http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000159076ปืน ความปลอดภัย - ความขัดแย้ง = ความรุนแรงในสังคมไทย
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 10 พฤศจิกายน 2553 18:15 น.
ไม่นานมานี้ ข่าวของนักเรียน ม.3 ที่เผลอทำปืนลั่นใส่เพื่อน จนทำให้เพื่อนเสียชีวิต ได้ตีพิมพ์หราอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ ต่อมาอีกไม่กี่วัน ก็มีข่าว ครูฟิตเนสย่านปิ่นเกล้าโดนยิงตัดขั้วหัวใจ จากระยะไกล ก็กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทับซ้อนขึ้นมา
ข่าวความรุนแรงจากอาวุธปืนเหล่านี้ แต่เดิมนั้น มักจะเดินทางมาจากประเทศอีกฝั่งของโลก อย่างอเมริกามากกว่า
แต่จะว่าไปแล้ว หากย้อนมองลงไป เรื่องราวคดีอาชญากรรมของบ้านเรา ล้วนแต่มีเรื่องของอาวุธปืนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะของเครื่องมือกระทำความผิดทั้งนั้น เอาเฉพาะแค่ช่วงสัปดาห์เดียว ก็มีทั้งกรณีดาบตำรวจยิงพวงสวรรค์พ่อค้าไก่ทอดที่กาญจนบุรี (30 ต.ค.), ทหารหญิงโดนแฟนตำรวจยิงที่ย่านเตาปูน (2 พ.ย.), สองมือปืนยิงเซียนไฮโลที่สุราฎร์ฯ ฯลฯ
สถานการณ์ความรุนแรงจากปืนเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นถี่แต่เฉพาะในปัจจุบัน เพราะจากสถิติของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) พบว่าบ้านเราในช่วงปี 2541-2543 นั้น เป็นประเทศที่มีคดีฆาตกรรมโดยการใช้ปืนมากถึง 79.58% ซึ่งถือว่าสูงมาก หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก
หรือว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืนในบ้านเรา กำลังก้าวตามสหรัฐอเมริกามาแบบหายใจรดต้นคอ
ดังนั้น ก็พอจะอนุมานได้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อย เป็นคนที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และในบางครั้ง คนเหล่านั้นก็เลือกที่จะใช้ปืนในมือเป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้ง
อาวุธปืนมาจากไหน
ที่ผ่านมา สถิติอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตั้งแต่ปี 2503-2546 นั้น มีจำนวนมากกว่าล้านกระบอกทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบันเมืองไทยมีการครอบครองอาวุธปืนสูงถึงกว่า 4 ล้านกระบอกแล้ว (สถิติจากบทความของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) จำนวนที่ว่านั้น หมายถึงปืนที่มีกันแบบถูกกฎหมายเท่านั้น ยังไม่นับปืนเถื่อนที่หาซื้อกันได้ไม่ยากในตลาดมืด
การซื้อขายปืนนั้น จะจำหน่ายได้ตามใบอนุญาตขอซื้อปืนเท่านั้น คือผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาต ข3. ซึ่งนายทะเบียนท้องที่เป็นผู้พิจารณาออกให้ แต่โดยส่วนมากแล้วข้าราชการจะซื้อในโครงการสวัสดิการของเขามากกว่า ส่วนประชาชนทั่วไปก็จะซื้อไว้เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน แต่ก็ต้องมีใบอนุญาตเหมือนกันนะ
พิชัย ถนอมทรัพย์ เจ้าของร้านปืนดำริ และนายกสมาคมผู้ประกอบอาวุธปืนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวิธีการได้มาของปืนแบบถูกกฎหมาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ปืนมีทะเบียน
แล้วสำหรับปืนที่ไม่มีทะเบียน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมของบรรดาอาชญากรล่ะ?
โอ้ย! เมื่อก่อนกับสมัยนี้ก็หาได้ง่ายพอๆ กันนะ แค่มีเงินก็พรรคพวกนิดหน่อยก็สามารถมีได้แล้ว
นั่นเป็นคำตอบของ น้อย (ขอสงวนนามจริง) ข้าราชการภูธร ที่เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น เขาก็เป็นคนหนึ่งที่มีปืนเถื่อนไว้ในครอบครอง แต่โชคดีที่เขายังไม่มีโอกาสได้ลองใช้มัน
คือปืนเถื่อนนี่ ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะเข้ามา 2 ทาง คือจากพม่า เดินทางเข้ามาแถวๆ เมืองกาญจน์ ก็อย่างที่รู้กันว่า ต้องเป็นคนมีสีบางคน หรือเป็นคนที่มีแบ็กดีๆ เอาเข้ามา เพราะไม่อย่างนั้นก็ยาก ไม่มีหรอกที่เป็นตาสีสาตาไปเอามาขาย ส่วนอีกทางก็มาจากภาคใต้ผ่านทางจังหวัดชายแดน แถวๆ นั้นปืนนี่หาได้ง่ายมากแล้วก็ซื้อขายกันอิสระ เพราะมันไม่ต้องใช้เอกสารอะไร และจากสองแหล่งนี้มันก็ถูกส่งต่อไปทั่วประเทศ
ก็สมัยก่อนนั้นก็ซื้อกันแค่ 2-3 พันบาทเท่านั้น แต่สมัยนี้มันก็แพงขึ้น ที่นิยมกันมากก็จะเป็น 9 ม.ม. แบบกระสุน 7 นัด ราคาก็อยู่ราวๆ 6 - 8 พันบาท ส่วนพวกปืนอีโบ๊ะที่ใส่กระสุนลูกซองนั้นได้นัดเดียวนั้น จะเป็นปืนไทยประดิษฐ์ หรือไม่ก็มาจากทางจีน ซึ่งมันไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่
และเมื่อถามว่าทุกวันนี้ยังมีปืนเถื่อนอยู่ในครอบครองหรือไม่ น้อยก็บอกว่าไม่มีปืนเถื่อนไว้ในครอบครองแล้ว
ผมมีแต่ของถูกกฎหมายเก็บไว้เอง เป็นปืน 9 มม. แบบกระสุน 10 นัด ซึ่งเอาพวกเอกสารหลักฐานไปซื้อมาจากย่านวังบูรพา ส่วนราคานี่ก็เลยครึ่งแสนไปนิดหนึ่ง นี่ขนาดว่ามีส่วนลดแล้วนะ ส่วนเรื่องของความรุนแรงนี่ผมว่าไม่เกี่ยวเท่าไหร่ มันอยู่ที่ว่าเราจะใช้มันรึเปล่า ถ้าคิดจะใช้ คนมีมีดมันก็ใช้ฆ่าคนได้เหมือนกัน
ปืน = ความรุนแรง
ซึ่งประเด็นอาวุธปืนกับความรุนแรงในสังคมไทยนั้น ในสายตาของ งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ปัจจุบันมีการใช้ปืนเพื่อตอบโต้และแก้ไขปัญหามากขึ้น คำถามก็คือปืนเหล่านี้ไปอยู่ในมือของพลเรือนได้อย่างไร
เข้าใจว่าในช่วงปี 2546 มีความพยายามจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการถือครองอาวุธปืน แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถใช้อาวุธขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แต่เราก็จะเห็นหลายๆ กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังพกปืนเวลาไปเที่ยวผับ แล้วเราจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร
เพราะทุกวันนี้ แม้จะมีการควบคุมโควตาอาวุธปืนสำหรับร้านขายอาวุธปืน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปืนสวัสดิการของกระทรวงมหาดไทยอีกจำนวนมาก ยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยิ่งทำให้ปืนส่วนนี้แพร่ระบาด มิพักต้องพูดถึงว่า ปืนจำนวนนี้เล็ดลอดออกไปเป็นปืนเถื่อนอีกแค่ไหน
กลายเป็นว่าปืนกำลังเป็นทางออกของปัญหาสังคมไทย ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐในการสร้างสังคมที่ปลอดภัย
พอคุณมีอาวุธปืนอยู่ในมือ มันก็ง่ายที่เวลาคุณมีปัญหาอะไรก็จะใช้ปืนจัดการกับคู่กรณี เราเองก็ต้องกลับมาถามว่าสภาพสังคมไทยเป็นอย่างไร มันคงเชื่อมโยงกับบริบทอื่นๆ ว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้
เรามักจะคิดว่าการมีอาวุธปืนคือความปลอดภัย แต่ไม่ได้คิดถึงว่าสิ่งที่คนคนหนึ่งทำอาจจะผิด แต่ถึงกับสมควรตายหรือไม่ ดิฉันมีคำถามว่าการตายของบุคคลหนึ่งๆ มันช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างสังคมไทยยังไง หรือแม้แต่การเชื่อว่าปืนคือทางออก และสร้างความปลอดภัย มันเท่ากับว่ารัฐไม่ต้องรับผิดชอบ ปล่อยให้จัดการกันเอง แล้วเด็กก็เติบโตกันมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ และเดี๋ยวนี้ก็หาง่าย ไม่สามารถตรวจสอบได้
การแพร่ระบาดและใช้ความรุนแรงจากอาวุธปืน นอกจากจะบ่งชี้ความหละหลวมของรัฐในการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนแล้ว อีกด้านหนึ่ง มันเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า กลไกต่างๆ ทางสังคม วัฒนธรรม กฎหมาย หรือศีลธรรม ที่คอยควบคุมความรุนแรงและเยียวยาความขัดแย้งกำลังไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น
..........
แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะถ้าให้มองดูจริงๆ แล้ว กลไกที่มาช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความปลอดภัยให้แก่คนในสังคมรูปแบบอื่นๆ มันก็แทบจะใช้ไม่ได้จริงแล้วนี่นา ดังนั้น อาวุธปืน อาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ใช้จัดการความขัดแย้งและสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคมที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