รบกวนถามต่อถึง
ภบท5 ด้วยครับ ...
เห็นช่วงนี้มีออกมาขายกันมาก ...
จะเข้าข่ายผู้ซื้อเสียเปรียบเต็มประตูอีกหรือเปล่า ...

ภบท.5 ย่อมาจาก ภาษีบำรุงท้องที่ 5 เป็น แบบแสดงรายการที่ดิน ที่เจ้าของที่มีหน้าที่เสียภาษี ยื่นต่อ จนท. ( อบต. กำนัน ผญบ.)
เอกสารนี้ ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิใดๆ ถ้าซื้อขายกันด้วยใบนี้ เรียกว่าซื้อมือเปล่า กฎหมาย เจ้าหน้าที่ ไม่รับรอง
อยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้หน่อยครับ
ข้อมูลข้างต้นคิดว่าหลายท่านคงทราบอยู่แล้ว
แต่เห็นมีการซื้อขายกันอยู่ โดยบางรายก็ไปทำการซื้อขายกันต่อหน้ากำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
ขนาดที่ สปก. ที่เค้าว่าห้ามเปลี่ยนมือ ... ก็ยังเห็นซื้อ-ขายกัน ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆซะด้วย
อย่างแถวอ.พระแสง อ.เคียนซา เท่าที่รู้ ที่สวนยางกรีดได้แล้ว ... ว่ากันไร่ละไม่ต่ำกว่า 2 แสน
.......... ที่ถามนี่ แหะๆ ........... เพราะสนใจอยู่เหมือนกันครับ

ภบท ๕ คือ หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ครับ
การเก็บภาษีดังกล่าว อบต เทศบาล จะเก็บจากเจ้าของที่ทำประโยชน์ในที่ดิน
ไม่ว่าที่ดินดังกล่าวจะเป็นที่ว่างเปล่าซึ่งเอกชนสามารถครอบครองได้ ที่ น.ส ๓ รวมทั้งโฉนดก็ต้องเสียครับ
บางแห่ง ก็เก็บอย่างเดียว ไม่สนใจว่าผู้เสียภาษี จะเป็นเจ้าของแท้จริงหรืิอไม่
การซื้อขายที่ดินที่มีแต่ ภบท ๕ (ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่สามารถนำไปจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่สำนักงานที่ดินไ้ด้)
ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงทำการซื้อขายกันเอง ทำสัญญากันเอง
ถามว่ากฎหมายรับรองไหม ก็มีเรื่องเดียวที่กฎหมายรับรองก็คือ สิทธิครอบครอง
กล่าวคือ ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รวมถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์
แต่ไม่ใช่โฉนด ตั้งแต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก) ลงมา ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีเพียง "สิทธิครอบครอง" เท่านั้น
ซึ่งต่างจากโฉนด ที่ถือว่าเจ้าของมี "กรรมสิทธิ์"
ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง จึงสามารถโอนกันได้ โดยเจ้าของเดิมสละสิทธิครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้กับเจ้าของใหม่
เมื่อเจ้าของใหม่เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว คนนั้นคือเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย
แม้มิได้จดทะเบียนการซื้อขายต่อเจ้าหน้าที่ก็ตาม หากต่อมา มีใครเข้ามาบุกรุก ก็สามารถใช้สิทธิทางศาล ขับไล่ เรียกค่าเสียหายได้ครับ
ซึ่งต่างจากการซื้อขายที่ดืนที่มีโฉนด ส่งมอบการครอบครองอย่างเดียวไม่ได้
จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานที่ดินเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว ผู้ซื้อย่อมไม่ได้ความเป็นเจ้าของ (กรรมสิทธิ์)
แต่ถึงอย่างไร สิทธิครอบครองมีศักดิ์น้อยกว่ากรรมสิทธิ์ เพราะสามารถเสียสิทธิการครอบครองได้ง่ายๆ
เพราะที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง หากคนอื่นเข้ามาแย่งการครอบครองที่ดินเรา และหากเราไม่ฟ้องขับไล่ภายใน ๑ ปีนับแต่ถูกแย้งการครอบครอง
เราก็จะเสียสิทธิในที่ดินแปลงนั้นทันที
ซึ่งต่างจากที่ดินที่มีโฉนด คนที่จะแย่งต้องใช้เวลาครอบครองถึง ๑๐ ปีครับ ถึงจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
ถามว่าเสี่ยงพอๆกันหรือไม่ อย่างไร
ก็อาจมีบ้างครับ เช่น ที่ดินที่มีแต่ ภบท ๕ ที่ขายนั้น ตั้งอยู่ในเขตที่หลวง ที่ราชพัสดุ หรือเป็นที่ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้
หรือ ที่พบบ่อย ก็คือมีการเสียภาษีบำรุงท้องที่ซ้ำซ้อน เพื่อนำหลอกขาย พอเราซื้อจ่ายเงิน และจะเข้าไปทำประโยชน์ กลับถูกเจ้าของขับไล่ออกมาไม่มีชิ้นดี
แต่ยังไงก็น้อยกว่าซื้อที่ดินที่อยู่ในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายครับ
