ผมยังหารูปได้ไม่ครบนะครับ จึงมีมาเพียงบางส่วน
Field Target shooting หรือเรียกสั้น ๆ ว่า FT นั้น เป็นการแข่งขันเลียนแบบการล่าสัตว์ โดยการใช้ปืนลมแรงสูง และมีความแม่นยำมาก ยิงเป้ารูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก หนู กระต่าย ฯลฯ กีฬาประเภทนี้ เริ่มในประเทศอังกฤษที่เมือง Sussex โดยมีนักยิงปืนลมราว 100 คน จากทั่วประเทศอังกฤษมาร่วมเริ่มทดลองกีฬาชนิดใหม่ ซึ่งมีกติกาซึ่งดูเหมือนจะง่าย ๆ คือ คะเนระยะทางถึงเป้า ปรับกล้องเพื่อให้วีถีกระสุนปะทะได้ตรงเป้า และยิงไปยังเป้ากระดาษที่มีรูปตัวสัตว์ต่าง ๆ
ปัจจุบัน กติกาก็ยังคงเหมือนเดิม ผิดกันตรงที่ว่าอุปกรณ์นั้น ทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม แถมยังมีความนิยมไปทั่วโลก แต่ที่นิยมกันมากที่สุดก็คงได้แก่ ประเทศอเมริกาและอังกฤษ
เป้าในสมัยปัจจุบันนั้น ทำจากเหล็กกล้าขนาดหนา ตัดเป็นรูปตัวสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถใช้ปืนลมล่าได้ จะมีรูในตำแหน่งเหมาะสมที่เรียกว่า kill-zone ด้านหลังรูจะมีแผ่นกลมสีส้มสดติดกับกลไก ซึ่งถ้ากระสุนผ่าน kill-zone จะกระทบมัน ทำให้เป้าล้มลง เหมือนสัตว์ตัวนั้นถูกยิงตาย แถมยังมีเสียงดัง แคล้ง เป็นของกำนัล แต่ถ้ายิงผิด ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น นอกเสียจากคนยิงที่ทำหน้าตาบูดเบี้ยวด้วยความผิดหวัง ชมรมที่ผมเป็นสมาชิกอยู่นั้น มีเป้าแปลก ๆ ให้ชวนหัวและยั่วยวนมากมาย เช่น เป้ารูปชีส ที่มีรูใหญ่น้อยเต็มไปหมด แต่เจ้ารูเหล่านั้นหาใช่ kill-zone ไม่ เพราะถ้ายิงตรงรูใดรูหนึ่ง เป้าจะไม่ล้ม ถือเป็นผิด ต้องยิงส่วนอื่นนอกรูเท่านั้น อีกเป้าเป็นเป้าคู่ เป็นงู 2 ตัว ตัวซ้ายต้องยิงหัว ส่วนตัวขวาต้องยิงตัวถึงจะได้คะแนน เป้าบางเป้าที่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งยาก เขาก็จะใช้เป้าหมุนแทน เหมือนเป็นชิงช้าถ้ายิงถูกเป้าก็จะแกว่งไปมา ไม่ต้องดึงเชือกตั้งใหม่ เพียงแต่รอให้หยุดแกว่งก็พร้อมใช้ได้ต่อไป อ้อ ยังมีอีกเป้าที่ทำเป็นรูปพระจันทร์ขึ้นอยู่บนหลังคาบ้าน แต่เป็นพระจันทร์ไม่ถึงครึ่งเสี้ยวคือ kill-zone กลับกลายเป็นเสี้ยวไปเสีย
