ขอบคุณค่ะคุณ Ro@d ดีใจจังค่ะ มีคนตามอ่านด้วย เย้

ด้วยมีกำลังใจจากคนอ่านกระทู้ ก็ขอชวนคุยถึง Harry Potter and the Deathly Hallows ภาคสุดท้ายแล้วกันนะคะ เพราะเป็นภาคที่มีอะไรน่าสนใจพอสมควร
ภาคนี้ เป็นตอนที่แฮรี่เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องต่อสู้ในโลกเวทย์มนตร์ตามลำพังแล้ว พอขาดครูใหญ่ดัมเบิลดอร์ ขาดซีริอุส แม้กระทั่งนกฮูกเฮ็ดจ์วิคก็จากไป (คนแต่งนี่ก็ขยันกำจัดตัวละครจริงๆ) ในภาคนี้ เนื้อเรื่องรวดเร็วมากและมีการผจญภัยตื่นเต้นมากที่สุดในทุกภาค มีทั้งการตามล่า ไล่ล่า ทั้งในโลกมนุษย์และโลกเวทย์มนตร์ โดย JK Rowling บรรยายฉากสถานที่ต่างๆ ได้สมจริงมากขึ้นเยอะ (คงจะรู้แล้วว่าต้องสร้างเป็นภาพยนตร์เลยต้องทำให้ละเอียดๆ ) ภาคนี้ จะรู้สึกได้เมื่ออ่านว่า แฮรี่เป็นวัยรุ่นที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอสมควร และมีความเป็นผู้นำ เข้มแข็ง กล้าหาญ โดยยังคงความดีในจิตใจไว้ได้

สิ่งที่เด่นในเรื่องนี้คือ Deathly Hallows ซึ่งเป็นนิทานปรัมปราในโลกเวทย์มนตร์ที่กล่าวถึงของวิเศษสามอย่างของพ่อมดสามพี่น้อง (ที่ต่อมาก็พบว่ามีอยู่จริงๆ) นิทานเล่าว่า มีพ่อมดสามพี่น้องที่วันหนึ่งไปเจอพญามัจจุราชและสามารถเอาชนะได้ พญามัจจุราชก็เลยบอกให้ขอของแลกเปลี่ยนได้ คนนึงขอคทาวิเศษให้เอาชนะทุกอย่างได้ เพราะคิดว่าสามารถจะเอาชนะความตายได้หากต้องเจอกันอีก แต่ก็กลายเป็นว่า คทานั้นมีชื่อเสียงมากทำให้คนมาลอบฆ่าเขาเพื่อชิงคทา คนต่อมาขอสิ่งที่ชุบชีวิตความตายได้ เพราะคิดว่าสามารถจะเอาชนะความตายได้เช่นกัน ความตายก็เลยให้หินวิเศษ หรือ Sorcerer's stone (ภาคแรกของแฮรี่ พอตเตอร์) แต่เมื่อพยายามชุบชีวิตหญิงคนรักก็พบว่า เมื่อเธอฟื้นกลับมาเธอก็ไม่ได้มีชีวิตชีวาเหมือนเดิมแล้ว ท้ายที่สุดตัวเองก็เศร้าหมองและตายไปในที่สุด ความตายก็เอาเขาไปได้อยู่ดี คนสุดท้ายฉลาดที่สุด ขอสิ่งที่ทำให้ตัวเองล่องหน ก็เลยได้ผ้าคลุมวิเศษล่องหน (ของมรดกตกทอดของแฮรี่นั่นเอง) เพราะขอเสี่ยงหลบไปหลบมาจากความตายดีกว่า ปรากฏว่าคนสุดท้ายคือคนที่ใช้ชีวิตคุ้มค่าที่สุด ได้ท่องเที่ยวผจญภัยมากที่สุด และสามารถใช้ชีวิตได้นานจนกระทั่งพอใจ เมื่อเขารู้สึกว่าใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว จึงได้เก็บผ้าวิเศษและกอดคอเฮฮาเดินไปกับพญามัจจุราช เมื่อความตายมาเยือน

