เรื่องป.12นี้ขออนุญาตร่ายยาวอีกสักครั้งในฐานะมีประสบการณ์เคยขอเคยได้มาบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านที่สนใจ และขอให้ผู้รู้อีกหลายๆท่านในเวปนี้ช่วยแก้ไขหากตอนใดผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป
เดิมทีการพกพาไม่มีข้อห้ามตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาเริ่มเอาตอนปี 2519 มีมาตรา 8 ทวิ เพิ่มเติมออกมาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ห้ามพกพาเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตเป็นตามแบบป.12 ก็เลยเรียกง่ายๆกันว่าป.12 เรื่อยมา
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตไว้ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับเขตจังหวัดนั้นๆ และอธิบดีกรมตำรวจ สำหรับเขตกรุงเทพฯและทั่วราชอาณาจักร
การอนุญาตในเขตจังหวัดโดยผวจ. กระทรวงมหาดไทยก็ได้มีระเบียบของตน ซึ่งผมขอไม่กล่าวถึง เพราะไม่เคยขอแบบเขตจังหวัด
ขอกล่าวถึงในส่วนการขอแบบทั่วราชอาณาจักร ว่า ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็ยื่นคำร้องที่นายทะเบียนท้องที่คือนายอำเภอ เพื่อให้ส่งเรื่องมาให้เจ้าพนักงานคืออธิบดีกรมตำรวจตามขั้นตอน หรือผู้ขอจะมายื่นคำร้องเองโดยตรงเลยก็ได้ ที่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้คือกองทะเบียน กรมตำรวจ ลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน กองทะเบียนจะขึ้นต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอีกที
เจ้าหน้าที่ฯคืออธิบดีกรมตำรวจ กำหนดให้กองทะเบียนเป็นแม่งานเรื่องป.12 และจะมอบหมายให้ผู้ช่วยผบ.ตร.ท่านหนึ่งปฏิบัติราชการแทน เป็นผู้เซ็นใบอนุญาต
กรมตำรวจ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ได้มีการกำหนดระเบียบวิธีการในการพิจารณาอนุญาต ซึ่งได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆในแต่ละช่วงเวลา จนถึงปี 2546 ได้มีการรวบรวมสังคายนามาเป็นระเบียบฉบับล่าสุดฉบับเดียว โดยยกเลิกคำสั่ง/ระเบียบเก่าๆไป
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีมาตรา 8 ทวิ ในปี 2519 จนปัจจุบัน การอนุญาตป.12 ทางฝ่ายการเมืองได้เข้าแทรกแซงอยู่พอสมควร เคยมีการรวบอำนาจโดยรัฐมนตรีไปสั่งการเองในบางยุค แล้วมีข้อครหาเรื่องพวกพ้องผลประโยชน์ จนที่สุดก็ต้องคืนมาให้เป็นไปตามปกติตามขั้นตอนกฎหมาย จนกระทั่งมาถึงยุครัฐบาลปัจจุบัน รัฐมนตรีมหาดไทยก็มารวบอำนาจอีกครั้งตั้งแต่ปี 2546 จนปัจจุบัน
ระเบียบที่ใช้ในการพิจารณาฯที่ออกมาในแต่ละช่วงเวลา เจตนาเพื่อคัดกรองบุคคล แต่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ต้องสำแดงในเรื่องต่างๆ เช่นอาชีพ หน้าที่การงาน หลักทรัพย์ ต้องมีหลักฐานเอกสารแสดง เอกสารก็ต้องถูกต้องครบถ้วน ถ้าต้องรับรองเอกสาร ก็ต้องถูกต้องทั้งเอกสารและทั้งอำนาจหน้าที่ผู้ออกเอกสารด้วย เจอรายการตามระเบียบพวกนี้เข้า ผู้ขอก็ถอดใจไม่ยื่น หรือถอยกลับไปเพราะเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องไม่รับไว้ ให้ผู้ขอไปเตรียมเอกสารให้พร้อมเสียก่อน
ขอให้ความเห็นว่า ระเบียบฯที่กำหนดขึ้นบางข้อเช่น ในส่วนของบุคคลธรรมดา กำหนดอายุ กำหนดให้แสดงเงินฝากหรือพันธบัตรเจ็ดหลักขึ้น เป็นต้น ยังน่าติดใจว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่
ป.12จึงถูกมองว่าเป็นของอภิสิทธิชน เฉพาะคนมีอำนาจเงิน มีอำนาจราชการ มีอำนาจการเมือง ทั้งที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิปกป้องชีวิตสวัสดิภาพโดยเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามผมเห็นด้วยในระเบียบส่วนที่ต้องมีการคัดกรองสอบประวัติและพฤติการณ์จากทะเบียนประวัติอาชญากร จากตร.ท้องที่ ตร.สันติบาล ตร.กองปราบ และป.ยาเสพติด ให้ครบถ้วนชัดแจ้ง สะอาดเอี่ยม เพื่อไม่เป็นการติดอาวุธให้คนชั่ว
ความผิดฐานพกพาอาวุธ เป็นความผิดต่อรัฐ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งที่ผ่านมาศาลมักลงโทษสถานเบาเพียงปรับหรือรอลงอาญาในโทษจำคุก แต่จะลงโทษขั้นสูงถ้าไปมีความผิดนี้ร่วมกับความผิดอาญาอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเทียบความเสี่ยงการตกเป็นผู้ต้องหากับความยุ่งยากให้การเตรียมเอกสาร-การยื่นขอ-การสอบประวัติ ดังนั้นคนทั่วไปจึงไม่อยากดิ้นรนไปขอป.12 โดยพกพาตามสถานะกาีรณ์ความจำเป็นของตัวเอง ถ้าถูกกล่าวหาจับกุมก็ไปยอมศิโรราบให้กับศาลเตี้ยแทน น่าอดสูใจ
ผมยังอยากขอให้ทุกท่านที่มีความจำเป็นต้องมีอาวุธติดตัว ที่พกไปแบบไม่มีป.12 ไปยื่นขอ ไปแสดงตนว่าประสงค์ขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าหลักฐานไม่ครบตามระเบียบก็ยืนยันยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการพิจารณา ถ้ามีการสั่งไม่อนุญาตเพราะผิดระเบียบไม่มีเงินล้าน ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ก็จะได้มีโอกาสฟ้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนระเบียบคำสั่งที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมที่ขัดต่อสิทธิตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นประโยชน์กับสังคมและคนรุ่นหลังต่อๆไป
ลองนึกภาพว่าถ้าบุคคลประกอบสัมมาอาชีพ ผ่านการทดสอบทางจิต ผ่านการสอบความรู้ความเข้าใจการใช้อาวุธปืน เก็บประวัติอาวุธ-หัวกระสุน-ปลอกกระสุน และตรวจสอบประวัติบุคคลแล้วว่าไม่มีมลทิน เมื่อขอมา ก็ได้รับอนุญาตโดยเท่าเทียม สังคมติดอาวุธคนดี คนชั่วจะได้ไม่เหิมเกริม
ปัจจุบันมีคำสั่งมท. 335/2548 ต้องให้มท.1 อนุมัติเท่านั้นก็จริง แต่ไม่ได้ห้ามขอ ลองขอก่อน ถ้าไม่อนุญาต มท.1 ท่านก็ต้องมีเหตุผล ถ้าเหตุผลฟังยากก็ค่อยไปขอศาลปกครองเป็นที่พึ่งได้
ถ้าจำเป็นต้องพกพา ก็ควรไปยื่นขอป.12 ครับ