Harry Potter and the Goblet of Fire
ภาคนี้ เป็นภาคที่ยาวพิเศษ อ่านแล้วเหนื่อยมากค่ะกว่าจะจบ แต่ก็เป็นภาคที่เข้าใจว่าเขียนยาก เพราะว่าต้องเล่าหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ตั้งแต่การเป็นวัยรุ่นแตกเนื้อหนุ่มสุดขีด จนถึงความสัมพันธ์ของตัวละครที่เดิมเป็นเด็ก แต่ตอนนี้โตขึ้นมาและเริ่มมีอัตตา เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น จนถึงต้องสร้างโลกเวทย์มนตร์ที่กว้างใหญ่ขึ้น มีประเทศอื่นๆ และโรงเรียนเวทย์มนตร์อื่นๆ ด้วย
ในเรื่องนี้ JK Rowling พูดถึงความรู้สึกอิจฉาทีเกิดจากความไม่มั่นใจในตัวเองของคน ไม่ว่าจะในตัวแฮรี่ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หล่อที่สุด เด่นดังที่สุด หรือมีคนชื่นชมที่สุดแล้ว เพราะมีคู่แข่งที่ดีพอๆ กัน หรือไม่ก็ดีกว่า เช่น Viktor Krum ที่ดังด้าน Quidditch กว่า หรือ Cedric ที่หล่อกว่าแถมได้เป็นแฟนกับสาวที่แฮรี่แอบชอบอยู่ด้วย แม้แต่รอน เพื่อนสนิทของแฮรี่ที่แม้จะรักกันอย่างไรก็อดแสดงอาการอิจฉาไม่ได้ ไม่อิจฉาแฮรี่ก็อิจฉา Krum ฯลฯ อาการอิจฉานี้ เป็นเรื่องธรรมชาติของวัยรุ่น ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจ แฮรี่เอาชนะความรู้สึกนี้ได้ เพราะเป็นคนที่เข้มแข็ง แต่รอนจะลำบากกว่า เพราะใจอ่อนกว่า
แต่หัวใจหลักของเรื่องในภาคนี้ คือ เรื่องการรับมือกับชื่อเสียงและการเป็นวีรบุรุษ เพราะ Goblet of fire หรือถ้วยอัคคี ก็คือถ้วยรางวัลชนะเลิศอะไรสักอย่างที่สังคมยอมรับ
หนังสือเรื่องนี้มีความน่าสนใจตรงที่แสดงให้เห็นด้านลบของการมีชื่อเสียงด้วย โดยให้มีตัวละคร Rita Skeeter ที่คอยรายงานข่าวโคมลอยเกี่ยวกับแฮรี่ สร้างความวุ่นวายตั้งแต่ภาคนี้จนถึงภาคต่อๆ ไป
สำหรับเกร็ดที่น่าสังเกตก็คือ ภาคนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า quidditch ก็คือฟุตบอลในโลกมนุษย์นั่นเอง เพราะคุณ JK Rowling ก็เป็นคนอังกฤษ ซึ่งไม่เอาความบ้าฟุตบอลมาใช้เล่าเรื่องที่มีตัวละครเด็กผู้ชายก็คงจะแปลก ส่วนการที่โรงเรียนเวทย์มนตร์มีแค่สองโรงเรียน จากฝรั่งเศสกับบัลแกเรีย (?) ก้อน่าจะสะท้อนความจริงที่ว่า คนอังกฤษชอบล้อเลียนคนฝรั่งเศส (blame the germans and make fun of the french) เพราะสำหรับอังกฤษที่เป็นเกาะแล้ว เพื่อนบ้านยุโรปที่ใกล้ที่สุด และระดับบทบาทพอกัน ก็คือฝรั่งเศส (ดัดจริตน่าหมั่นไส้มากสำหรับคนอังกฤษ) ดังนั้น จะเขียนอะไรเชิงหยิกแกมหยอกก็ไม่ยาก

ส่วนเยอรมันนั้น อังกฤษเป็นคู่แข่งกับเยอรมันอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีควีนวิคตอเรีย (ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของ Kaiser Wilhelm II) เพียงแต่ว่าจะเอามาใช้เลยก็ดูไม่ขลัง เพราะโรงเรียนเวทย์มนตร์ในเยอรมันที่แสนจะสะอาดเป็นระเบียบโมเดิร์น คงเขียนออกมาแล้วไม่น่าเชื่อถือ (ทำเป็นโรงเรียนแข่งต่อรถอาจพอได้) นอกจากนี้ จะเป็นการขัดใจคนอังกฤษเล็กน้อย หากจะไปยกยอให้คนเยอรมันเก่งระดับโลก (เวทย์มนตร์) และกีฬา (quidditch) มากกว่าคนอังกฤษ เลยต้องเขียนให้เป็นนาย Krum จากบัลแกเรียแทน เพื่อถนอมน้ำใจอังกฤษที่แพ้ฟุตบอลเยอรมันอยู่บ่อยๆ และอังกฤษก็ช้ำใจประจำ (......ไม่ได้ว่านะค้า)

ส่วนตอนกีฬา Quidditch World Cup อ่านแล้วดูแล้วก็เหมือนกับบอลโลก บวกเทศกาล Glastonbury festival ที่เป็นคอนเสิร์ตฮิปปี้ใหญ่ของอังกฤษ ซึ่งก็สอดคล้องกับวัยของคนแต่งทีน่าจะผ่านยุค 60 ต่อเนื่อง 70

ภาพยนตร์ภาคนี้ ในแง่ของการกำกับศิลป์ ทำได้ดี เพราะว่า ทำออกมาตรงกับหนังสือในส่วนของการประลองยุทธต่างๆ ของแฮรี่ จะดูต่างไปหน่อยก็ตรงฉากเต้นรำ ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าสวยกว่านี้
นอกจากนั้น หนังสือภาคนี้ยังพูดถึงสิ่งที่ทำให้คนๆ นึงเป็นวีรบุรุษจริงๆ ซึ่งได้แก่การเสียสละเพื่อคนอื่น การเห็นใจคนอื่นและการแสดงความรับผิดชอบ เช่นตอนที่แฮรี่ยอมเสียเวลาไปช่วยน้องสาวเฟลอร์ เดอ ลากูร์ เพราะนึกว่าเธอจมน้ำตายไปจริงๆ จนตัวเองแพ้การแข่งขันกระโดดน้ำ หรือการที่แฮรี่พยายามที่จะพาศพของเซดริกกลับไปที่โรงเรียน แม้จะถูก Voldermort ไล่ทำร้าย