อันนี้คุยสนุกๆนะครับ
การที่เราขับรถยนต์ส่วนบุคคลไปตามทางหลวง ทางสาธารณะ แล้วเจอด่าน
หากเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นตัวโดยให้ลงมาจากรถ แน่นอนครับ ย่อมเป็นการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานตามกฎหมาย
แล้วการขอตรวจค้นในรถยนต์ละ จะถือว่าเป็นการค้นตัวบุคคลใดในที่สาธารณสถานด้วยหรือไม่
รถยนต์เป็นทรัพย์สินส่วนตัว มีประตู กระจก และเจ้าของมีสิทธิที่จะให้ใครเข้ามาในรถหรือไม่ก็ได้
เมื่อมองตามความหมายของคำว่า "ที่รโหฐาน" หมายความถึงที่ต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถาน ดั่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
นอกจากนี้ พจนานุกรม ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่าที่รโหฐาน หมายถึง ที่เฉพาะส่วนตัว
ซึ่งมองแล้ว รถยนต์น่าจะเป็นที่รโหฐานด้วยซ้ำ
ซึ่งสมัยยังเป็นนักศึกษา เคยได้ถกเถียงแบบว่าเอาหลักกฎหมายมาว่ากัน ยกเหตุผล บางครั้งก็ยกแม่น้ำทั้งห้ามาว่ากัน
ถ้าสมมุติ ให้ถือว่ารถยนต์ เป็นที่รโหฐาน การค้นภายในรถยนต์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย คือ
การค้นในที่รโหฐานจะต้องมีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และ....
(๔) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการ กระทำความผิด หรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมา ได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
แต่ก็จะเห็นได้ว่า ตาม (๔) ก็ยังมีช่องให้ใช้ดุลยพินิจอีก
แต่แนวปฏิบัติ และการตีความปัจจุบันนี้ ยังคงถือว่า รถยนต์ ไม่ใช่เป็นที่รโหฐาน เว้นเสียแต่ว่า รถยนต์นั้นจอดอยู่ในเขตบ้านเรา (ฮา)
ซึ่งต่อไปในอนาคตไม่แน่ครับ อาจมีการตรากฎหมายระบุชัดเจนว่า การค้นตัวบุคคล จะทำได้ต้องมีหมายจากศาล เว้นแต่ผู้ถูกตรวจค้นยินยอมเท่านั้น
แต่ตรงนี้ สำหรับบ้านเรา อาจจะเป็นผลเสียมากว่าผลดีในการปราบปรามอาชญากรรม
ทีนี้เรื่องราวเดินต่อครับ ปรากฎว่าค้นแล้ว พบอาวุธปืนในรถหรือสิ่งผิดกฎหมายอื่นในรถ
เราสามารถอ้างได้หรือไม่ว่า เราไม่ยินยอมให้ค้น แต่เจ้าพนักงานยังเข้ามาตรวจค้นจนเจอปืน
ถือว่าการค้นตัว ค้นรถยนต์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมทำให้การได้มาซึ่งหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด (ในกรณีนี้ปืน) ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
ส่งผลให้ไม่สามารถนำปืนหรือสิ่งที่พบ ใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ตรงนี้จะอ้างได้หรือไม่
ตามกฎหมายในเรื่องนี้ เดิม บัญญัติไว้ว่า พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น ....
คำว่าโดยมิชอบประการอื่น น่าจะรวมถึงการค้นโดยมิชอบด้วย เมื่อหลักฐานได้มาจากการค้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ก็ไม่สามารถอ้างหลักฐาน ที่ได้มาจากการค้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลได้
จะเห็นได้ว่า ถ้าปืนอยู่ในรถเราจริง แต่การค้นกระทำไปโดยไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ก็ไม่สามารถเอาปืน ที่ได้จากการตรวจค้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาเป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดต้วโดยไม่ได้รับอนุญาตของเราได้
ผลก็คือ เมื่อรับฟังไม่ได้ ก็ถือว่าไม่มีหลักฐาน เมื่อไม่มีหลักฐานศาลต้องยกฟ้อง
ซึ่งหากเป็นอย่างบางประเทศ เท่าที่ทราบมาคือ สหรัฐ ไม่ทราบทุกรัฐหรือเปล่า จะใช้ระบบของหลักของผลไม้ของต้นไม้มีพิษ
คือไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นไม้มีพิษแล้ว ผลที่ออกมาย่อมมีพิษด้วย ซึ่งหมายถึง หากส่วนใดส่วนหนึ่งของคดี มีการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อมทำให้ส่วนที่ตามมา ไม่ว่าการสอบสวน การพิจารณาและพิพากษา และพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำที่ไม่ชอบ เป็นพิษ คือไม่ชอบตามกฎหมายไปด้วย
ซึ่งหากดูหนังฝรั่งเกี่ยวกับศาล อย่างซีเอสไอเวกัส ก็ได้ มีอยู่ตอนหนึ่งครับ
เจ้าพนักงานตำรวจเรียกผู้ต้องสงสัยซึ่งขับรถตามถนนให้หยุดเนื่องจากไฟท้ายแตก
แต่ผู้ต้องสงสัยมีพิรุธ จึงให้เจ้าหน้าที่มาทำการตรวจค้นภายในรถ พบผ้าขาวห่อมีดที่มีเลือด พิสูจน์ดีเอ็นเอแล้ว ตรงกับศพของผู้ตาย
ในศาล ทนายความจำเลย ใช้คำถามเดียวว่า การตรวจค้นมีดดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการขอหมายค้นรถยนต์คันเกิดเหตุหรือไม่
ซึ่งปรากฎว่าในเรื่อง ไม่ได้ขอ ซึ่งผลก็คือ แม้มีดอยู่ในรถยนต์ผู้ต้องหาก็ตาม แต่เมื่อการได้มาซึ่งผ้าและมีดเปื้อนเลือดในรถยนต์ ทำไปโดยไม่มีหมายค้น
ถือว่าการได้มาซึ่งผ้าและมีดเปื้อนเลือด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลย
แต่ของไทยยังไม่ได้เคร่งครัดขนาดนั้นครับ แม้หลักฐานได้มาโดยวิธีการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และเมื่อมีการสอบสวนชอบ และหลักฐานนั้นมีอยู่จริง (อยู่ที่จำเลยจริงๆ) ไม่ได้ยัด แอบใส่ จากผู้ไม่หวังดี โดยตัวหลักฐานนั้นสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้จริงแล้ว และจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลมีอำนาจรับฟังหลักฐานนั้นและลงโทษจำเลยได้แม้ปัจจุบันมีการเพิ่มเติมกฎหมาย และมีลักษณะบังคับมากกว่าเดิมว่า หากพยานหลักฐาน ไม่ว่าของกลาง หรือสิ่งอื่นใด ได้มาโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ไม่สามารถเอาหลักฐานของกลางดังกล่าว มาพิสูจน์ความผิดของเราได้ก็ตาม
แต่เมื่อวิธีการ" ค้น" ในที่สาธารณะ ยังคงอาศัย "เหตุอันควรสงสัย" เหมือนเดิม มองๆแล้ว การปฏิเสธไม่ให้ค้น ส่งผลในทางที่ไม่ดีแก่เรามากกว่า
นั้นละครับ ผมจึงมองว่าถึงฏิเสธ ก็ไม่ได้มีอะไรที่ทำให้เราอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าเลยครับ
แต่ถ้าเราไม่ได้กระทำความผิดสิครับ นั้นละครับ ที่ทำให้เราอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าทั้งปวง