เป้าแข่งขันปัจจุบัน ออกแบบมาให้ล้มก็ต่อเมื่อถูกยิงกลางเป้า หรือกลาง kill-zone แต่ถ้ายิงไปถูกขอบและกระสุนแตกไปโดนแผ่นสีส้ม เป้าจะไม่ล้ม แบบนี้เรียกว่า split pellet เมื่อเป้าล้มแล้ว ก็สามารถตั้งกลับคืนได้ง่ายโดยการดึงเชือกที่ผูกติดอยู่กับกลไกด้านหลัง เดิมทีนั้น kill-zone มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว แต่ปัจจุบัน นอกจากอุปกรณ์ดีขึ้น คนยิงก็มีฝีมือดีขึ้น จึงมีการลดขนาด kill-zone ลง แม้แต่ ½ นิ้วก็มีให้เห็นทั่วไป แต่ที่ชมรมที่ผมแข่งประจำมีอยู่เป้าหนึ่ง หมายเลข 26 เป็นอีกา (ผมแปลกใจว่านกกาแพร่พันธุ์อย่างไร ในเมื่อมีแต่เพศเมีย???...555) ระยะห่าง 13 หลา มีรู kill-zone ขนาดเพียง 3/8 นิ้ว แถมยังอยู่ในมุมต่ำลงไป และมีกิ่งไม้ต้นหญ้าปิดบังตลอดระยะ ไม่ว่าใครเมื่อมาถึงเป้านี้ อ้อ ลืมบอกอีกอย่างคือ เป้านี้เป็นเป้าแรกของสนามที่สอง คือหลังจากยิงเป้าที่ 25 ซึ่งเป็นเป้าสุดท้ายของสนามช่วงแรกเสร็จแล้ว คนยิงต้องเดินลัดเลาะตามทางบนไหล่เขาไปเป็นระยะทางพอสมควร พอได้หอบตอนมาถึงเป้า 26 ที่ว่า นับว่าคนออกแบบการวาง (ตำแหน่งและระยะทาง)และชนิด/ขนาดของเป้านั้น ได้คิดการไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี แถมยังมีการเปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ สองสามเดือนด้วย เป้า 26 นี้จึงเป็นเป้า ปราบเซียน ที่ผมต้องหมั่นซ้อม โดยหาตำแหน่งที่ยืนให้ดี ๆ ซึ่งผมพบว่าแทนที่จะยืนหันหน้าตรงเข้าเป้า ถ้าเดินเบี่ยงไปทางซ้ายประมาณ 3 ก้าว จะเป็นมุมที่ดีกว่า เพราะมีสิ่งบดบังน้อยกว่าและแสงดีกว่า ถึงแม้ว่าจะไกลกว่าเดิมไปสักหน่อย แต่การที่คนมาคอยยืนดูนั้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญ บางคนเหมือนถูกกดดันในขณะที่บางคนจะเกิดการประหม่าทำให้ยิงผิดได้ง่าย ๆ ก่อนยิงผมมักจะชวนคนที่ยืนดูคุยด้วย เพราะนอกจากเป็นการยืดเวลาพักผ่อนหลังจากการเดินมาถึง ยังเป็นการคลายเครียดและลดการเต้นของชีพจร เท็คนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เราต้องหมั่นสังเกตุและเลือกปฏิบัติ ถึงจะทำให้ประสพความสำเร็จได้
โดยทั่วไประยะถึงเป้าจะตกประมาณ 10 ถึง 50 หลา แต่ที่ผมแข่งมีตั้งแต่ 9 ถึง 63 หลา ดังนั้นจึงถือว่าการคะเนหาเป้าหรือ range finding เป็นการท้าทายความสามารถของผู้ยิงแข่งขันเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เขามักจัดเป้าตัวสัตว์ให้เหมือนอยู่ในธรรมชาติจริง ๆ เช่น พวกนกก็มักจะอยู่บนกิ่งไม้สูงขึ้นไป กระต่ายก็มักแอบอยู่หลังพุ่มไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ยิงแข่งขันจะต้องมองเห็น kill-zone ได้อย่างชัดเจน แต่อาจจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ตนเองยิงไม่ถนัด เช่น เป้าตัวหนูที่อยู่หน้ารูที่อยู่ต่ำติดดิน ถ้ายืนหรือนั่งยิง ก็อาจมองไม่เห็น kill-zone ต้องลงมานอนยิงเท่านั้น!!!
ทุกครั้งที่เป้าล้มนับเป็น 1 แต้ม ผิดก็ไม่ได้อะไร ในแต่ละเลนจะมีการวางเป้าไว้ 1 3 เป้าโดยแต่ละเป้าจะมีเสาติดเบอร์ของเป้าอยู่ข้าง ๆ จะทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ได้ ด้านหน้าของเลนจะมีเสากั้นและติดหมายเลขแสดงช่องของเลน ดังนั้นตอนยิงคนยิงจะต้องวางตำแหน่งปลายลำกล้องให้อยู่ในช่องระหว่าง 2 เสาประจำเลนนี้เท่านั้น คนยิงจะใช้ท่าอย่างไรก็ได้ตามถนัด แต่ส่วนมากมักจะนั่งยิง โดยยกเข่าชันขึ้นจนเกือบชิดหน้าอกและใช้เป็นแท่นรองยิง แต่ละเลนมักจะมี 3 คน คนแรกยิง คนที่สองจดแต้มและคนที่สามมีหน้าที่จัดการตั้งเป้าถ้าล้ม และก็หมุนเวียนหน้าที่กันจนทั้ง 3 คนได้ยิงกันจนครบทุกเป้า
การจัดสนามแข่งขัน FT นั้น ก็แล้วแต่ความเหมาะสมกับสถานที่ ถ้ามีที่น้อยก็ทำน้อยเลน เอาเป้าใส่ให้หลาย ๆ เป้าในแต่ละเลน ถ้าที่มากก็ออกแบบให้มีลูกเล่นได้หลากหลาย ชมรมที่ผมเป็นสมาชิกอยู่นั้น อยู่บนเขามีเนื้อที่กว่า 60 ไร่ คนออกแบบสนาม FT ทำได้แจ๋วมาก จนเป็นที่เรื่องรือว่าเป็นสนาม FT ที่สวยงามที่สุดในอเมริกา จากเรือนบัญชาการด้านหน้า จะมีทางเดินมาถึงจุดแรกคือจุดตั้งปืน ซึ่งผมหมายถึงตั้งกล้องนะครับ ไม่ใช่เอาปืนไปวางตั้ง เขาจะจัดเป้าต่าง ๆ เอาไว้มากมายหลายระยะ แต่ละเป้าจะมีหมายเลขระยะกำกับบอกไว้ชัดเจน ยิงได้ครั้งละ 4-5 คนพร้อมกัน จุดนี้หลาย ๆ คนก็ถือโอกาสซ้อมไปด้วยเลย จากนั้นเดินต่อไปใต้ร่มไม้ ถึงทาง 3 แพร่ง ด้านซ้ายเริ่มเป้าหมายเลข 1 แต่ละเลนจะมีเพียงเป้าเดียว ด้านซ้ายมือนี้จะมีเป้าเบอร์ 1 ถึง 15 ซึ่งส่วนใหญ่เป้าจะอยู่ในแนวระนาบหรือสูงขึ้น เพราะเป็นเลนที่ขึ้นไปบนเขา ต่อไปเป้าที่ 16 ถึง 25 จะกลับมาอยู่ทางขวามือ และจะเป็นการยิงลงเขาเสียส่วนใหญ่ จากนั้นต้องเดินผ่านช่องเขาไปราว 100 เมตรไปสู่ช่วงที่สอง ซึ่งจะมีเป้าเบอร์ 26 ถึง 50 อยู่สลับกันทั้งทางซ้ายและขวา บางทีก็มี 2 เป้าด้านซ้ายมือ แล้วย้ายมา 1 เป้าด้านขวา แล้วกลับมาด้านซ้ายอีก ไม่มีกำหนดแน่นอน เพราะเขาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุก ๆ 2-3 เดือนโดยประมาณ อ้อ..เกือบลืมบอกไปว่า ที่สนามนี้ ยืนยิงอย่างเดียวครับ ปล. ตอนหลังสมาชิกสูงอายุหลายท่านบ่น ก็เลยเพิ่มประเภท hunter ให้ใช้ที่พาดยิงหรือนั่งยิงได้ แต่ห้ามใช้กล้องกำลังเกินกว่า 12 และห้ามใช้กล้องปรับหาระยะด้วย
