หายไปนานหน่อย ต้องขออภัยค่ะ เพิ่งจะมีเวลานั่งลงหน้าคอมพิวเตอร์
สำหรับหนังสือ/ภาพยนตร์วันนี้ ที่จะพูดถึงคือ Alice Adventures in the Wonderland หรือเรียกสั้นๆ ว่า Alice in Wonderland ของ Lewis Caroll นะคะ
หนังสือเรื่องนี้ พูดถึงการผจญภัยของเด็กผู้หญิงชื่ออลิส ซึ่งไล่ตามกระต่ายขาวจนตกลงไปในโลกใต้ดินที่เป็นโลกอันแปลกประหลาดเต็มไปด้วยการผจญภัยตื่นเต้น ภูมิหลังของเรื่อง ก็คือ Lewis Caroll หรือสาธุคุณ Robinson Duckworth (ชื่อจริงของ Lewis Caroll) เล่าว่า วันหนึ่งแกได้พาเด็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของเพื่อน (? จำไม่ได้แล้ว) ของแกไปเที่ยว ระหว่างเที่ยวเล่นแกก็เล่านิทานที่กลายเป็นเรื่องนี้ (ในจำนวนเด็กๆ เหล่านี้ มีคนหนึ่งชื่ออลิส ด้วย) ว่ากันว่า เด็กๆ ชอบเรื่องที่สาธุคุณเล่ามากจึงขอให้เขียนเป็นนิทานให้ ซึ่งในที่สุดหลังจากสักพักแกก็ตกลงเขียนให้และวาดรูปประกอบให้ด้วย ต่อมา แกก็เลยตัดสินใจตีพิมพ์ด้วย หนังสือเล่มนี้ก็เลยดังระเบิดขึ้นมาเพราะว่าเป็นนิทาน/นิยายแฟนตาซีแบบที่ไม่มีมาก่อน และค่อนข้างจะแหวกแนวสนุกสนานเด็กๆ ก็ชอบที่จะได้จินตนาการและผู้ใหญ่ก็ชอบเพราะแปลกสนุกสนานดี

ในแง่ของการวิเคราะห์ หนังสือเล่มนี้สร้างความปวดหัวให้แก่นักเรียนวิชาวรรณกรรมวิเคราะห์พอสมควร เพราะความเป็นแฟนตาซีของเรื่องนั้น หากพยายามตีความเป็นในแง่ของจิตวิทยาก็ตีความได้กว้างและหลากหลายมาก โดยหากมองว่าเป็นการเขียนอย่างแฝงแนวคิดด้านจิตวิทยา ก็จะพบว่า เรื่องของอลิสจริงๆ แล้วสะท้อนการรับมือของเด็กกับการโตเป็นผู้ใหญ่ การรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง การรับมือกับอารมณ์ของคนอื่น ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตนเอง การเชื่อฟังสัญชาติญาณตัวเอง ฯลฯ นอกจากนั้น ก็เป็นการแสดงให้ผู้ใหญ่รู้ด้วยว่าเด็กๆ มองโลกของผู้ใหญ่อย่างไร ซึ่งสำหรับประเด็นหลังนี่ขอเล่าในตอนต่อไปนะคะ

- การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
นอกจากเรื่องที่อลิสมีปัญหากับการบังคับร่างกายให้เคลื่อนไหวอย่างใจแล้ว (ถ้าจำไม่ผิดมีปัญหาเรื่องเท้าไม่ยอมเคลื่อนไหวอย่างใจ และอลิสต้องคุยกับเท้าของตัวเอง) นอกจากนั้น การที่อลิสทานขนม Eat me ในโลกใต้ดินแล้วตัวใหญ่ลง และพอดื่มน้ำในขวด Drink me แล้วตัวเล็กลง จะมองว่าเป็นการสะท้อนความฝันของเด็กในเรื่องของการอยากตัวเล็กตัวใหญ่ได้อย่างใจก็ได้ (ใครเคยอ่านโดราเอมอนคงจำได้ว่า การย่อขนาดขยายขนาดมีอยู่บ่อยมาก) หรือจะตีความให้ลึกกว่านั้น ก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กในช่วงเป็นวัยรุ่นนั่นเอง

การกินขนม Eat me และอื่นๆ ในเรื่อง ก็แฝงนัยว่า การทานอาหารจะทำให้ร่างกายเติบโต เอาชนะภัยต่างๆ ได้ (ควีนโพธิ์แดง) เรื่องอาหารนี้ถือว่าสำคัญค่ะ ลองนึกถึงการกินอาหารของเด็กดูนะคะ ว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนชอบกินอาหารและคนที่ชอบกินก็ไม่ได้ชอบกินทุกอย่าง (พ่อแม่น้าอาทั้งหลายคงเคยมีประสบการณ์การหลอกล่อป้อนข้าว) ยิ่งเมื่อเริ่มโตเป็นวัยรุ่น เด็กผู้หญิงไม่ว่ายุควิคตอเรียนหรือยุคนี้ต่างก็พยายามลดน้ำหนัก เพราะกลัวไม่สวย (ตอนนี้ก็ยังมีข่าวนางแบบดารา ผอมขาดอาหารเป็นโรค anorexic)

ส่วนเค้กในตอนท้ายที่มีตัวละครอื่นๆ ปาใส่อลิส ซึ่งพอทานแล้วขนาดตัวลดลงก็ยิ่งย้ำว่า การกินอาหารจะทำให้ทุกอย่างกลับมาปกติดี สอดคล้องกับที่พูดไปแล้ว แต่การกินก็ต้องดูด้วยว่ากินให้พอดี เช่น ตอนที่อลิสไปบิเอาเห็ดมากัดแล้วตัวยืดไปมาอย่างแปลกประหลาด แต่มีเกร็ดให้น่าเสียดายว่า พอในยุค 60 คนวัยรุ่นฮิปปี้อังกฤษกลับนำเรื่องกินดื่ม เห็ดวิเศษ เค้ก (ยัดไส้กัญชา) และการโดดลงรูกระต่าย เป็นการพูดถึงอาการเมายา และพาลบอกว่าเป็นนิยายของขี้ยาไปเสียนี่

ส่วนที่การดื่มทำให้ร่างกายเล็กลง ซึ่งหากมองให้ลึก การดื่มในที่นี้ to drink ซึ่งในภาษาอังกฤษ หากใช้โดดๆ ก็มีความหมายรวมถึงการดื่มเหล้าได้อยู่แล้ว (ลองนึกถึงคำถามประเภท do you drink? ดูนะคะ ไม่ได้หมายความว่า ดื่มน้ำหรือเปล่า แต่หมายถึงดื่มเหล้า) การเล็กลงไม่ได้หมายถึงดื่มอะไรแล้วร่างกายหด แต่หมายถึงสติ และความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองจะลดลงหากดื่ม การดื่มเหล้าเมื่อดื่มแม้เล็กน้อยอาจปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระ (จากพันธะของโลกปัจจุบัน) ทำให้ท่องเที่ยวจินตนาการไปที่อื่นๆ ได้ (อลิสลอดประตูบานจิ๋วไปได้ เหมือนที่คนเมาบางคนเมาแล้วโม้สุดๆ หรือเดินเป๋ไปได้ทั่วซอย) แต่ก็ทำให้คนที่ดื่ม (อลิส) เปราะบางเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ ด้วย (ลองอ่านดูในช่วงที่อลิสตัวเล็กลงดูนะคะ คนอ่านจะรู้สึกลุ้นหนาวๆ ร้อนๆ แทน)

นอกจากนี้ การตัวใหญ่ขึ้น/เล็กลงก็เกี่ยวกับหัวใจของเรื่องที่เกี่ยวกับการเป็นวัยรุ่นด้วย เพราะหากใครยังจำได้ เมื่อเป็นวัยรุ่นแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว ความสูงที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ที่ขัดแย้งกับความมั่นใจในตัวเองที่หดหาย (จะด้วยสิวหรืออะไรก็ตามแต่) ก็เป็นสิ่งที่ว้าวุ่นในใจวัยรุ่นทุกคน ถ้าถามว่าทำไมอลิสถึงต้องกิน และดื่มให้ตัวขยาย/หด ทำไมไม่เป็นหวีผมหรือแปรงฟันแล้วตัวขยาย/หด นอกจากแนวอธิบายในข้างบนแล้ว ก็อาจจะด้วยว่า Lewis Caroll ด้วยความที่เป็นสาธุคุณก็อดไม่ได้ที่จะใช้เรื่องของการทานการดื่ม จากพิธีรับศีลมหาสนิท (Communion) เป็นสัญลักษณ์ของการพูดถึงการเปลี่ยนแปลง/การก้าวผ่านจากเด็กเป็นผู้ใหญ่

เพราะในศาสนาคริสต์ เด็กจะรับศีลมหาสนิท เพื่อยืนยันในการเชื่อในพระเจ้าตอนวัย 5-6 ขวบ (ทานขนมปังเสกซึ่งแทนร่างกายพระเยซู และในบางกรณีก็จิบไวน์ ซึ่งแทนพระโลหิตพระเยซู ถือเป็นการรับพระเจ้าเข้ามาสู่ในตัว) แสดงถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณด้วย
- การรู้จักตนเอง/การรับมือกับอารมณ์ของตนเอง
ในหนังสือเรื่องนี้ อารมณ์ที่อลิสแสดงจะเป็นอารมณ์/ความคิดที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ซื่อบริสุทธิ์อยู่มากเหมือนเด็ก (ที่ยังไม่แก่นแก้วก๋ากั่นคลั่งไคล้เกาหลี) การร้องไห้ตอนเปิดฉากก็แสดงให้เห็นเหมือนกันถึงอารมณ์ความกลัว ความหวาดหวั่นในใจของเด็กที่ต้องเผชิญหน้ากับโลกข้างหน้าที่ไม่รู้จัก พอๆ กับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่นที่โตไปก็จิตใจอ่อนไหวหวั่นไหวไปมาง่าย
หนังสือเรื่องนี้ พูดถึงความสับสนในตัวตนของตัวเองบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากตอนที่อลิสพบกับหนอนยักษ์แล้วอลิสสารภาพว่าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หรือการที่มีแมว (ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนจิตใต้สำนึก/ สัญชาติญาณ ที่คอยปกป้องอลิสอยู่ห่างๆ ) เพราะหลายอย่างที่แมวพูดก็คือปรัชญาหรือสิ่งที่อลิสเหมือนจะรู้อยู่แล้วแต่ไม่แน่ใจ ประโยคที่ดิฉันพอจะจำได้ก็เช่นที่ อลิสบอกว่า "ฉันไม่รู้ว่าฉันจะเดินไปที่ไหน" และแมวเชสชาย ตอบว่า "หากเธอยังคงเดินต่อไปเรื่อยๆ เธอก็จะได้ไปถึงสักที่เองแหล่ะ" หรือที่อลิสพูดเองเมื่อเห็นรอยยิ้มของแมวเชสชายเหลือลอยอยู่ในอากาศแต่ตัวแมวหายไปแล้วว่า "ฉันไม่เคยเห็นแมวมีรอยยิ้ม แต่ก็ไม่เคยเห็นรอยยิ้มโดยไม่มีแมวให้เห็น" หากคิดให้ลึกหน่อย ประโยคสุดท้ายก็อาจหมายถึงว่า แมวตัวแรกในประโยคคือแมวในโลกความเป็นจริงที่ไม่เคยยิ้ม มีความเป็นส่วนตัวเอกเทศ คาดเดาไม่ถูก แต่เป็นตัวแทนของบ้านของโลกบนดินของอลิส (สังเกตได้เด็กๆ ไม่ว่าจะวัยใดก็จะติดสัตว์เลี้ยงมากเป็นพิเศษมากกว่าพ่อแม่หรือพี่น้อง) ส่วนแมวตัวที่สอง คือสัญชาติญาณของอสิลเองที่คอยเตือนตัวเองให้มีกำลังใจ ให้คิดวิเคราะห์เรื่องต่างๆ (แต่แน่นอนความคิดคนเราก็หลอกลวงตัวเองบ่อยครั้ง เหมือนแมวเชสชายเจ้าเล่ห์นั่นเอง)

