ด้วยเหตุนี้แม้คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของกองทัพบกจะตรวจรับเรือเหาะทั้งระบบแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้งานจริงได้ เพราะต้องรอซ่อมแซมตัวเรือเหาะหรือเปลี่ยนเรือเหาะลำใหม่เสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน หรือถ้าจะนำขึ้นบิน ก็ต้องบินเฉพาะบริเวณเหนือค่ายทหาร หากบินออกไปด้านนอกจะเสี่ยงอันตรายมาก เนื่องจากระบบเรือเหาะทำเพดานบินได้แค่ 3,000 ฟิต (1 กิโลเมตร)
มีรายงานด้วยว่า ในท้ายเอกสารการตรวจรับเรือเหาะ คณะกรรรมการตรวจรับฯได้เขียนข้อเสนอเป็นความเห็นเพิ่มเติมว่า สภาพของเรือเหาะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ จึงขอให้บริษัทนำไปตรวจสอบซ่อมปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ที่สหรัฐอเมริกา เหตุระเบิดต้อนรับปี 2554 ที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งทำให้ ด.ต.กิตติ มิ่งสุข เจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หรืออีโอดี สังกัดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 447 ต้องเสียชีวิตคาชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด หรือ บอมบ์สูท กระทั่งมีการเปิดโปงในเวลาต่อมาว่า "บอมบ์สูท" ที่เจ้าหน้าที่ใช้นั้น เป็นชุดที่หมดอายุการใช้งานแล้ว สะท้อนถึงปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภารกิจดับไฟใต้ได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดจากการตรวจสอบเอกสารงบประมาณย้อนหลังไปถึงปีงบประมาณ 2551 และ 2552 พบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อ "บอมบ์สูท" ล็อตใหม่เอาไว้เมื่อปี 2551 จำนวน 118 ล้านบาท สำหรับบอมบ์สูท 9 ชุด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการส่งมอบ
ถัดจากนั้นในปีงบประมาณ 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังตั้งงบประมาณเพื่อซื้อบอมบ์สูทเพิ่มเติมอีก 14 ชุด จำนวน 214 ล้านบาท แต่ผ่านมาถึงปีงบประมาณ 2554 แล้ว ยังไม่มีการจัดซื้อตามงบประมาณที่ตั้งไว้แม้แต่ชุดเดียว
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้เรียกตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทางตำรวจอ้างว่าความล่าช้าเกิดจากการประมูลมีปัญหา ต้องยกเลิกการประกวดราคาไปถึง 2 ครั้ง ประกอบกับต้องการกำหนดสเปคใหม่ ทำให้ยังจัดซื้อบอมบ์สูทล็อตใหม่ไม่ได้
"ถือเป็นคำชี้แจงที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการตั้งงบพร้อมกำหนดจำนวนบอมบ์สูทที่จะจัดซื้อ แสดงว่ามีการกำหนดสเปคเอาไว้เรียบร้อย การพยายามเปลี่ยนแปลงสเปคในภายหลัง ไม่ทราบว่ามีการวิ่งเต้นหรือมีนอกมีในอะไรหรือไม่ ที่สำคัญงบประมาณก้อนนี้รวม 2 ปีงบประมาณสูงถึงกว่า 330 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้กำลังพลในพื้นที่ยังไม่ได้รับบอมบ์สูทล็อตใหม่ จึงต้องใช้บอมบ์สูทที่หมดอายุแล้ว จนเกิดความสูญเสียตามที่เป็นข่าว" แหล่งข่าว ระบุ
ปิคอัพหุ้มเกราะ 750 ล้านยังฝุ่นตลบ
โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อีกล็อตหนึ่งสำหรับภารกิจดับไฟใต้ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 คืองบที่กระทรวงกลาโหมขอแปรญัตติเพิ่มจำนวน 750 ล้านบาท จากงบปกติที่ได้รับแล้วถึง 1.7 แสนล้านบาทเศษ สำหรับจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนหน่วยที่ปฏิบัติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กำลังพลได้รับความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งก็คือ "รถยุทธวิธีกันกระสุน" จำนวน 300 คัน ราคาคันละ 2.5 ล้านบาท