การแข่งขัน field target นั้น มีทั้งใช้ปืนอัดลมสั้นและปืนอัดลมยาว แต่ปืนยาวจะเป็นที่นิยมมากกว่า โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ piston class และ open class โดยที่ piston class หมายถึงปืนลมสปริงที่มี recoil แบ่งเป็น standard piston กับ unlimited piston โดยที่ standard piston หมายถึงปืนแกะกล่องจากโรงงานราคาไม่เกิน 600 ดอลล่าร์ เช่น Beeman R11 ซึ่งนิยมกันมากใน class นี้ ส่วน unlimited piston นั้น ท่านจะดัดแปลงอย่างไรก็ได้
Open class ก็คือ ปืนอัดลมชนิดอื่น ๆ ซึ่งก็ได้แก่ Pre-charged ซึ่งไม่มี recoil สำหรับกระสุนนั้นจะใช้ .177 หรือ .22 ก็ได้ แต่ .177 จะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะวิถีกระสุนในระยะไกลจะไม่โค้งเหมือนกับ .22
กติกาโดยสังเขป
ตัวปืน
1. ปืนอัดลม ต้องเป็นปืนลมที่มีความปลอดภัย ยิงได้ครั้งละ 1 นัดเท่านั้น
2. ปืนอัดลมทุกกระบอก จะต้องผ่านการตรวจของคณะกรรมการ ถ้าพบว่าอาจไม่ปลอดภัย จะถูกห้ามใช้ในการแข่งขัน
3. ให้ใช้ปืนลมได้เพียง 1 กระบอกตลอดการแข่งขัน ยกเว้นในกรณีปืนเกิดขัดข้อง
กล้องหรือศูนย์เล็ง
1. จะใช้แบบไหนก็ได้
2. ห้ามใช้อุปกรณ์เล็งแยกส่วน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อหาระยะทาง
กระสุน
กระสุนรูปทรงชนิดใดก็ได้ แต่ต้องทำด้วยตะกั่วทั้งลูก
เป้า
1. เป้ารูปทรงต่าง ๆ ที่เมื่อถูกยิงแล้วจะล้มลง และสามารถตั้งใหม่ได้จากจุดยิง เป้าควรเป็นรูปสัตว์ที่ปกติใช้ปืนอัดลมล่าได้
2. ระยะห่างของจุดยิงถึงเป้าไม่ควรต่ำกว่า 10 หลา และไม่ควรเกิน 55 หลา
3. การแบ่งเลนและจุดยิงต้องถูกกำหนดให้ชัดเจน
4. Kill-zone หรือ hit-zone จะต้องเห็นได้ชัดเจน จากท่ายิงต่าง ๆ อย่างน้อย 1 ท่า
5. ผู้ยิงแข่งขันสามารถตั้งเป้าเองได้ ก็ต่อเมื่อผู้ให้คะแนนอนุญาตเท่านั้น
การให้คะแนน
1. ยิงถูกได้ 1 แต้ม ยิงผิดได้ 0
2. จะนับว่ายิงถูกก็ต่อเมื่อเป้าต้องล้มลง ในกรณีที่ แผ่นกลมหลัง hit-zone เคลื่อนไหวแต่เป้าไม่ล้ม ก็ถือว่ายิงผิด
3. ถ้าปืนลั่น โดยที่ผู้ยิงแข่งขันไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าจงใจยิงทิ้งลงดิน ถือว่ายิงผิด
การโต้แย้งคะแนน
1. จะต้องแจ้งต่อกรรมการ ก่อนที่ผู้ยิงแข่งขันจะออกไปจากเป้านั้น
