จากปัญหาเรื่องการใช้เวลานานและปัญหาการขอ ป.๓ ...... อ่านจากปัญหาของสมาชิกหลายๆท่าน
ผมขออนุญาตรวบรวมข้อมูลจากที่ได้มีผู้รู้ได้แสดงไว้และจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง แล้วหยิบประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อสนทนาเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น
เป็นกลางๆโดยไม่ต้องเจาะจงไปถึงเจ้าหน้าที่ หรือนายทะเบียนฯท่านใดโดยปราศจากหลักฐาน
ขอเรียนเชิญให้ความรู้ความเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันนะครับ....... ในความเข้าใจของผม
ในแต่ละจังหวัดจะมีระเบียบของจังหวัดในการพิจารณาอนุญาตฯซึ่งใช้ต้นร่างเดียวกันของกรมการปกครอง
มาเป็นแนวทางให้นายทะเบียนฯแต่ละท้องที่ใช้ปฏิบัติ ส่วนกรุงเทพฯจะมีกรอบเวลาที่ต่างไปบ้างเล็กน้อย
แก้ไขเพิ่มเติม --- ปัจจุบัน มีคู่มือปฏิบัติงานอาวุธปืน พ.ศ. ๒๕๔๘ (๓ เล่ม) โดยกรมการปกครอง เป็นแนวทางให้นายทะเบียนฯปฏิบัติบทบาทของเราๆในฐานะผู้ขออนุญาตฯ.....ก็คือยื่นคำร้องป.๑ให้ได้....
และควรมีหลักฐานการรับเอกสาร อาจจะเป็นใบรับ/ใบนัด หรือเลขที่รับหนังสือประจำวัน
หรือทำสำเนาคำร้องป.๑ ให้เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องลงนาม/ลงวันที่ที่รับไว้ เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิง
ซึ่งหลังจากรับคำร้องป.๑ของเราแล้ว ถ้าว่าตามแนวทางระเบียบกรมการปกครอง นายทะเบียนมีหน้าที่ที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน (กทม. ๔๕ วัน)แก้ไขเพิ่มเติม --- ทางอำเภอมีหน้าที่ในการจัดทำแผนภูมิแสดงขั้นตอน วิธีการและระยะเวลาการดำเนินการรวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนของการออกใบอนุญาตที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายทะเบียนอาวุธปืน ติดประกาศไว้โดยเปิดเผยไว้ ณ ที่ทำการของสำนักงานทะเบียนอาวุธปืนท้องที่อำเภอนั้นๆ ท้องที่ไหนเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าใด ลองมองหาดูหรือสอบถามจนท. (ทั้งนี้ เป็นไปตามตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๗) ในขั้นตอนการรับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องรับคำร้อง จะปฏิเสธหรืออ้างอย่างใดไม่ได้ ทราบมาว่าในบางพื้นที่ก็มีการไม่รับคำร้อง อ้างว่าให้คุยกับนายฯก่อน
บางพื้นที่ถึงขั้นต้องแจ้งความว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ยอมรับหรือทำลายคำร้อง
ในความเป็นจริงถ้าผู้ขอฯได้เตรียมหลักฐานเอกสารที่มีสาระสำคัญมาครบถ้วนตามระเบียบแล้ว เจ้าหน้าที่ควรต้องรับเอกสารและคำร้องป.๑ไว้
ถ้าจะปฏิเสธก็ย่อมได้ แต่ก็ควรให้เขียนเป็นลายลักษณอักษรว่าปฏิเสธการรับคำร้องด้วยเหตุผลใด
อย่างไรก็ตามนายทะเบียนฯอาจมีหนังสือเรียกให้ผู้ขอฯแสดงหลักฐาน/เพิ่มเติมอีก หรืออาจให้ชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งผู้ขอฯก็ควรจัดหา/ชี้แจง
เพราะการหาข้อเท็จจริงเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทางปกครอง เพื่อให้นายทะเบียนฯมีข้อมูลครบถ้วน
เมื่อยื่นคำร้องแล้วก็รอผลการพิจารณา
ถ้านายทะเบียนฯยังไม่พิจารณาสั่งอนุญาต(หรือไม่อนุญาต) ให้แล้วเสร็จตามเวลา ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือสอบถามใน ๒ หัวข้อ คือ
๑/ การออกใบ ป.๓ ได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด
๒/ อำเภอได้ออกระเบียบว่าด้วยขั้นตอน และระยะเวลาปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานทะเบียนอาวุธปืนตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ไว้หรือไม่ หากไม่ได้ออก เหตุใดจึงไม่ออก หากออกไว้แล้ว การออกใบ ป.๓ ตามข้อ ๑ เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่
ถ้านายทะเบียนฯไม่ตอบ หรือตอบแบบไม่ควรตอบ หรือทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีทางเร่งรัดอย่างอื่น จะฟ้องศาลปกครองก็ได้ ว่านายทะเบียนฯปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า
ขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนฯพิจารณาให้แล้วเสร็จในเวลาตามที่ศาลกำหนด
การพิจารณาของนายทะเบียนฯนั้น บางท่านก็ตีความว่าตัวมีอำนาจการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้
