ขออนุญาตเพิ่มเติมครับ ที่ว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้น กฎหมายห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น
ในกรณีที่บุตร มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบุพการี สามารถฟ้องได้ครับ
ในกรณีมารดาไม่มีปัญหาเพราะไม่ว่ามารดาจะจดทะเบียนสมรสกับบิดาหรือไม่ ไม่สำคัญ บุตรไม่อาจฟ้องมารดาทั้งในคดีแพ่งและอาญาได้
เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ ให้ถือว่าเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น
แต่ในกรณีบุตรจะฟ้องบิดานั้น การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา แยกได้ออกเป็น ๔ กรณีดังนี้
(๑) บุตร เกิดในขณะที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
(๒) บุตร เกิดในขณะที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ภายหลังบิดามารดาจูงมือไปจดทะเบียนสมรส ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เกิด
(๓) บุตร เกิดในขณะที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ภายหลังบิดาไปจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร หรือ
(๔) บุตร เกิดในขณะที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ภายหลังมีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร
ดังนั้น ขณะบุตรยื่นฟ้องคดีนั้น หากไม่เข้าหรือไม่มีการดำเนินการ (๔) ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องถือว่าบุตรนั้น มิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา
และมีอำนาจฟ้องบิดาเป็นคดีได้ ไม่ต้องห้ามแม้แต่อย่างใดครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๔๗/๒๕๔๘ บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๒ ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้อง บุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีอาญาได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๖๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๑๙/๒๕๔๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่า ห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น โจทก์เป็นบุตรที่จำเลยรับรองแล้ว แต่จำเลยและมารดาโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยต่อเมื่อ จำเลยและมารดาโจทก์สมรสกันภายหลัง หรือ จำเลยได้จดทะเบียนว่าโจทก์เป็นบุตร หรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ เมื่อไม่มีการดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย