาธิการ ผมติดใจมาตั้งแต่ตอนนั้น คือพอจบเล่ม 8 ตอนที่ลอร่าแต่งงานแล้วก็อยากรู้ว่าเหตุ
การณ์และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป"
เขายังเล่าสมัยอ่านครั้งแรกว่า "ผมเริ่มอ่านหนังสือชุดนี้ตั้งแต่เด็กๆ อายุสัก 10 ขวบ ตอนอยู่ ป.5 หลัง
จากที่เลิกอ่านนิทานกับการ์ตูน ก็มาเริ่มอ่านวรรณกรรมที่เป็นนิยาย ซึ่งเป็นนิยายชุดแรกๆ ที่อ่าน เพราะ
ในยุคนั้นจะไม่มีวรรณกรรมสำเด็กมากมาย อ่านแล้วรู้สึกชอบตรงความรักความผูกพันในครอบครัว โดย
เฉพาะอย่างยิ่งระหว่างตัวนางเอกคือลอร่ากับพ่อ คือลอร่าจะเป็นเด็กผู้หญิงที่ค่อนข้างนิสัยคล้ายๆ ผู้ชาย
ชอบออกไปทำงานนอกบ้าน พอดีครอบครัวนี้มีแต่ลูกสาว 4 คน ลอร่าก็จะสนิทกับพ่อ เพราะว่าได้ออกไป
ช่วยพ่อทำไร่ไถนา เวลาพ่อไปช่วยสร้างทางรถไฟก็ไปดู
อาจจะเป็นเพราะว่าพี่สาวตาบอด ในขณะที่น้องสาวก็ยังเล็กเกินไป ก็มีลอร่านี่แหละที่จะต้องออกไป
ช่วยงานพ่อทำงาน เลยทำให้สนิทกันมากเป็นพิเศษ พอถึงเล่ม 8 คือ 'ปีทองอันแสนสุข' ก่อนที่ลอร่า
จะแต่งงาน จะมีฉากหนึ่งที่บรรยายว่า ลอร่าคิดถึงวันเวลาเก่าๆ ตั้งแต่เด็กๆ สมัยบ้านเล็กในป่าใหญ่ บ้าน
เล็กในทุ่งกว้างเรื่อยมา จนกระทั่งถึงเล่มที่ 8 ประทับใจเวลายามที่ได้ร้องเพลงกับพ่อในครอบครัว ตอน
ที่ต้องออกจากบ้านไปแต่งงาน ลอร่าเศร้าใจที่จะต้องย้ายบ้านออกไป เพราะจะไม่ได้อยู่กับพ่ออีกแล้ว"
ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ที่อ่านหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่จนนับครั้งไม่ถ้วน และซื้อเก็บไว้หลายต่อ
หลายชุด พร้อมทั้งแนะนำให้ลูกสาวอ่านด้วย กล่าวว่า "สำนวนแปลของคุณสุคนธรสเป็นฉบับแปลที่ดีสุด
อ่านมาตั้งแต่อายุประมาณ 8-9 ขวบ ถึงยุคลูกๆ โตก็ยังแนะนำให้ลูกอ่านมาตั้งแต่เขาประมาณ 8-9 ขวบ
คือพอเขาพ้นวัยอ่านนิทาน เราก็มองหาหนังสือวรรณกรรมเยาวชนให้เขาอ่าน ก็คงหนีไม่พ้น 'บ้านเล็กใ
นป่าใหญ่' อีกแน่นอน เพราะเป็นเรื่องราวที่ตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ลอร่ายังเล็กๆ และนั่งอยู่ในบ้านที่มีเตาผิงด้วย
บางครั้งมีสัตว์มาล้อมบ้าน เช่น หมาป่า หรือว่ามีอินเดียนแดงมาอยู่ใกล้ๆ บ้าน และคุณพ่อคุณแม่ต้องคอย
สอนวิธีที่จะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ตลอดจนการโยกย้ายไปที่ต่างๆ ความรู้สึกทุกครั้งที่อ่านเมื่อ
ยังเด็กๆ มาวันนี้ก็ไม่ลืม"
พร้อมทั้งบอกเหตุผลที่เลือกวรรณกรรมชุดนี้ให้ลูกอ่านว่า "ประการแรกพ่อแม่ทุกคนนั้นย่อมสรรหาหนังสือ
ที่ไร้ยาพิษให้กับลูก หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือที่ปลอดยาพิษโดยสิ้นเชิง ประการที่สอง ค่านิยมพื้นฐานใน
ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด ค่านิยมพื้นฐานอยู่ในหนังสือเล่มนี้ครบถ้วน ไม่ว่า
จะเป็นค่านิยมเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น การใช้ชีวิตที่พ่อเป็นคนเข้มแข็ง ภรรยามีความนุ่มนวล
เป็นแม่บ้านที่อบอุ่น ทำอาหารเก่งมาก เย็บปักถักร้อย ลูกก็ได้รับการบ่มเพาะมาอย่างดี และตรงนี้ยังเป็น
การเรียนประวัติศาสตร์อเมริกันในยุคสร้างบ้านเรือนได้ ถ้าเรียนตำราที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อเมริกัน
แล้วมาอ่านหนังสือเล่มนี้ประกอบ จะเห็นภาพแจ่มชัดยิ่งขึ้น ค่านิยมพื้นฐานในชีวิตมนุษย์ ความรักพ่อ
รักแม่ พ่อแม่รักลูก ความอดทน ต้องต่อสู้กับธรรมชาติ ต่อสู้กับหลายๆ สิ่ง และความมุ่งมั่น รวมถึงการ
มีวินัยในชีวิต ชัดเจนมากในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยปูพื้นฐานชีวิตให้กับลูกได้อย่างดีที่สุด"
ตอนที่ประทับใจมากเป็นพิเศษ ดร.มณีรินทร์ บอกว่า "ชอบหลายตอนมาก อย่างเล่มสองมีอยู่ตอนหนึ่ง
ที่พ่อสีซอท่ามกลางแสงดาว และร้องเพลงคลอไปด้วย ลอร่ากระซิบบอกแม่ว่าดาวมันร้องเพลง และ
ลอร่าได้ยินเสียงซอดังกังวาลอยู่ท่ามกลางแสงดาว อย่างนี้จะพบทุกตอน เวลาอ่านแล้วได้สัมผัส
บรรยากาศนั้น คือ หนาว แต่ว่าอบอุ่นด้วยบรรยากาศของครอบครัว เหมือนกับกลิ่นไอของป่าใหญ่
ของต้นสน มีความรู้สึกว่าที่เขาบอกว่าบ้านเล็กในป่าใหญ่นี้เป็นอย่างไร บ้านก็เหมือนสัญลักษณ์ของ
ความอบอุ่น และป่าใหญ่คือความรู้สึกที่อยู่ใกล้ธรรมชาติเหลือเกิน อันนี้เป็นความรู้สึกเป็นบรรยากาศ
ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้"
นอกจากนี้ นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ ยังพูดถึงประเด็นที่เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ชนชาติ
อเมริกันว่า "คงไม่ได้พูดตรงๆ อย่างเช่น ในยุคนั้นเมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกาสิ้นสุดลง คน
อเมริกันอพยพไปทางตะวันตกอีกระลอกหนึ่ง ก่อนหน้านั้นก็มีการอพยพไปบ้างแล้ว ซึ่งรวมทั้ง
ครอบครัวของลอร่าด้วย พอคนในป่าใหญ่เยอะขึ้น พ่อก็พาครอบครัวอพยพไปทางตะวันตก
ไปแสวงหาจับจองที่ดิน เพื่อจะปลูกบ้านทำไร่ไถนาและสร้างชีวิตใหม่ อย่างตอน 'บ้านเล็ก
ในทุ่งกว้าง' จะพูดถึงตอนที่ครอบครัวอพยพไปอยู่ในทุ่งกว้างซึ่งเป็นดินแดนของพวกอินเดียนแดง
จะมีการบรรยายถึงความค่อนข้างโหดร้ายของอินเดียนแดงในช่วงนั้น ซึ่งมันสะท้อนประวัติศาสตร์
อเมริกาในช่วงนั้น ว่าอเมริกายังคงมีอินเดียนแดงอยู่เยอะ ช่วงหลังถึงจะมีการจัดเขตให้คนอินเดียน
แดงอยู่โดยเฉพาะ
ที่สำคัญคือตอนที่อเมริกาขยายไปทางตะวันตก สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือทางรถไฟ ซึ่งมันจะ
เป็นการช่วยขนส่งทั้งผู้คนและสิ่งของไปทางตะวันตก มีตอนหนึ่งที่ครอบครัวนี้อพยพไปอยู่ใกล้ๆ
ค่ายสร้างทางรถไฟ และพ่อก็ไปช่วยสร้างทางรถไฟด้วย เพื่อจะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว และยัง
สะท้อนชีวิตสังคมของคนในยุคนั้นที่เริ่มเปลี่ยนจากชีวิตชนบทมาเป็นชีวิตในเมืองก็เห็นได้จาก
