ยังไม่อาจชี้ชัดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูก หรือผิดได้ครับ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร
อาทิเช่น ระยะห่างของรถ ระหว่างคันของเรา กับคันหน้า
จุดที่ชนกันห่างจากจุดกลับรถเท่าใด เพียงไหน
การเบรคของเราว่าแรง หรือกระทันหันหรือไม่
ความเร็วของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
ความเสียหายที่เกิดขึ้นสภาพรถที่ชน รุนแรงหรือไม่ ฯลฯ
ซึ่งปกติฝ่ายที่เจ็บมากกว่า มักจะคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เพราะเจ็บมากกว่า จนลืมตัวไปว่าตัวเองก็มีส่วนประมาทเช่นเดี๋ยวกัน
หรือมักจะคิดตามประสา ว่ารถใหญ่ ต้องเป็นฝ่ายผิด ซึ่งไม่เป็นความจริง
น้องชายเจ้าของกระทู้ถือว่ามีความรับผิดชอบครับที่ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ โดยไม่ต้องดูว่าใครผิดใครถูกก่อน
ซึ่งบางครั้งผลที่ตามมาอาจเลวร้ายไปบ้าง เช่น ถูกติติงจากฝ่ายที่บาดเจ็บ หรือถูกด่าทอ บางครั้งมีการลงไม้ลงมือกัน
แต่แท้จริงแล้ว ยังไม่รู้ว่า ใครผิดหรือถูก หรือไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็มีส่วนผิดมากกว่าด้วยซ้ำ
๑. จำเป็นต้องหาทนายความไม่ ในชั้นเจรจาค่าเสียหายในโรงพัก หากสามารถตกลงกันเองได้ในส่วนนี้ ถือว่ายังไม่จำเป็นครับ
แต่หากจะแต่งตั้งให้ไปร่วมฟังการเจรจา ก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด
ซึ่งในบางครั้งนักกฎหมายทั้งสองฝ่าย สามารถพูดคุยสื่อสารเข้าใจกันได้มากกว่า คู่กรณีที่กำลังเจ็บแค้นหรือโกรธอยู่
แต่หากคู่กรณีหัวหมอ แถมทนายของอีกฝ่าย ไม่ถือหลักประนีประนอม ก็ควรจะมีไว้
แต่สุดท้ายจะต้องใช้ทนายความหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อหาของพนักงานสอบสวนตั้งให้แก่เรา หากเปรียบเทียบปรับได้ก็ดีไปครับ
แต่หากอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บเลวร้าย และความเสียหายไม่อาจตกลงกันได้ งานนี้คงต้องหาทนายความไว้เตรียมรูปคดีละครับ
๒. มุมมองผมค่อนข้างที่จะถือว่าเป็นประมาทร่วม แต่ยังไงอยู่ที่การสอบสวนที่เกิดเหตุ และพยานครับ
๓. หากพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การเฉี่ยวชนกันนั้น เกิดจากฝ่ายคุณเบรคอย่างกระทันหัน เพราะรถคันหน้ากำลังจะกลับรถ
แต่ฝ่ายคุณกลับไม่เว้นระยะห่างระหว่างรถของคุณกับรถที่กำลังจะกลับรถ หรืออะไรก็ตามที่ถือว่าคุณผิด
แต่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ก็ขับรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในที่เกิดเหตุด้วยแล้ว ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนครับ ว่าทั้งสองฝ่ายประมาทร่วมกัน
๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าการเฉี่ยวชนกันนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นแท้งลูกนั้น
ถือว่าผู้ประมาท มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ ที่ว่า
ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนติดคุกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเยียวยาความเสียหาย และความรับผิดชอบของผู้ก่อเหตุครับ
๕.ติดตามดูสำนวนครับ ว่าทางพนักงานสอบสวนจะมีความเห็นอย่างไร
หากสามารถถ่ายรูปที่เกิดเหตุ สภาพรถทั้งสองฝ่ายไว้เบื้องต้น ถ่ายสรรพเอกสารที่พนักงานสอบสวนสามารถคัดถ่ายให้ได้ไว้เสมอๆ จะเป็นการดีมากครับ
แต่อย่างไรก็พยายามติดตามอาการคนได้รับบาดเจ็บให้อาการหายดีขึ้น
ซึ่งหากสุดท้าย ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรง สถานการณ์ก็จะดีขึ้นเองครับ