ขออนุญาตนำเสนอครับ
บังเอิญว่าผมเคยสงสัยอยู่นาน
เรื่องแว่นกันแดด 199 ว่ามันใส่แล้วจะถนอมดวงตา หรือทำลายดวงตากันแน่
ฟังใครๆเขาเล่ามาก็บอกว่ามันไม่ดี ตาจะบอดไวขึ้น จนเมื่อได้รู้จักน้องคนนึง
น้องคนนี้ตาสู้แสงไม่ค่อยได้ ต้องใส่แว่นกันแดดตลอด โดยเฉพาะเวลาขับรถ แล้วผมก็สังเกตว่าเขาใช้แว่นถูกๆ ราคา 99-199
จึงถามว่าทำไมไม่ใช้ดีๆหน่อย เดี๋ยวตาก็เสียหรอก
เขาตอบว่า จะถูกจะแพง กันได้ไม่ต่างกันหรอกพี่
แล้ววันนึงเค้าก็ส่งลิงค์เรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับแว่นกันแดดมาให้อ่าน
ผมก็เลยรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เรื่องทันที
แต่ผมไม่มีลิงค์นั้นแล้ว เลยพึ่งอากู๋หาลิงค์อื่นจนเจอ แล้วนำมาฝากพี่ๆชาว อวป. ครับ
วิธีเลือกแว่นกันแดดหนึ่งในคำถามยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคที่อยากจะซื้อหาแว่นกันแดดมาใส่ก็คือ แว่นตาราคา 199 บาท ต่างจากแว่นราคาหลักหมื่นอย่างไร
ถ้ามองในแง่ของคุณภาพในการกรองแสงยูวีแล้ว ผลจากงานศึกษาหลายชิ้นให้คำตอบที่ใกล้เคียงกันว่า ราคาไม่ใช่ตัวกำหนดคุณภาพของการกรองแสงยูวีแต่อย่างใด
ข่าวจาก
สถานีโทรทัศน์ซีบีเอสชิ้นหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วในอเมริกา รายงานถึงการทดสอบคุณภาพแว่นกันแดดในการกรองแสงยูวี โดยนำแว่นกันแดดทั้งแบรนด์เนมและราคาถูกมาทดสอบ โดย แครอล แคร์บ จักษุแพทย์ ซึ่งผลการตรวจสอบออกมาว่า
แบรนด์ดังๆ อย่าง ไมเคิล คอร์ส สามารถกันยูวีได้ 98.2 เปอร์เซ็นต์ เฟอร์รากาโม่ส์ สามารถกันยูวีได้ 98.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแว่นราคาประมาณ 200 บาท ที่วางขายทั่วไปในชื่อว่า ซัน รันเนอร์ส กลับสามารถกันยูวีได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์แม้แว่นกันแดดแต่ละราคาจะกันแสงยูวีได้ไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดก็สามารถผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า The American National Standards Institute (ANSI) ซึ่งกำหนดไว้ว่า แว่นที่เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งควรจะสามารถป้องกันยูวีได้ 95 เปอร์เซ็นต์ และกรองแสงได้ 60-90เปอร์เซ็นต์
ส่วนแว่นกันแดดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนมากมักมาจากแสงที่ผ่านเลนส์มากเกินไป แต่ไม่ใช่เพราะป้องกันยูวีได้น้อยกว่ามาตรฐาน สำหรับนักกีฬากลางแจ้งอาจจะต้องการคุณสมบัติมากกว่านี้คือ ป้องกันยูวีได้ 99 เปอร์เซ็นต์ และกรองแสงได้ 97เปอร์เซ็นต์
ในเมืองไทยเองก็เคยมีการทดสอบคุณภาพของแว่นกันแดดด้วยเช่นกัน
พญ. ภัทนี สามเสน ภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้
ทดลองซื้อแว่นกันแดดตั้งแต่ราคา 199 บาทไปจนถึงแว่นแบรนด์เนมราคาแพงมาทำการตรวจหาการกรองแสงยูวี โดยพบว่า แว่นทั้งหมดสามารถผ่านมาตรฐานของ ANSI กล่าวคือ ถึงแม้จะป้องกันแสงยูวีได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยู่ในระดับที่ช่วยปกป้องสายตาจากแสงแดดได้ โดยคุณภาพของการป้องกันแสงยูวีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา ยี่ห้อและความหนาทึบของสีเลนส์แต่อย่างใด
นพ. กีรติ อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจวัดหาคุณภาพของการกรองแสงยูวีในแว่นกันแดด เอาไว้ว่า ถ้าอยากวัดว่าเลนส์ป้องกันแสงยูวีได้มากน้อยแค่ไหนก็จะมีเครื่องทดสอบอยู่ แต่ไม่ใช่ว่ามีทุกร้าน มีบางร้านเท่านั้น ร้านใหญ่ๆ บางร้านอาจไม่มีก็ได้ ถ้าถามว่ามีวิธีรู้ได้อย่างไรว่า แว่นกันแดดแต่ละอันมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะรู้ได้ยังไง เวลาเลือกซื้อ ถ้าแว่นราคาแพงมีแบรนด์ ก็จะต้องมีระบบตรวจสอบคุณภาพที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แว่นราคาถูกจะไม่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน
ดังนั้น วิธีการเลือกซื้อแว่นกันแดดขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยๆ ต้องดูป้ายบอกคุณสมบัติของแว่นมากกว่าป้ายราคา นั่นก็คือ ควรเลือกแว่นที่สามารถป้องกันยูวีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือที่
เขียนว่า 400 UV protection และที่สำคัญก็คือว่า แว่นที่สามารถกรองแสงยูวีได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีเข้มหรืออ่อนของเลนส์ เพราะแสงยูวีนั้นเป็นแสงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตามนุษย์ แว่นใสจึงสามารถกรองแสงยูวีได้เช่นกัน
ถ้ามองในแง่ของคุณภาพวัสดุ ดีไซน์ ความคงทน หรือแม้แต่ความชอบส่วนบุคคลแล้ว ราคาอาจจะเข้ามามีความสำคัญ กล่าวคือ ถ้าแว่นราคาแพงก็มีแนวโน้มที่จะใช้วัสดุที่คงทนและสวยงามกว่า แต่ถ้ามองในแง่การป้องกันแสงยูวีแล้ว แว่นกันแดดทั่วๆ ไปต่างก็มีคุณสมบัตินี้ เพียงแต่แว่นราคาถูกอาจจะไม่ทนทานและไม่สวยงามเหมือนแว่นของดีไซเนอร์ชื่อดัง
ชอบแบบไหน ซื้อแบบนั้น ขอเพียงสวมใส่ให้ติดเป็นนิสัย เพราะแว่นกันแดดไม่ใช่แค่ที่คาดผมหรือเครื่องประดับ แต่ช่วยให้คุณมีดวงตาคู่นี้ไว้ใช้ตราบนานเท่านาน
http://www.herbalone.net/index.php?option=com_content&task=view&id=562&Itemid=41หวังว่าคงพอมีประโยชน์บ้างนะครับ