ครอบครัวนี้ พอหลังจากอพยพมาพอสมควรแล้ว ลูกโตขึ้น พ่อก็อยากจะให้ลูกได้รับการศึกษา
เลยต้องอยู่ในเมือง จะอพยพต่อไปอีกไม่ได้แล้ว พออยู่ในเมืองถึงจะได้ไปเข้าโรงเรียนและได้
เรียนหนังสือ อันนี้เป็นการสะท้อนการเปลี่ยนชีวิตจากชาวชนบทเป็นชาวเมือง และเป็นวรรณ
กรรมเยาวชนที่คิดว่าเด็กน่าจะอ่านได้สนุกทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะสำนวนแปลของสุคนธรส
จะทำให้เด็กได้รู้จักภาษาดี ว่าภาษาไทยดีๆ เขาใช้กันยังไง" นาคินทร์ กล่าว
เขากล่าวอีกว่า "ปัจจุบันบ้านของลอร่าได้กลายสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และยังมีหลายเมืองที
เดียวมีห้องสมุดที่ตั้งชื่อตามชื่อของลอร่า เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมัยที่ลอร่ายังมีชีวิตอยู่ เพราะเธอ
เขียนเรื่องนี้ตอนที่มีอายุมากแล้ว ซึ่งสถานที่ยังมีอยู่จริง แต่ตัวบ้านอาจจะไม่มีแล้ว ที่เป็นพิพิธ
ภัณฑ์ในปัจจุบันนี้สร้างจำลองขึ้นมาใหม่ ยกเว้นคือแห่งสุดท้ายที่เขาอยู่ในบั้นปลายและเป็น
บ้านที่เขาอยู่จริงๆ
แต่ที่วิสคอนซินจะเป็นเมืองแรกที่ลอร่าเกิดและอาศัยอยู่ ซึ่งปัจจุบันป่าใหญ่ที่ปรากฏ
ในเรื่องคงไม่มีให้เห็นแล้ว" นาคินทร์ กล่าว
-------------------------------------------
สุคนธรส หรือนามปากกาของ ม.ล.รสคนธ์ อิศรเสนา ผู้แปลวรรณกรรมเยาชนชุด 'บ้านเล็กในป่าใหญ่'
เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2460 จบการปริญญาโทจาก Kansas State University ประเทศ
สหรัฐอเมริกา และทำงานรับราชการโดยตลอด ตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ จนกระทั่งเป็นอา
จารย์สอนหนังสือ นอกจากนี้ยังแปลหนังสือภาษาอังกฤษประเภทนวนิยายซึ่งมีเค้าเรื่องจริงแบบอิง
ประวัติศาสตร์ โดยใช้นามปากกา 'สุคนธรส' และเป็นผู้แปลหนังสือ 8 เล่มแรกของหนังสือชุด 'บ้านเล็ก'
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2507 และได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้อ่าน
จนต้องพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง หลังจากนั้นได้แปลหนังสือในชุดนี้อีก 2 เล่ม คือ 'สี่ปีแรก' และ
'ตามทางสู่เหย้า' ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร 'ลลนา' ยุคที่ 'สุวรรณี สุคนธา' เป็นบรรณาธิการ
จากนั้นได้มีการจัดพิมพ์รวมเล่มอีกหลายครั้ง
นอกจากนี้ ม.ล.รสคนธ์ อิศรเสนา ยังเป็นพระสหายผู้หนึ่งของ 'ว. ณ ประมวลมารค' (พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต)
ซึ่งเคยเรียนมาด้วยกันครั้งอยู่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเมื่อเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อนร่วมชั้นซึ่งถนัดในการเขียนงานแปล อาทิเช่น ฐะปะนีย์ นาครทรรพ แม้นมาส ชวลิต และสุทธิลักษณ์ อำ
พันวงศ์ (ที่มา : นิตยสารโลกหนังสือ)
เวบไซด์อ้างอิง