นิทานเรื่องนี้ น่าจะสื่อถึงหัวใจของหนังสือชุดแฮรี่ พอตเตอร์ ได้ใกล้ที่สุด โดยเป็นการพูดถึงการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า คทาในนิทานเป็นเรื่องของอำนาจ ซึ่งคนที่แสวงหาโดยคิดว่าจะทำให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตอยู่ได้นานๆ อย่างมีความสุข แต่ที่จริงแล้วอำนาจก็เป็นสิ่งที่นำภัยมาให้ตนเอง หากใช้ในทางที่ผิด (คทานี้กลายเป็นของดัมบัลดอร์ในที่สุด ก็เลยสงบลงไม่ได้นำภัยมาให้ผู้ใช้อีก) หินวิเศษชุบชีวิตก็คือ การพยายามจะอยู่กับอดีต การยึดติด ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ช่วยนำความสุขมาให้เราอยู่ดี แต่จะนำมาซึ่งความโศกเศร้า เพราะสิ่งที่เสียไปแล้วก็ไม่มีใครนำกลับมาให้ได้เหมือนเดิม ดังนั้น ผ้าคลุมวิเศษ ซึ่งทำให้คนเราเป็นอิสระ จะไปไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องยึดติดกับอะไร ไม่ต้องเป็นคนสำคัญโด่งดังพิเศษ (ล่องหนในแง่งานวรรณกรรมมักมีนัยหมายถึง การไม่มีตัวตนทางสังคม เหมือนเรื่อง The Invisible Man ของ Ralph Elison นักเขียนอเมริกันยุค 1952)
การผจญภัย การไปค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตคุ้มค่าที่สุดแล้ว

ตัวละครอย่างแฮรี่และโวลเดอร์มอร์ ก็มองนิทานเรื่องนี้ต่างกัน (ตามบุคลิกที่ต่างกัน) แฮรี่กับเพื่อนๆ ประทับใจเรื่องของผ้าคลุมวิเศษ และรู้ได้เองว่า ครูใหญ่ดัมเบิลดอร์อยากให้ตนตามหาของวิเศษชิ้นไหนในนิทานเรื่องนี้ ในขณะที่โวลเดอร์มอร์ ซึ่งอยากดังอยากชั่วร้ายแต่เด็ก ก็พุ่งหาทั้งหินวิเศษ และทั้งคทาวิเศษ เพราะผ้าคลุมวิเศษที่ทำให้ตนล่องหนนั้น ไม่เจ๋งพอกับอัตตาตัวเอง (ก็นึกถึงนักการเมืองไทยใครสักคนอีกนะแหละว่าไหมคะ อิอิ)

จุดจบของตัวละครทั้งสองเป็นอย่างไร คงจะไม่เล่า (เผื่อท่านสมาชิกยังไม่ได้อ่าน) แต่ก็คงบอกได้ว่า นอกจากความดีในใจจะทำให้แฮรี่ประสบความสำเร็จแล้ว การมองโลกและความเข้าใจโลกของแฮรี่ ก็สำคัญด้วย