จะเห็นได้ว่า อลิสพูดกับตัวเองบ่อยมาก (เหมือนวัยรุ่นชอบเขียนไดอารี่ หรือเดี๋ยวนี้ก็บันทึกเฟซบุ๊ค) แต่ในแง่วรรณกรรมการที่ตัวละครค่อยๆ คุยกับตัวเองค่อยๆ เจริญเติบโตทางความคิด ถือเป็นสิ่งที่แสดงคุณค่าของงานเขียนนั้นๆ อย่างมาก เหมือนตัวละครของเชคสเปียร์ ที่ทุกตัวชอบรำพึงรำพันกับตัวเอง (ยิ่งโรคจิตยิ่งรำพึงหนัก) แต่ในการรำพึงรำพันของตัวละคร เราจะเห็นสิ่งที่อยู่ในใจ และความคิดที่ค่อยๆ เปลี่ยนของตัวละคร เป็นความงาม/แง่คิดอย่างหนึ่งที่เราเอาไปวิเคราะห์ความคิดของเราเองก็ได้ (พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับพอเราได้อ่านแล้วว่าความคิดแบบนี้ นำไปสู่การกระทำแบบที่ไม่ดีของตัวละคร เราเองก็จะได้ระวังความคิดของเราด้วย เพราะมนุษย์เรานั้น ความคิดเป็นสิ่งบงการการกระทำ)

- การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
การที่อลิสคอยพูดแต่ถึงแมวของตัวเอง จนกระทั่งทำให้สัตว์อื่นๆ ในโลกใต้ดินหนีไปก็แสดงถึงความหมกมุ่นสนใจแต่โลกส่วนตัวของเด็กกำลังเป็นวัยรุ่น ที่ไม่ค่อยสนใจว่าคนรอบตัวจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตัวเองแสดงออกมาหรือสิ่งที่ตัวเองกระทำ แต่เมื่ออ่านขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอลิสเห็นนิสัยของผู้ใหญ่ การแสดงออกของผู้ใหญ่ที่สะท้อนออกมาเป็นความบ้าของตัวละครรอบๆ อลิสก็เริ่มเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง และในที่สุดก็สามารถยืนหยัดต่อต้านสิ่งที่ตนเองเห็นว่าผิดพลาดไม่ยุติธรรมได้ เช่น ตอนที่อลิสลุกขึ้นทลายศาลของพระราชินีโพธิ์แดง หรือตอนท้ายที่อลิสมองว่า ทุกอย่างเป็นไพ่แค่กองเดียว ซึ่งในแง่ปรัชญาหากมองให้ลึกซึ้งก็คือ การที่ผู้เขียนสรุปว่า ในชีวิตโชคชะตาการโชคร้าย (ขึ้นศาล) การโชคดี (ผจญภัย) นั้น ก็คือเป็นเสมือนการพนันที่พอเลิกเล่น เลิกใส่ใจ หมกมุ่น ก็ไม่ได้มีความหมายพอที่จะกระทบกระเทือนจิตใจเราได้
หากใครพอจำภาพยนตร์เรื่อง Labyrinth ที่มี Jennifer Connelly ตอนเป็นสาวน้อยเล่นเป็นนางเอกได้ (ถ้าไม่มัวมองหน้านางเอกกันจนลืมดูเรื่องนะคะ) ตอนจบของเรื่องนี้ก็คล้ายกับอลิสในดินแดนมหัศจรรย์ โดยประโยคของ Jennifer Connelly ในเรื่องที่ว่า "you have no power over me" ทำให้โลกเวทย์มนตร์ที่น่ากลัวหายไปหมด ก็เหมือนกันกับการที่อลิสบอกว่า ทั้งหมดเป็นแค่ไพ่กองเดียว ซึ่งในแง่วรรณกรรมถือเป็นการแสดงถึงการก้าวผ่านของตัวละครเด็กไปสู่ผู้ใหญ่