แต่โดยหลักแล้ว การใช้ดุลพินิจทางปกครอง หมายถึงการพิจารณาว่าหลักฐานที่ยื่นประกอบการขออนุญาตถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ไม่ใช่ว่าผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว นายทะเบียนฯจะมีอำนาจเหนือกฎหมาย โดยการใช้ดุลพินิจว่าจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้
แบบที่ข้าราชการฝ่ายปกครองบางท่านเข้าใจผิดกันอยู่
ถ้านายทะเบียนฯอนุญาต ออกใบอนุญาตป.๓ แล้วเราก็นำใบป.๓ไปซื้อไปโอนรอป.๔ต่อไป ตอนนี้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว แม้ป.๔นายทะเบียนฯจะยังออกไม่แล้วเสร็จ
ซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้ ว่าการได้รับป.๓คือการได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้ว จึงไม่น่ากังวลเรื่องล่าช้าของขั้นตอนการออกป.๔เท่าใดนัก
แต่
ถ้านายทะเบียนฯปฏิเสธการออกใบอนุญาตป.๓ ก็ต้องทำเป็นหนังสือแจ้งมา(ถ้าเกิดนายทะเบียนฯไม่อนุญาต แต่บอกด้วยปากเปล่า อันนี้เราต้องก็ทำหนังสือร้องขอให้นายทะเบียนฯออกคำสั่งมาเป็นหนังสือ)
คำสั่งปฏิเสธการออกใบอนุญาตซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งต้องมีเนื้อหาสมบูรณ์ให้ได้ทราบว่านายทะเบียนให้ดุลยพินิจอย่างไรที่ไม่อนุญาต
ผู้ขอฯก็จะได้ดูว่าชอบด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลยพินิจหรือไม่
ถ้าเห็นว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ขอฯก็สามารถใช้สิทธิตามมาตรา๖๓ ของพ.ร.บ.อาวุธปืนฯซึ่งกำหนดไว้ว่า
มาตรา ๖๓ ถ้านายทะเบียนท้องที่ปฏิเสธการออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตอาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการปฏิเสธเป็นหนังสือ คำอุทธรณ์ให้ยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ และให้นายทะเบียนเสนอคำอุทธรณ์นั้นต่อรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตเมื่อผู้ขอฯยื่นคำอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่านนายทะเบียนฯแล้ว นายทะเบียนฯอาจฟังคำโต้แย้งแล้วเปลี่ยนใจมาอนุญาตก็ได้ ซึ่งก็น่าจะอยู่ในกรอบเวลาให้คิดอยู่สัก๑เดือน ไม่งั้นก็ต้องส่งเรื่องให้รัฐมนตรีฯวินิจฉัยอุทธรณ์ ถึงตรงนี้อีกภายใน๑เดือนก็ควรรู้ผลว่ารัฐมนตรีฯวินิจฉัยอย่างไร
ถ้ายื่นอุทธรณ์แล้วโดนดองเรื่องก็ควรทำหนังสือสอบถามไปที่นายทะเบียนฯอีก
ถ้านายทะเบียนฯไม่ตอบ หรือตอบแบบไม่ควรตอบ ตรงนี้ก็อีกทีที่ฟ้องศาลปกครองก็ได้ ว่านายทะเบียนฯปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า (แถมอาจได้พ่วงว่ารัฐมนตรีฯปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไปด้วย) ขอให้ศาลสั่งให้พิจารณาให้แล้วเสร็จในเวลาตามที่ศาลกำหนด
มาถึงการพิจารณาคำอุทธรณ์ ถ้ารัฐมนตรีฯวินิจฉัยเห็นตามนายทะเบียนว่าไม่อนุญาต ก็ควรต้องมีรายละเอียดแสดงเหตุผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่แจ้งชัด
เพื่อเราจะได้พิจารณาเช่นกันว่าถูกต้องหรือไม่
ถ้าเห็นว่าข้อใดส่วนใดไม่ถูกต้องก็จะได้จับประเด็นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป แต่ถ้ารัฐมนตรีฯสั่งยกอุทธรณ์ ไม่อนุญาต โดยไม่แสดงเหตุผล ก็ไม่ต้องห่วง อันนี้ยิ่งดีเพราะเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องเสียแต่ต้นแล้ว ยิ่งชี้ต่อศาลได้ง่าย
ต้องขอทำความเข้าใจว่า การฟ้องศาลปกครอง เป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้น และขอให้ศาลมีคำบังคับ
กรณีนี้จึงเป็นการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีฯและนายทะเบียน และขอให้ศาลออกคำบังคับให้นายทะเบียนฯ
ออกป.๓ให้ผู้ขอฯปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย (หมายเหตุ :- ขอแก้ไข....ศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้นายทะเบียนฯทำตามกฎหมาย...มักจะไม่สั่งเป็นการเจาะจง)
ไม่ได้เป็นการฟ้องร้องกล่าวโทษข้าราชการ/เจ้าพนักงานของรัฐ
ข้าราชการที่มีวิสัยทัศน์ จะเข้าใจว่าการฟ้องศาลปกครองจะทำให้เกิดบรรทัดฐาน เพราะกรอบของระเบียบราชการบางส่วนบังคับให้ข้าราชการต้องกระทำการในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกฏหมาย แต่ก็มีข้าราชการอีกบางส่วนที่ไม่กล้ารับกับการถูกฟ้องหรือการแพ้คดีปกครอง