นอกจากนั้น หัวใจของหนังสือภาคนี้อีกอย่างคือเรื่องของการเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นดัมบัลดอร์ ครูในโรงเรียนเวทย์มนตร์ หรือ ตัวละครใน order of phoenix หรือแฮรี่ ต่างก็ต้องเสียสละไม่มากก็น้อยในการต่อสู้กับความชั่วร้าย แฮรี่เองถือเป็นตัวละครที่เสียสละมากที่สุด โดยยอมตาย เพื่อจะได้สามารถสังหารโวลเดอร์มอร์ (แม้ฉากต่อสู้ตอนนี้จะบรรยายเหตุผลได้งงๆ หน่อย) ซึ่งอารมณ์ตอนนี้เหมือนกับการที่คนเราตระหนักถึงความรับผิดชอบของเราอย่างแท้จริง และมีความกล้าหาญในใจมากพอที่จะเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบที่มีอยู่ โดยไม่กลัว ไม่หวั่นสิ่งใดแม้กระทั่งความตาย (โดยส่วนตัว ดิฉันอ่านดูแล้วก็เกือบจะรู้สึกได้ว่า JK Rowling อาจไปแอบนั่งสมาธิแบบพุทธมาจนเกิดความสงบ และปลงชีวิตได้จนเอาอารมณ์การปล่อยวางมาเขียนให้แฮรี่ในตอนนี้ได้) ความกล้าหาญเช่นนี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีได้ทั้งสำหรับเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่อ่าน แม้ว่าศัตรูของเราจะไม่ใช่พ่อมดโวลเดอร์มอร์ก็ตาม
นอกจากนี้ ในภาคนี้ ก็มีแง่มุมมองที่น่าสนใจในเรื่องความแตกต่างของพี่น้อง ซีริอุสกับ RAB ที่แม้จะบุคลิกต่างกัน มีมุมมองการเมืองที่ต่างกัน (คนละขั้วประมาณพรรคมารกับพรรคธรรมะ) แต่เนื้อเรื่องก็แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างไม่ได้ทำให้มีใครเป็นผู้ร้ายเต็มตัวจนคบไม่ได้ เพราะอย่าง RAB แม้จะไปหลงไหลกับโวลเดอร์มอร์ในตอนแรก แต่ก็เป็นคนที่มีเมตตากับ Kreacher ในบ้าน หรือเป็นลูกที่รักพ่อรักแม่ (เป็นความดีอย่างหนึ่งก็ว่าได้) ต่างกับซีริอุสที่เห็นว่า Kreacher ไม่มีหัวใจ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องปฏิบัติดีด้วย แม้จะเป็นคนดีที่ชื่นชมศรัทธาในสิ่งที่ดีแม้จะไม่มีใครในบ้านเห็นด้วยเลย

บทที่พูดถึงความเมตตาที่แฮรี่มีต่อ Kreacher ก็สำคัญ เพราะน่าจะใช้สอนเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่อ่านได้ว่า การเป็นฝ่ายหยิบยื่นความเมตตาให้กับคนอื่นก่อน ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และอาจทำให้ใครสักคนปฏิบัติต่อเราดีขึ้นด้วย และการทำดีต่อเนื่องย่อมดีกับเรา เช่นตอนที่แฮรี่ฝังศพ Dobby และเป็นที่ประทับใจของพวก goblins จนยอมให้ความช่วยเหลือแฮรี่

(เป็นการบอกว่า ความเมตตา ความดี เอาชนะใจศัตรูได้)
สำหรับดิฉันแล้ว ภาคนี้มีเนื้อหาอัดแน่นดี บทบางช่วงเยิ่นเย้อไปหน่อย เช่นตอนที่แฮรี่กับเพื่อนๆ หลงทางไปมาไม่รู้เรื่องในโลกเวทย์มนตร์เลย แต่รวมๆ แล้วก็ตื่นเต้นดี และถ้าให้เดาคนเขียนคงอยากเขียนเป็นเล่ม 7 และ 8 มากกว่า เพราะเนื้อหาเยอะเหลือเกิน ทำให้พอเข้าใจว่าทำไมภาพยนตร์ถึงต้องแบ่งเป็นสองช่วง
สำหรับเรื่อง locket ที่เก็บเสี้ยววิญญาณของโวลเดอร์มอร์ไว้ ก็เป็นสิ่งที่น่าจะให้แง่คิดในเรื่องของการปล่อยให้ความพยาบาทหรือความขุ่นเคืองใจ ขังอยู่ในใจนานๆ ว่า นอกจากจะทำให้จิตใจเศร้าหมองแล้ว จะทำให้เรากลายเป็นคนโกรธเกรี้ยว และร้ายกาจกับคนอื่นด้วย
โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันชอบบทส่งท้ายของเรื่องนี้พอสมควร เพราะไม่มากไม่น้อยเกินไปกำลังพอดี แม้จะออกร่าเริงไปนิด (เหมือนจะกะให้คนดูภาพยนตร์ยิ้มกับจอ) เนื้อหาเป็นอย่างไรไม่พูดถึงแล้วกันนะคะ เดี๋ยวจะทำให้หมดสนุกตอนภาพยนตร์เข้าโรงค่ะ