2. ถ้ากรรมการตัดสินไม่ได้ ให้ผู้อำนวยการแข่งขันเป็นผู้ชี้ขาด
การลงโทษ
โทษของการกระทำผิดกติกา ไม่รักษาความปลอดภัย ไม่มีมรรยาท หรือพยายามโกง ให้ปรับเป็น หมดสิทธิ์แข่งขันทันที (disqualification)
ท่ายิง
1. จะยิงท่าไหนก็ได้ แต่อย่าลืมว่า บางเป้าท่านอาจต้องถูกบังคับให้ยิงท่าที่ตนเองไม่ถนัด
2. ตัวปืนจะต้องถูกรองรับได้เพียงมือหรือร่างกายส่วนอื่นของผู้ยิงแข่งขันเท่านั้น
3. อนุญาติให้ใช้ สายสะพาย (rifle sling) ได้
4. ห้ามใช้อุปกรณ์รองรับใด ๆ ที่มาสัมผัสตัวปืนหรือร่างกายของผู้ยิงแข่งขัน เช่น ขาตั้ง เก้าอี้ กิ่งไม้ ฯลฯ
5. ที่ปูรองสำหรับท่านั่งหรือนอนยิง ให้ใช้ได้ ตามกติกาดังนี้
4.1 ที่รองนั่งต้องมีความสูงไม่เกิน 6 นิ้ว วัดขณะที่ผู้ยิงแข่งขันอยู่บนที่รองดังกล่าว
4.2 ความสูง 6 นิ้วนั้น วัดจากพื้น ถึงจุดที่สูงที่สุดของที่รอง
4.3 ใช้เป็นที่รองนั่งได้เท่านั้น จะมาดัดแปลงทำเป้นอุปกรณ์ช่วยอื่น ๆ ไม่ได้
ลำดับการยิงเป้า
1. ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน จะเป็นผู้กำหนดว่ายิงเป้าไหนก่อนหลัง โดยทั่วไปจะเรียงลำดับจาก ซ้ายไปขวา และเป้าใกล้ที่สุดไปยังเป้าที่อยู่ไกลที่สุด เป็นต้น
2. ถ้ายิงผิดเป้า ถือว่ายิงผิดเป้าที่ควรยิง
3. ถ้าเป้าที่ถูกยิงล้มลงเป็นเป้าที่ผิด ให้ตั้งเป้านั้นเสียใหม่ ก่อนแข่งขันต่อไป
กำหนดช่วงเวลาการยิง
1. ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน จะเป็นผู้กำหนดว่าให้ใช้เวลาไม่เกินเท่าไหร่ในการยิงแต่ละเป้า และอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมระหว่างการแข่งขันได้ด้วย
2. เริ่มจับเวลา เมื่อผู้ยิงแข่งขันนำปืนขึ้นประทับบ่า หรือผู้ยิงแข่งขันกล่าวบอกว่าจะยิงเป้าเบอร์อะไร หรือนั่งลงพร้อมยิง ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้อำนวยการฯ จะเป็นผู้กำหนด
3. ถ้าผู้ยิงแข่งขันไม่สามารถยิงได้ทันในช่วงเวลาที่กำหนด ถือว่านัดนั้นยิงผิด
คะแนนเท่ากัน ในกรณีที่ผู้ยิงแข่งขันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้คะแนนเท่ากัน จะต้องมาทำการยิงตัดเชือก หรืออาจจะใช้วิธีอื่นใดที่เหมาะสมก็ได้
ในกรณีที่มีปัญหาอื่นใดนอกเหลือจากที่กำหนดข้างต้น ผู้อำนวยการแข่งขันจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
ธนาสิทธิ์ ศิริลักษณ์
๑๓ มกราคม ๒๕๕๔