มองว่าเป็นความเสื่อมเสียต่อตนเองหรือภาพพจน์ของหน่วยงาน เพราะแนวคิดว่าตนเป็นผู้ปกครอง
จึงมีการตีรวน/เบี่ยงประเด็นอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้คดีไปสู่ศาล
คนจะฟ้องศาลปกครอง ต้องมุ่งมั่นและตั้งใจแล้ว ว่าจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคม เพราะกรอบเวลาในศาลปกครองอาจต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปี
เพื่อให้ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้แสดงหลักฐานเหตุผล และศาลก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ให้เกิดความเป็นธรรม
ขอออกตัวว่าไม่ได้มาเชียร์ให้เป็นปฏิปักษ์กับนายทะเบียนฯ เพียงแต่อยากสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิโดยชอบในการมีและใช้อาวุธปืน
และให้ถูกต้องเที่ยงธรรมตามที่กฎหมายได้วางกรอบคุณสมบัติบุคคลไว้แล้วในมาตรา๑๓ของพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
ด้วยความมุ่งหวัง เพื่อส่งเสริมสิทธิให้คนดีมีอาวุธ และ ไม่ให้อาวุธปืนนั้นตกไปยังบุคคลบางจำพวก
..ที่ไม่สมควรจะให้มีอาวุธปืนนั้นได้
ถึงตรงนี้ ใครมีปัญหามีความคับข้องใจ แล้วถามแกมบ่นกันเข้ามา ก็คงต้องเลือกวิธีการ เพราะแต่ละบุคคลก็่มีสถานะหรือภูมิหลังแตกต่างกัน..
ความคิดแตกต่างกัน...ก็ย่อมมีวิธีการที่แตกต่างกัน
ดังนั้นใครจะไปกราบกรานอ้อนวอน....ไปใช้เงินจ้างร้าน....ไปหาคนมีอำนาจมาช่วย ....หรือจะย้ายบ้านหนี
...
หรือจะถอดใจโทษตัวเองว่าเกิดมาวาสนาน้อย
. ก็แล้วแต่ใจกันครับ
ขออภัย...เข้ามาแก้ไข...ไปสอบค้นระเบียบมา....ขั้นตอนของส่วนภูมิภาค ... เขียนว่า "นายทะเบียนท้องที่รับคำขอและพิจารณาหากอนุญาตออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.๓) หากไม่อนุญาตแจ้งผู้ขอทราบ
๑๕ วัน"
ขออภัยอีกที...ขอแก้ไขอีกครั้งตามข้างล่างนี้ครับ
ขอขอบคุณสมาชิกที่ร่วมสู้ ฟ้องศาลปกครองเรื่องนายทะเบียนฯ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า
ขออัพเดทข้อมูลที่ทราบมาเมื่อเมื่อต้นเมษา ๕๓ นี้ .... กรมการปกครองตอบศาลว่า.........
.......ขอเรียนว่า กรมการปกครองได้ตรวจสอบข้อกฎหมาย/ระเบียบ/คำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติราชการเพื่อประชาชนเกี่ยวกับงานทะเบียนอาวุธปืนแล้วปรากฏว่า กระทรวงมหาดไทยมิได้มีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนเกี่ยวกับงานทะเบียนอาวุธปืนแต่อย่างใด และในกรณีที่มีผู้มายื่นคำร้องขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน นายทะเบียนอาวุธปืนประจำท้องที่จะต้องถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ เกี่ยวกับระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตหรือการไม่อนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน......
ว่าตามนี้ก็ดีครับ.....เพราะต้องตอบภายใน ๑๕ วันตามมาตรา ๓๘ .......
มาตรา ๓๗ ในการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนหรือติดต่อประสานงานในระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ให้ส่วนราชการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานแต่ละงานและประกาศให้ประชาชนและข้าราชการทราบเป็นการทั่วไป ส่วนราชการใดมิได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานใดและ ก.พ.ร. พิจารณาเห็นว่างานนั้นมีลักษณะที่สามารถกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จได้ หรือส่วนราชการได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จไว้ แต่ ก.พ.ร.เห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร ก.พ.ร.จะกำหนดเวลาแล้วเสร็จให้ส่วนราชการนั้นต้องปฏิบัติก็ได้
ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะต้องตรวจสอบให้ข้าราชการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๘ เมื่อส่วนราชการใดได้รับการติดต่อสอบถามเป็นหนังสือจากประชาชนหรือจากส่วนราชการด้วยกันเกี่ยวกับงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ที่จะต้องตอบคำถามหรือแจ้งการดำเนินการให้ทราบภายในสิบห้าวันหรือภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๓๗