ไม่ลองถามไปทางกระทรวงการต่างประเทศหรือสถาทูตไทยล่ะครับ น่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนนะครับ
ลองอ่าน
ตามข้อเท็จจริงที่คุณถามมาได้ความว่า แฟนคุณเป็นลูกครึ่งไทย- สวีเดน โดยมีคุณพ่อเป็นชาวสวีเดนและคุณแม่เป็นชาวไทย แฟนคุณเกิดและอยู่กับคุณแม่ในประเทศไทย แต่เลือกถือสัญชาติสวีเดน ถ้าแฟนคุณต้องการเปลี่ยนสัญชาติจากสวีเดนเป็นสัญชาติไทย ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง นั้น
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศขอแนะนำดังนี้
ตามกรณีของแฟนคุณซึ่งมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติไทย คือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น แฟนคุณซึ่งมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทยก็ย่อมได้สัญชาติไทยตามมารดา และยังได้สัญชาติสวีเดนตามบิดา แฟนคุณจึงมีสองสัญชาติตั้งแต่เกิดและสามารถถือสองสัญชาติได้ ดังนั้น ตามที่คุณแจ้งว่าแฟนคุณเลือกถือสัญชาติสวีเดนต้องดูว่าข้อเท็จจริงที่ว่าเลือกถือสัญชาติสวีเดนนั้นเลือกเมื่อไร ถ้าแม่ของแฟนคุณเลือกให้แฟนคุณถือสัญชาติสวีเดนตั้งแต่ตอนแฟนคุณเกิด โดยไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้แฟนคุณที่สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย กรณีนี้ก็ให้แฟนคุณดำเนินการแจ้งเกิดย้อนหลังในกรณีที่เป็นเด็ก หรือขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน ท.ร.14 ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่ ก็จะมีผลรับรองว่าผู้นั้นเป็นคนไทยมาตั้งแต่เกิด ส่วนกรณีที่แฟนคุณเลือกถือสัญชาติสวีเดนตอนอายุครบ 20 ปี ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 14 แล้ว แฟนคุณไม่ได้สละสัญชาติไทย แฟนคุณก็ยังมีสัญชาติไทยอยู่ โดยไม่ต้องขอสัญชาติไทยอีก แต่ถ้าแฟนคุณเลือกถือสัญชาติสวีเดนและสละสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ มาตรา 14 ดังกล่าว โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้แฟนคุณเสียสัญชาติไทยแล้ว แฟนคุณจะเสียสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย การเสียสัญชาติไทยจะทำให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะเป็น "บุคคลต่างด้าว" ซึ่งบุคคลต่างด้าวจะขอสัญชาติไทยต้องดำเนินการตามกฎหมายสัญชาติไทย ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 10 ได้กำหนดไว้ว่า
คนต่างด้าวซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนดังต่อไปนี้ อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้
1. บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ
2. มีความประพฤติดี
3. มีอาชีพเป็นหลักฐาน
4. มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
5. มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 11 ได้กำหนดไว้ว่า บทบัญญัติในมาตรา 10 (4) (5) มิให้นำมาใช้บังคับถ้าผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทย
(1) ได้กระทำความดีความชอบเป็นพิเศษต่อประเทศไทย หรือได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ทางราชการซึ่งรัฐมนตรีเห็นสมควร
(2) เป็นบุตร ภริยา หรือสามีของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติเป็นไทย หรือของผู้ได้กลับคืนสัญชาติเป็นไทย
(3) เป็นผู้ได้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน
(4) เป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย
มาตรา 12 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ใดจะขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ประสงค์จะแปลงสัญชาติเป็นไทยตามวรรคหนึ่งซึ่งมีบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายไทย และบุตรนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุตรพร้อมกับตนได้ โดยบุตรนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 10(1) (3) (4)และ (5)
การอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ผู้ขอแปลงสัญชาติไทยปฏิณาณตนว่า จะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย
ดังนั้น ถ้าแฟนคุณยังไม่เคยดำเนินการเรื่องสละสัญชาติไทยหรือดำเนินเรื่องสละสัญชาติแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงยังไม่มีผลทำให้แฟนคุณเสียสัญชาติไทยแต่อย่างใด แฟนคุณยังมีสัญชาติไทยอยู่ แต่ถ้าแฟนคุณได้สละสัญชาติไทยไปแล้วโดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้แฟนคุณเสียสัญชาติไทยแล้ว ทำให้แฟนคุณมีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าว และแฟนคุณประสงค์ที่จะเปลี่ยนกลับมาเป็นสัญชาติไทยใหม่ แฟนคุณก็ย่อมสามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้ในตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยจะอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจะมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา