วันนี้ 29 กันยายน 53 วันครบรองการจากไปของ ร.ต.อ. ธรณิศ ศรีสุข หรือผู้กองแคน
จากสถานการณ์ความไม่สงบที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ การจากไปของผู้กองทำให้พิสูจน์คำพูดที่ว่า "วีรบุรุษไม่เคยตาย"
ขอพื้นที่ตรงนี้ในการระลึกถึง ชายผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อชาติ
ขอให้การสู่..สุขคติ..นำมาซึ่งความสงบ..สันติ..ที่ชายแดนใต้ด้วยเถิด
Uploaded with
ImageShack.usปลายปี 2550 ไฟใต้ยังคงลุกโชนอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนด้ามขวาน ถึงแม้จะดูเหมือนว่ากำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองจะปฏิบัติการเชิงรุกอย่างได้ผล สามารถปิดล้อมตรวจค้นจับกุมทั้งแกนนำฝ่ายตรงข้ามกับแนวร่วมและสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมากก็ตาม
แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังคงปรากฏให้เห็น เพราะกลุ่มโจรใต้อาศัยความชำนาญภูมิประเทศและการเป็น "เจ้าของพื้นที่' เป็นกลยุทธหลักและข้อได้เปรียบในการก่อเหตุร้ายอย่างไม่เลิกรา
ด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการอย่างทุ่มเทของทหารตำรวจในพื้นที่ภาคใต้จึงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นที่มาของเรื่องราวดุจดังตำนานแห่ง "วีรชนคนกล้า' ของชาติอันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินไทยยังคงมีผู้ที่พร้อมจะสละทุกสิ่งแม้กระทั่งชีวิตเพื่อปกป้องบ้านเมืองและน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นราชพลี
เช้าวันเสาร์ที่ 29 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ผู้คนในกรุงเทพและในอีกหลาย ๆ จังหวัดได้พักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากหน้าที่การงานมาตลอดทั้งสัปดาห์
แต่ที่จังหวัดยะลาบนเส้นทางสายบันนังสตา - เขื่อนบางลาง "ชุดเคลื่อนที่เร็ว' จำนวน 12 นาย ซึ่งเป็นกำลังจากกองร้อยรบพิเศษที่ 1 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดนหรือที่รู้จักกันในนาม "พลร่ม ตชด.' แห่งค่ายนเรศวร หัวหิน ได้ออกปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในพื้นที่ต้องสงสัยเพื่อรักษาความปลอดภัยหลังได้เบาะแสว่ากลุ่มโจรใต้วางแผนที่จะดักซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่และประชาชนที่จะใช้เส้นทางดังกล่าว
เมื่อชุดเคลื่อนที่เร็วทั้ง 12 นาย ไปถึง "เนินนวรัตน์' ซึ่งภูมิประเทศสองข้างทางเป็นเนินสูงปกคลุมไปด้วยป่ารกทึบเอื้ออำนวยต่อการวางกำลังรอคอยเป้าหมายที่จะผ่านเข้ามาใน "พื้นที่สังหาร' ที่กำหนดไว้
ร้อยตำรวจเอกหนุ่มวัยสามสิบ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดเจ้าของร่างล่ำสันรู้สึกผิดปกติและสำเนียกได้ถึงความเงียบเชียบที่แตกต่างจากทุกครั้ง มันเป็นเสมือนสิ่งบอกเหตุว่ามี "อะไรบางอย่าง' ที่เป็นอันตรายรอคอยอยู่เบื้องหน้า
"ผู้กองแคน' ของลูกน้องที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาโดยตลอดจึงสั่งหยุดเคลื่อนที่เพื่อปฏิบัติตามยุทธวิธีและขั้นตอนของการรบนอกแบบ นั่นคือการใช้ "ส่วนล่วงหน้า' เดินเท้าเข้าตรวจสอบในบริเวณต้องสงสัย
ด้วยความองอาจและหัวใจแกล้วกล้าของนายตำรวจนักรบที่มีจิตวิญญาณความเป็น "ผู้นำ' อย่างเต็มเปี่ยม ผู้กองแคนอดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่น 54 จึงทำหน้าที่ "ส่วนล่วงหน้า' ด้วยตนเองเหมือนเช่นทุกครั้งที่ออกปฏิบัติภารกิจซึ่งเขาจะต้องก้าวเท้านำหน้า พลร่ม ตชด. ที่อยู่ในทีมโดยไม่หวั่นไหวพรั่นพรึงต่ออันตรายใด ๆ
อาวุธอัตโนมัติที่อยู่บนมือของร้อยตำรวจเอกแห่งตระกูล "ศรีสุข' กระชับแน่น สายตาที่เต็มไปด้วยประกายมุ่งมั่นมองกวาดไปยังแนวป่าบนเนินสองข้างทางอย่างระแวดระวัง
นิ้วที่แตะอยู่บนไกปืนพร้อมที่จะเหนี่ยวยิงสาดกระสุนเข้าใส่บริเวณต้องสงสัยหากว่าเสียงปืนของฝ่ายตรงข้ามดังขึ้น
ไม่ไกลจากตำแหน่งที่ผู้กองหนุ่มแห่งค่ายนเรศวรกำลังเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ กลุ่มโจรใต้ไม่ต่ำกว่า 20 คน พร้อมอาวุธกำลังเล็งศูนย์เข้าใส่เป้าหมายของพวกมัน
กาลีแผ่นดินเหล่านั้นรู้จักหน้าค่าตาและชื่อเสียงของ "ผู้กองแคน' ในฐานะหัวหน้าชุด ตชด. แห่งฐานปฏิบัติการเขื่อนบางลาง ซึ่งเป็นนักรบจู่โจมที่มีผลงานยอดเยี่ยมมาโดยตลอด ทั้งในด้านยุทธการและการเข้าถึงมวลชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับทางการมากขึ้น
การปรากฏตัวของผู้กองแดนในเช้าวันปะทะจึงเป็นเสมือนการปรากฏของ "เป้าหมาย' ที่มีค่ามากที่สุดสำหรับการซุ่มโจมตี โจรใต้กลุ่มนั้นจึงหันปากกระบอกเล็งเข้าหาร่างของนายตำรวจหนุ่มเป็นจุดเดียว เพื่อที่จะระดมปืนเด็ดชีพคนเป็น "หัวหน้าชุด' ให้ได้เป็นลำดับแรก
แล้วในบัดดลนั้นกัมปนาทการยิงก็แผดสนั่นหวั่นไหวพร้อม ๆ กับวิถีกระสุนแดงวาบพุ่งลงมาเป็นห่าฝน
วินาทีแรกที่เสียงปืนดังขึ้น ร้อยตำรวจเอกหนุ่มก็โผนเข้าหาที่กำบังด้วยสัญชาติญาณพร้อมกับร้องตะโกนสั่งให้ลูกทีมทำการยิงตอบโต้ ก่อนที่ร่างของเขาจะล้มร่วงลงบนเนินมรณะ
การปะทะดำเนินไปอย่างดุเดือดนานกว่า 20 นาที และกำลังอีกชุดหนึ่งภายใต้การนำของ "ผู้กองช้าง' หรือร้อยตำรวจเอกสมรัฐ อาวรณ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดปะทะได้รีบเดินทางมาช่วยก่อนที่เสียงปืนจะสงบลง เมื่อฝ่ายตรงข้ามล่าถอยออกไป
นาทีชีวิตผู้กองแคนหลังการปะทะ
"ผู้กองถูกยิง ! วิทยุไปที่บ้านภักดี ขอ ฮ. มารับด่วน !'
รองหัวหน้าชุดร้องตะโกนเสียงหลงในทันทีที่มองเห็นร่างของร้อยตำรวจเอกหนุ่มแดงฉานไปด้วยเลือด มีบาดแผลฉกรรจ์ที่ลำคอ บอกให้รู้ว่าผู้นำของชุดเคลื่อนที่เร็วต้องคมกระสุนได้รับบาดเจ็บสาหัส อาการเป็นตายเท่ากัน.. !
ภายในห้องประชุมกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศค่าย "นเรศวร' อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนสายวันเดียวกัน
นายตำรวจพลร่มชั้นสัญญาบัตรกำลังประชุมอยู่กับผู้บังคับการเพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลังไปสับเปลี่ยนหน้าที่กับหน่วยที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามวงรอบทุก 6 เดือน
ทุกคนต่างมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยมและกระหายที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อันตรายด้วยความมุ่งมั่น เพราะเท่าที่ผ่านมา "ชุดเคลื่อนที่เร็ว' ซึ่งเป็นหน่วยพลร่มจาก ตชด. ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมและไม่เคยสูญเสียกำลังพล
แต่แล้วเสียงโทรศัพท์ของผู้การก็ดังขึ้นขัดจังหวะการประชุม สายตาทุกคู่จ้องมองไปยังผู้บังคับบัญชาซึ่งมียศสูงสุดในที่นั้น ก่อนที่ทุกคนจะเห็นสีหน้าและแววตาซึ่งเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน
"ชุดลาดตระเวนของเราถูกซุ่มโจมตีที่ยะลา'
ผู้บังคับการพลร่มพยายามบังคับเสียงอย่างคนที่ข่มความรู้สึกขณะที่กล่าวถ้อยคำซึ่งไม่ต่างอะไรกับสายฟ้าที่ฟาดลงมากลางหัวใจของทุกคนที่ได้ยิน
"คุณแคนตาย.. เมื่อสองชั่วโมงที่ผ่านมานี่เอง'
Uploaded with
ImageShack.usนายตำรวจหนุ่มผู้พลีชีพเพื่อชาติกลางสมรภูมิแดนใต้ในเช้าวันนั้นก็คือร้อยตำรวจเอก "ธรณิศ ศรีสุข' รองผู้บังคับการกองร้อยรบพิเศษที่ 1 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดนผู้เป็นแบบฉบับของ "ชายชาตินักรบ'ซึ่ง สมควรได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษของชาติผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์อันสูงส่งตราบจนลมหายใจของชีวิต
ร้อยตำรวจเอกธรณิศฯ หรือผู้กองแคน เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2520 ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรชายของรองศาสตรจารย์ด็อกเตอร์เกรียงศักดิ์ ศรีสุข อดีตคณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยน้ำบาดาล ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี ส่วนมารดาคือ รองศาสตราจารย์ทันตแพทย์หญิงนิธิภาวี อดีตคณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชีวิตในวัยเด็กของร้อยตำรวจเอกธรณิศเติบโตที่จังหวัดขอนแก่นพร้อมกับน้องชายเพียงคนเดียวคือนายแพทย์ธราธิป โดยบิดามารดาตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า "แคน' ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินอีสาน แคนเริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนจะติดตามบิดาไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนนาดาเมื่อปี 2533
เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยาจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อปี 2538 โดยเลือกเหล่าตำรวจด้วยความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็น ตชด. เพื่อรับใช้ชาติและปกป้องคุ้มครองพี่น้องประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
รองศาสตรจารย์ด็อกเตอร์เกรียงศักดิ์ ซึ่งเดินทางมากรุงเทพเพื่อร่วมงาน "วันตำรวจ' และบันทึกเทปรายการ "เจาะใจ' ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เล่าถึงเรื่องราวบางตอนของบุตรชายให้ผู้เขียนฟังว่า
"สมัยนั้นนักเรียนวัยรุ่นในขอนแก่นจะรู้จักแคนมาก แคนเป็นคนรักเพื่อน ชอบการต่อสู้ผจญภัย เคยแอบไปชกมวยชิงรางวัลตามหมู่บ้านมา 2-3 ครั้ง จนหมอแจงซึ่งเป็นคุณแม่ตกใจ
"ต่อมาแคนไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร โดยเลือกเหล่าตำรวจและสอบได้เป็นที่หนึ่งในส่วนของตำรวจทำให้ทุกคนในครอบครัวภูมิใจในตัวแคนมาก ระหว่างที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 38 แคน ซึ่งมีคะแนนสอบยอดเยี่ยมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายตอน 4 ทำหน้าที่นักเรียนปกครองบังคับบัญชาดูแลรุ่นน้องและเพื่อน ๆ และเมื่อขึ้นเหล่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 54 แคนก็ได้เป็นนักเรียนบังคับบัญชา เป็นนักกีฬาหลายประเภท เป็นหัวหน้าชมรมยูโด นักแม่นปืน นักมวย ฯลฯ
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาเป็นที่รู้จักของรุ่นน้อง ๆ และรุ่นพี่ ๆ ในฐานะนักเรียนนายร้อยตำรวจที่เรียนเก่ง มีอุดมการณ์ และได้คะแนนสอบตอนเรียนจบในลำดับต้น ๆ ซึ่งมีสิทธิที่จะเลือกรับราชการที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพักในท้องที่ "เกรด A' การเป็น "นายเวร' หรือนายตำรวจติดตามผู้บังคับบัญชาระดับสูง หรือแม้กระทั่งการลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ
แต่สิ่งที่แคนเลือกกลับกลายเป็นการหันหลังให้สิ่งเหล่านั้นอย่างคนมีอุดมการณ์ แรงกล้า เขาเลือกที่จะละทิ้งชีวิตแสงสีความศิวิไลซ์หรูหราแบบ "สุขนิยม' ทั้งที่สามารถกระทำได้แล้วมุ่งหน้าไปสู่การใช้ชีวิตกลางป่าของลำเนาไพรในฐานะ "ตำรวจตระเวนชายแดน'
แม้จะรู้อยู่แล้วชีวิตของ ตชด. หมายถึงชีวิตที่ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายแวดล้อมไปด้วยความยากลำบาก แต่สิ่งเหล่านั้นคือความเป็นไปที่จะทำให้ "ฝัน' ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หนุ่มในอันที่จะเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่นเป็นความจริง
"แคนพูดอยู่เสมอว่าถ้าเขาไม่ทำหน้าที่นี้แล้วใครจะทำ ถ้าคนหนุ่มทุกคนเอาแต่คิดถึงความสุขสบายโดยไม่เสียสละตนเองแล้ว ประเทศชาติจะมีใครที่ไหนคอยปกป้อง
รองศาสตรจารย์ด็อกเตอร์เกรียงศักดิ์กล่าวถึงอุดมการณ์ความมุ่งมั่นของบุตรชายผู้จากไป
"แคนจึงเลือกที่จะเป็น ตชด. และทำการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อให้ตนเองเป็น ตชด. ที่เก่งกล้ามีขีดความสามารถครบถ้วนพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด'
Uploaded with
ImageShack.usแม้จะมีชีวิตราชการค่อนข้างสั้นและต้องออกปฏิบัติราชการสนามครั้งละ 6 เดือนมาโดยตลอด
แต่นายตำรวจ "ไฟแรง' อย่างแคนก็ใช้เวลาในช่วงสับเปลี่ยนกำลังสมัครเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ มากมาย อาทิ หลักสูตรการทำลายวัตถุระเบิดหลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย หลักสูตรกระโดดร่มแบบกระตุกเอง
นอกจากนี้ ยังเข้ารับการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษของนาวิกโยธินหรือที่รู้จักกันในนาม "รีคอน' ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการฝึกที่เข้มข้นยากลำบากไม่น้อยไปกว่าหลักสูตร "นักทำลายใต้น้ำจู่โจม' หรือมนุษย์กบ
แคนได้เข้ารับการฝึก "มหาหิน' ของทหารนาวิกโยธินในปลายปี 2548 และเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเพียงหนึ่งเดียวที่ผ่านหลักสูตรนั้นท่ามกลางสายตาชื่นชมของบรรดาครูฝึกและเพื่อนร่วมรุ่นรีคอน 36 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาวิกโยธินที่ต่างพากันนับถือในความเป็น "นายตำรวจใจเพชร' ผู้มีความเข้มแข็งอดทนเป็นเลิศจนสามารถฝ่าฟันการฝึกจู่โจมและลาดตระเวนรบสะเทินน้ำสะเทินบกไปได้อย่างน่ายกย่อง
ผู้กองแคนเมื่อครั้งฝึกรบพิเศษนาวิกโยธิน
รองศาสตรจารย์ด็อกเตอร์เกรียงศักดิ์ เล่าต่อไปอีกว่า
"แคนเป็นคนเสียสละ นึกถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวรักลูกน้องและเพื่อนร่วมงานมาก เขาเคยมาขอยืมเงินพ่อก้อนหนึ่งเพื่อนำไปเป็นกองกลางไว้ใช้จ่ายในทีมของเขา แคนบอกว่าลูกน้องของเขาเงินเดือนน้อยและมีครอบครัวต้องดูแล บางครั้งการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ อาจจะล่าช้าตามขั้นตอนของทางราชการ แคนก็จะให้ลูกทีมใช้เงินกองกลางส่วนนี้สำรองไปก่อน
"หรือแม้แต่รถยนต์ที่พ่อซื้อให้ แคนก็นำไปใช้ที่ภาคใต้เพื่อให้เป็นรถใช้สอยสำหรับการปฏิบัติงานของหน่วยโดยไม่ถือว่าเป็นของส่วนตัว แคนเคยมาขอเงินพ่อบอกว่าจะนำไปให้รุ่นพี่กับเพื่อนร่วมงานยืมซื้อปืนพกเป็นอาวุธส่วนตัวเพิ่มเติมไว้ปฏิบัติงาน พ่อก็ให้ไป
แคนทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นมาโดยตลอดและมีความสุขที่จะทำเช่นนั้นเสมอมา สิ่งเดียวที่แคนไม่เคยทำก็คือการบอกกล่าวให้คนอื่นรู้ว่า แคนมาจากครอบครัวที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน'
ผู้เป็นบิดากล่าวด้วยแววตาที่บ่งบอกถึงความอาลัย
ผู้กองแคนใน พท.ภาคใต้
"แคนทำตัวสมรรถนะกินง่ายอยู่ง่าย ไม่มีทรัพย์สมบัติส่วนตัวมากมาย หลังจากแคนเสียชีวิต พ่อไปเก็บของจากที่พักของแคนปรากฏว่าแคนมีของใช้จำเป็นเพียง 2-3 กล่องเท่านั้น'
หลังจากสำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2544 ร้อยตำรวจตรีธรณิศได้เลือกที่จะรับราชการในกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดนในตำแหน่งผู้บังคับหมวด จากนั้นในปีรุ่งขึ้นก็เดินทางไปปฏิบัติราชการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และอยู่ที่นั่นเรื่อยมา
เรือเอกเกรียงไกร แสงอุทัย อดีตหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษนาวิกโยธิน ซึ่งเคยปฏิบัติงานในพื้นที่นราธิวาสเล่าถึง "เพื่อนร่วมงานต่างเหล่า' ว่า
"ผู้กองแคนเป็นคนที่มีอุดมการณ์แรงกล้า เราพบกันครั้งแรกเมื่อปี 45 แคนลงมาภาคใต้ทั้งที่ยังไม่มีคำสั่งเป็นทางการ แต่เขาก็เดินทางลงมาล่วงหน้า ตอนนั้นเป็นช่วงแรกที่พลร่ม ตชด. จากหัวหินเริ่มเข้ามาทำงานในพื้นที่สีแดง ผมเตือนเขาว่า ยังไม่มีคำสั่งรองรับอย่าเพิ่งออกทำงาน แต่แคนบอกว่าไม่เป็นไร เขาอยากทำให้ภาคใต้สงบ
เรือเอกเกรียงไกร ซึ่งเคยเป็นครูฝึกหลักสูตร "รีคอน' เล่าต่อไปว่า
"ทีม ตชด. ของแคนหลอมรวมกับชุดปฏิบัติการพิเศษนาวิกโยธินได้เป็นอย่างดี แคนมีความสามารถในการใช้ปืนสั้นอย่างยอดเยี่ยมและเชี่ยวชาญการรบในเมือง เพราะเคยผ่านหลักสูตรต่อต้านการก่อการร้าย
แคนจึงช่วยฝึกทีมของนาวิกโยธินให้มีความชำนาญการใช้ปืนพกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแคนก็ขอให้นาวิกโยธินซึ่งเชี่ยวชาญการรบนอกแบบ ฝึกทบทวนการลาดตระเวนการเคลื่อนที่ในป่าแถบนั้น ซึ่งเรามีความชำนาญมากกว่า เพราะอยู่ในพื้นที่มาก่อน แคนขอให้ทหารนาวิกโยธินพาขึ้นเขาทุกลูกเพราะต้องการทำความรู้จักและจดจำลักษณะภูมิประเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานครั้งต่อ ๆ ไป
ผู้กองแคนกับทีมพลร่ม ตชด.
ผู้กองแคนมีความผูกพันกับนาวิกโยธินอย่างแนบแน่น เคยออกปฏิบัติภารกิจร่วมกันหลายครั้ง กินข้าวด้วยกัน ทั้งในที่ตั้งปกติและในป่า บางครั้งเราจัดเป็นทีมผสมระหว่าง ตชด. กับนาวิกโยธิน แคนจะเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหาร นย. อย่างองอาจจนได้ใจของทุกคนที่อยู่ในทีม
เรือเอกเกรียงไกรรำลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับวีรบุรุษ ตชด. ต่อไปว่า
"ผู้กองแคนเป็นนายตำรวจที่กล้าหาญมาก มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จโดยไม่คำนึงถึงอันตรายใด ๆ ครั้งหนึ่งเขาวางแผนที่จะแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่อันตรายตามลำพังในเวลากลางคืนและนัดหมายให้ทีมสนับสนุนไปรอที่จุดนัดพบซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 5 กิโลเมตร แต่ผมห้ามเอาไว้ เพราะผู้กองแคนพูดภาษา ยาวีไม่ได้ มันจึงเสี่ยงเกินไปที่จะเข้าไปหาข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามในยามวิกาลเช่นนั้น พวกเราซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษนาวิกโยธินทุกคนรักนับถือในน้ำใจผู้กองแคนและรู้สึกเหมือนกับว่าเขาเป็นพี่น้อง
ร่วมตายอย่างแท้จริงคนหนึ่ง'
แม้จะเหนื่อยยากตรากตรำ แต่ผู้กองแคนยังคงมีชีวิตส่วนตัวเช่นปุถุชนทั่วไป โดยทุกครั้งที่ได้พัก นายตำรวจหนุ่มจะเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ขอนแก่นและกราบคารวะครูอาจารย์ ท่ามกลางความรู้สึกชื่นชมระคนห่วงใยของทุกคนที่ได้รู้จักและเคยเห็น "ผู้กองแคน' มาตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในรั้ว มอ.ดินแดง ร่วมกับเพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคณาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับบิดามารดา
"แคนมักจะถูกตั้งคำถามจากหลาย ๆ คนอยู่เสมอว่า เมื่อไหร่จะขึ้นมาจากภาคใต้ แต่คำตอบที่ทุกคนได้รับเหมือน ๆ กัน ก็คือ ยังไม่ถึงเวลา เพราะแคนต้องการสานต่อภารกิจให้ลุล่วงจนกว่าประชาชนในพื้นที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย'
รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์เกรียงศักดิ์ ผู้เป็นบิดาเล่าด้วยสีหน้าและแววตาอันสงบนิ่งอย่างคนที่ปลงใจในความเป็นไปที่เกิดขึ้นตามสัจธรรมแห่งชีวิต
"ก่อนเสียชีวิต ผู้บังคับบัญชาของแคนถามว่า ครบวงรอบ 6 เดือนครั้งหน้า แคนจะกลับมาอยู่ที่ค่ายนเรศวรหรือเปล่า แคนตอบว่า ขออยู่ในพื้นที่อย่างเดิม เพราะเป็นห่วงชาวบ้าน อยากทำงานต่อ'
Uploaded with
ImageShack.usUploaded with
ImageShack.usภาพภารกิจสุดท้าย
Uploaded with
ImageShack.usUploaded with
ImageShack.usระลึกถึงเสมอ
Uploaded with
ImageShack.us