"ทำยากให้ง่าย"
พระอาจารย์ไพศาลวิสาโล
สมปองเข้าไปหาจิตแพทย์ด้วยสีหน้าหม่นหมอง
“หมอครับช่วยผมด้วย ผมนอนไม่หลับมาเป็นปีแล้ว ทุกครั้งที่นอนบนเตียง ผมจะรู้สึกว่ามีใครซ่อนอยู่ใต้เตียง พอผมลงไปนอนใต้เตียง ก็มักตงิด ๆ ว่ามีคนอยู่บนเตียง ผมเป็นอะไรรู้ไหมหมอ หมอช่วยผมที”
“คุณไม่เป็นอะไรมากหรอก คุณคิดมากไปเอง มาหาหมอทุกอาทิตย์ แล้วหมอจะช่วยคุณ แต่ระหว่างที่คุณอยู่บ้าน ขอให้คุณพูดกับตัวเองก่อนนอนสัก ๑๐๐ ครั้งทุกคืนว่าห้องนี้มีฉันคนเดียว ไม่มีใครอยู่ใต้เตียงหรือบนเตียงทั้งสิ้น”
อาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่า ที่สมปองทำตามที่หมอว่า ทั้งพูดกับตัวเองคนเดียวและไปคลีนิกฟังหมอบรรยายนานนับชั่วโมง หนึ่งเดือนผ่านไปพร้อมกับเงินอีกหลายพันบาทที่จ่ายเป็นค่ารักษา สมปองก็หายหน้าไปจากคลินิก
แล้ววันหนึ่ง หมอก็เจอสมปองโดยบังเอิญที่ห้าง สรรพสินค้า
“คุณหายไปไหน ไม่เห็นไปหาผมอีกเลย”
“ผมหายแล้วครับ ”
“หายได้ยังไง หมอยังรักษาไม่ครบคอร์สเลย”
“ผมไปเจอหลวงพ่อที่อยุธยา ท่านแนะว่าให้ผมตัดขาเตียงออกซะ ก็เท่านั้นเอง”
สมปองมีปัญหาทางจิตใจ เขาเป็นคนคิดมาก อาจเป็นเพราะมีปมบางอย่างในใจ จิตแพทย์พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจ และพาเขาสำรวจปมดังกล่าว ทั้งให้ทำแบบฝึกหัดมากมาย แต่ไม่เป็นผล ผิดกับหลวงพ่อซึ่งเข้าใจนิสัยของคนอย่างสมปองดี แทนที่ท่านจะใช้เหตุผลอธิบายให้เขาหายวิตกกังวล
ท่านแนะวิธีแก้ที่ง่ายกว่านั้น เมื่อตัดขาเตียง ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะมีคนอยู่ใต้เตียง เป็นอันว่าหมดปัญหา
การอธิบายด้วยเหตุผลนั้น ใช้ได้กับบางคน หรือใช้ได้ในบางสถานการณ์ คนที่กำลังทุกข์ร้อนอย่างหนัก เอาเหตุผลหรือแม้แต่ธรรมะมาพูดกับเขา มักจะไม่ได้ผล เพราะสมองไม่รับคำพูดจึงไม่เข้าหัว แต่พอหลวงพ่อรดน้ำมนต์ให้หรือให้สายสิญจน์ เขากลับสงบและเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น
วิธีนี้แม้ไม่ช่วยให้เขามีปัญญามากขึ้น แต่ก็ดึงสติของเขาให้กลับมาและตั้งหลักได้เร็ว คนที่มีการศึกษามักดูถูกหลวงพ่อหลวงปู่ ที่ใช้วิธีแบบนี้ หาว่าเป็นไสยศาสตร์ ทำให้หลงงมงาย นั่นเป็นเพราะเขายังไม่เข้าใจจิตวิทยาของชาวบ้าน
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ววิธีของหลวงพ่อเป็นการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ตรงกันข้ามกับวิธีการของจิตแพทย์ ซึ่งยุ่งยากซับซ้อน
นอกจากใช้เวลานานแล้ว ยังสิ้นเปลืองทั้งเงินและคำพูด คนที่มีความรู้มาก มีการศึกษามาก แม้จะมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง แต่บางครั้งก็ทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก
การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ ไม่ติดยึดกับทฤษฎีหรือความรู้ที่เรียนมา รวมทั้งหัดมองจากแง่มุมที่ดูเหมือนกลับหัวกลับหางด้วย การมองแบบนี้อาจช่วยให้เราเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น อย่างศุภมัยในเรื่องข้างล่าง
“รู้ไหมอะไรที่ฉลาดกว่าคน” ศุภมัยถามเพื่อนในวงอาหาร
“ก็ซุปเปอร์แมนไง” เพื่อนตอบ
“ผิด โลมาต่างหาก” ศุภมัยเฉลย
“มันฉลาดกว่าคนยังไง” เพื่อนสงสัย
“แกไม่เห็นเหรอ โลมาไม่ว่าตัวไหน เล็กหรือใหญ่ก็ตาม พอถูกจับได้ไม่กี่วัน ก็สามารถฝึกให้คนมายืนอยู่บนขอบสระและโยนปลาให้มันวันละสามเวลา”