http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20120803/464395/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7-:-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89-(1).htmlปัญหาข้าว : ความจริงที่ประชาชนต้องรู้ (1)
ถ้ามีรัฐบาลชุดใด มาขอเงินภาษีของประชาชน 120,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าจะนำไปช่วยชาวนา ประชาชนคงตกใจกับจำนวนเงินที่มหาศาล
แล้วก็ทำใจได้ เพราะจำนนต่อเหตุผลที่อ้าง แต่ประชาชนก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะถามรัฐบาลเพื่อให้ได้รู้ความจริงว่า จะช่วยชาวนาอย่างไร และเงินทุกบาททุกสตางค์ได้นำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและจะมีการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ ในประการสำคัญจะมีส่วนใดที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น เพื่อที่ในอนาคตชาวนาจะได้เข้มแข็งสามารถช่วยตัวเองได้ การที่ต้องใช้เงินอุดหนุนในลักษณะอุปถัมภ์ก็จะลดน้อย ประชาชนก็จะมีเงินเหลือไปใช้เพื่อการศึกษาของลูกหลานและการรักษาพยาบาลให้กับคนที่มีรายได้น้อย ได้มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน
ตลอดเวลากว่า 2 ทศวรรษ ปัญหาชาวนายังคงมีอยู่ซ้ำๆ และต่อเนื่อง กล่าวคือ ความยากจน หนี้สิน คุณภาพชีวิต และปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินและน้ำ บางปีราคาข้าวเปลือกตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต หรือภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคหรือแมลงระบาด ทำให้ประสบการขาดทุน
สังคมไทยถูกทำให้เชื่อด้วยวาทกรรมว่าข้าวเป็นพืชการเมือง นักการเมืองจึงมาเล่นกับชาวนาในเรื่องของการแข่งกัน แจกเงิน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใครแจกได้มากกว่าผู้นั้นจะชนะการเลือกตั้ง เราจึงพบว่ามีการใช้เงินของรัฐสูงขึ้นทุกยุค จากการแทรกแซงราคาข้าวด้วยเงิน 20,000-30,000 ล้านบาท มาเป็น 40,000 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้ว และในรัฐบาลชุดนี้ ที่ใช้โครงการจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด ที่คาดว่าจะต้องสูญเสียเงินอีกประมาณ 120,000 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละวิธีการที่นักการเมืองนำมาใช้แก้ปัญหานั้น ได้สร้างผลเสียหายให้กับประเทศแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
โครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในขณะนี้ คือ โครงการจำนำข้าวทุกเม็ด และประชาชนก็ถูกวาทกรรมต่างๆ ทำให้หลงไปว่า โครงการที่กล่าวมา คือ การจำนำข้าวในความหมายที่แท้จริง แต่ความจริงแล้ววิธีการจำนำเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการรักษาเสถียรภาพกลไกตลาดและราคา โดยเฉพาะกับพืชเกษตรเช่นข้าว ที่มีการเก็บเกี่ยวเป็นฤดูกาล ชาวนาก็จะเก็บเกี่ยวพร้อมๆ กัน ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดก็จะมีจำนวนมาก เป็นเหตุให้ราคาตกต่ำ การปล่อยให้ชาวนาต่างคนต่างช่วยเหลือตนเอง ด้วยการเก็บเกี่ยวข้าวไว้รอเวลาให้ราคาสูงทำไม่ได้ เพราะชาวนาทุกคนต้องใช้เงิน การทำให้ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดสมดุลกับความต้องการ จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวเปลือก ด้วยการดึงปริมาณข้าวออกจากตลาดในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณร้อยละ 20-30 โดยการรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาและจ่ายเงินให้ชาวนาไปก่อน ร้อยละ 80-90 ของราคาตลาด เพื่อให้ชาวนามีเงินไว้ใช้จ่าย
ต่อเมื่อใดที่ราคาตลาดสูงขึ้นกว่าราคาจำนำ ชาวนาก็จะมาไถ่ถอนจากรัฐบาลและนำไปขายในตลาดปกติ ทั้งนี้ รัฐบาลอาจคิดดอกเบี้ยเล็กน้อย หรือไม่คิดดอกเบี้ยก็ได้ ส่วนอายุการไถ่ถอนจะในเวลา 3-4 เดือน วิธีการที่ถูกต้องเช่นนี้ ทั่วโลกก็ใช้กันเป็นปกติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้ใช้โครงการจำนำยุ้งฉางของชาวนากับลูกค้าของธนาคารมากว่า 15 ปีแล้ว และประสบความสำเร็จด้วยดีมาตลอด
ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด โดยให้ราคาสูงกว่าตลาดปกติเกือบร้อยละ 60 เช่นนี้ จึงไม่ใช่การจำนำ แต่เป็นการที่รัฐบาลซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ข้อยืนยัน คือ ในจำนวนข้าวเปลือกที่จำนำ 17 ล้านตัน ไม่มีการไถ่ถอนของชาวนาแม้แต่ 1 ตัน และโดยผลของโครงการ คือ รัฐบาลต้องเป็นผู้ขายข้าวสารแต่ผู้เดียวด้วย มิไยที่เสียงท้วงติงจากผู้รู้ว่า นี่ไม่ใช้การพัฒนาข้าวและชาวนา แต่จะทำให้คุณภาพข้าวต่ำลง และชาวนาอ่อนแอ รอคอยความช่วยเหลือตลอดเวลา กลไกตลาดข้าวถูกทำลาย ตลาดข้าวไทยในต่างประเทศจะสูญเสียให้กับคู่แข่ง เพราะราคาข้าวไทยแพงที่สุด จนไม่มีผู้ซื้อ จะขาดทุนจำนวนมหาศาล และการสร้างวงจรการทุจริตอย่างมโหฬารในทุกจุด ตั้งแต่เริ่มจำนำข้าวเปลือก ข้าวสารส่งคลังรัฐบาล และการขายข้าวสารจากคลังรัฐบาล สุดท้ายวินัยทางการเงินจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการคลังของประเทศในอนาคตอันไม่ไกล แต่เสียงเตือนเหล่านั้น ก็ถูกผู้รับผิดชอบโครงการโจมตีกลับว่า เป็นเรื่องของผู้สูญเสียประโยชน์ หรือพวกเห็นแก่ตัว
ในประเด็นเรื่องจำนำหรือซื้อ มีเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนด้านข้าวของโลก เช่น ORYZA และ BLOOMBERG กลับไม่เชื่ออย่างที่คนไทยถูกทำให้เชื่อ เพราะในทันทีที่รัฐบาลประกาศนโยบายเดินหน้าโครงการจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด ในราคาที่สูงกว่าตลาดปกติร้อยละ 60 ORYZA ก็รายงานไปทั่วโลกว่า มันไม่ใช่การจำนำ (PLEDGE) แต่เป็นการที่รัฐบาลไทยซื้อข้าวจากชาวนา (GOVERNMENT BUY) ในข่าวก็มีคำถามต่อไปว่า การที่รัฐบาลทำให้ข้าวไทยมีราคาแพงที่สุดในตลาดแล้ว ข้าวนี้ก็จะไม่มีคนซื้อแล้วจะทำอย่างไร คำตอบแบบยิ้มๆ มีว่า รัฐบาลก็ต้องเก็บไว้กินเอง (EAT AT HOME) คนไทยที่อ่านข่าวนี้ต้องรู้สึกเลือดขึ้นหน้าทันที ไม่ได้เจ็บใจผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่เจ็บใจที่ว่าเรื่องตลกเล็กๆ นี้ ทำไมประเทศไทยถึงต้องสูญเสียเงินไปกับโครงการนี้กว่า 100,000 ล้านบาทด้วย
บัดนี้โครงการจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด ได้เดินทางมาใกล้จะจบลงในวันที่ 15 กันยายน 2555 แล้ว แต่ตลอดเส้นทางที่ผ่าน ผลลัพธ์ที่ออกมามีมากมาย และเป็นคำตอบให้กับประชาชนได้รู้ว่า คำวิจารณ์และข้อเสนอแนะของผู้รู้ทุกภาคส่วนนั้นถูกหรือผิด และใครได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ แต่ที่แน่นอน ก็คือ ประเทศได้รับความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ข้าวไทย
ข้อมูลที่ปรากฏ คือ รัฐบาลซื้อข้าวเปลือกนาปีจากชาวนาจำนวน 6,799,284 ตัน ใช้เงิน 112,826 ล้านบาท ในส่วนนี้เมื่อคำนวณตัวเลขจากราคาที่รัฐบาลซื้อ ลบด้วยราคาข้าวเปลือกในตลาดภายในประเทศ ณ ปัจจุบัน จะขาดทุนจากข้าวทุกชนิดตั้งแต่ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า รวมกันประมาณ 36,730 ล้านบาท (ถ้าคำนวณโดยใช้ราคา FOB ในราคาที่ข้าวเปลือกไทยจะขายได้ในตลาดโลก ก็จะมีตัวเลขขาดทุนมากกว่านี้)
สำหรับข้าวนาปรัง เมื่อสิ้นโครงการประมาณว่าจะมีข้าวเปลือก 10.6 ล้านตัน จะใช้เงิน 167,174 ล้านบาท โดยวิธีการคำนวณเช่นเดียวกัน คาดว่าจะขาดทุน 70,669 ล้านบาท รวมโครงการทั้งนาปี นาปรัง จะใช้เงิน 280,000 ล้านบาท และขาดทุน 107,399 ล้านบาท (สถาบัน TDRI ได้เคยวิจัยพบว่าในโครงการจำนำเงินจะตกถึงมือชาวนาจะได้รับไม่เกินร้อยละ 50) ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายโครงการ ค่าเสียหายจากข้าวเสื่อมหรือปลอมปน ที่สำคัญ จากการทุจริตคอร์รัปชันทุกขั้นตอนอีกนับหมื่นล้านบาท
คำตอบที่ประชาชนอยากรู้ คือ อะไรเป็นแรงจูงใจให้เกิดโครงการมหาภัยต่อประเทศเช่นนี้ จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนทุกแขนงและการรับรู้ของคนในวงการค้าข้าว เราสามารถวิเคราะห์หาคำตอบว่า มีแรงจูงใจ 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 การประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อกรกฎาคม 2554 อ้างว่าจะช่วยชาวนาได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่น โดยจะให้ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ข้าวเจ้าตันละ 15,000 บาท จนได้คะแนนเสียงมาเป็นรัฐบาล อุปมาก็เหมือนกับ เอามือซ้ายจับชาวนาเป็นตัวประกัน ส่วนมือขวาจ่ายค่าไถ่ด้วยเงินภาษีของประชาชน
ประการที่ 2 มีแนวคิดที่จะผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาล โดยอ้างผลดีต่างๆ นานา แต่ภายใต้นโยบายนี้ก็มีวาระในการแสวงหาผลประโยชน์จากข้าวของโครงการ โดยกลุ่มธุรกิจที่เป็นพรรคพวกและบริวารของนักการเมือง
ประการที่ 3 เป็นที่รู้กันในวงการค้าข้าวว่า การซื้อข้าวจากโกดังของรัฐบาล ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับการเมือง ไม่ต่ำกว่าตันละ 500-1,000 บาท สุดแต่จังหวะและโอกาสจะอำนวย ดังนั้น ข้าว 1 ล้านตัน เท่ากับการเมืองได้รับไป 500-1,000 ล้านบาท และเป็นที่รู้กันในวงการเมืองของทุกพรรคการเมืองว่านี่คือแหล่งขุมทรัพย์ที่นักการเมืองใช้หาเงิน และก็จะอ้างเพื่อลดความละอายในจิตใจของตนเองว่า การเมืองต้องใช้เงิน เพื่อไปซื้อเสียง และสร้างอิทธิพล จึงจะสามารถชนะการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศได้
ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนจะตื่นรู้ และลุกขึ้นมาบอกกับนักการเมือง ว่า พอกันทีความเป็นรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าจะมีความชอบธรรมที่จะกำหนดนโยบายอะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่เห็นชัดเจนว่ามันสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ตรงกันข้าม ประชาชนต่างหากที่มีความชอบธรรมที่จะต่อต้านนโยบายที่เลวร้ายนั้น
Tags : ปราโมทย์ วานิชานนท์