สเปคของรถยุทธวิธีกันกระสุน ซึ่งเรียกกันว่า "รถปิคอัพหุ้มเกราะ" นั้น เป็นรถปิคอัพแบบดับเบิลแค็บ (สี่ประตู) เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ เสริมเหล็กขนาดความหนา 1-1.30 เซ็นติเมตรรอบตัวรถ หลังคารถ และพื้นที่ใต้ท้องรถ พร้อมติดกระจกกันกระสุนขนาดความหนาประมาณ 2 เซ็นติเมตรรอบคัน
แม้งบประมาณก้อนนี้ที่กระทรวงกลาโหมขอแปรญัตติเพิ่มจะได้รับอนุมัติจากสภาไปแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันกระบวนการจัดซื้อยังมีปัญหา โดยแหล่งข่าวจากวงการค้ายุทโธปกรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุของความล่าช้ามาจากคุณภาพของรถต้นแบบที่กระทรวงกลาโหมสั่งผลิตไม่ผ่านการทดสอบ
"จริงๆ แล้วรถปิคอัพกันกระสุนราคาอยู่ที่เกือบๆ ล้าน หรือ 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น หลายบริษัทในประเทศไทยก็ผลิตได้ ซ้ำยังคุณภาพดีกว่าบริษัทที่กระทรวงกลาโหมสั่งผลิตรถต้นแบบด้วย แต่เป็นที่รู้กันในวงการว่าผู้บริหารของบริษัทผลิตรถต้นแบบมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ในกองทัพ ทำให้ได้รับเลือก แต่เมื่อคุณภาพของรถยังไม่ผ่านการทดสอบ จึงยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะจบลงอย่างไร" แหล่งข่าว กล่าว
อนึ่ง รถปิคอัพหุ้มเกราะล็อตเก่าที่ใช้ปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นรถกระบะยี่ห้อดังสี่ประตู ราคาคันละ 8 แสนบาท มีค่ากระจกกันกระสุนเพิ่ม 5 แสนบาท รวมราคารถคันละ 1.3 ล้านบาท
"เรือเหาะ-เรือเหี่ยว"ปีกว่ายังบินไม่ขึ้น
ยุทโธปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาข้ามปีคือ "บอลลูนตรวจการณ์" หรือเรือเหาะ "สกายดรากอน" ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษโดยใช้งบประมาณถึง 350 ล้านบาท ด้วยหวังจะให้เป็น "ดวงตาบนฟากฟ้า" ป้องปรามและไล่ล่ากลุ่มก่อความไม่สงบด้วยศักยภาพของกล้องอินฟาเรดสุดทันสมัย มูลค่าเฉพาะตัวกล้องนับร้อยล้านบาท
ทว่าหลังจากจัดซื้อเมื่อกลางปี 2552 เรือเหาะลำนี้ต้องเลื่อนกำหนดปล่อยขึ้นปฏิบัติการมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน มีเพียงการทดสอบขึ้นบินในระยะความสูงเพียง 1,000 เมตร ทั้งๆ ที่ตามสเปคจริงต้องบินได้สูงถึง 3,000 เมตร เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากภาคพื้น ปัจจุบันเรือเหาะลำนี้จึงถูกเก็บอยู่ในโรงจอดภายในกองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ต่อมาเมื่อราวปลายปี 2553 มีการเปิดโปงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า สาเหตุที่เรือเหาะขึ้นปฏิบัติการไม่ได้ เนื่องจากพบรอยรั่วจำนวนมากบริเวณผืนผ้าใบ ซึ่งข้อกล่าวหานี้ฝ่ายกองทัพยังไม่สามารถชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสาธารณชนได้
แหล่งข่าวในวงการทหาร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อซ่อมแซมเรือเหาะ เป็นงบประมาณจัดซื้อผ้าใบเพิ่มเติมเพื่อนำมาปะบริเวณรอยรั่ว แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เพราะรอยรั่วมีหลายจุดมากเกินไป ทำให้ทางกองทัพต้องขอเปลี่ยนสินค้าจากบริษัทผู้ผลิต ล่าสุดทางบริษัทได้ส่งบอลลูนผ้าใบผืนใหม่มาให้แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณสำหรับเติมก๊าซฮีเลียม ซึ่งต้องใช้งบมากถึง 4 ล้านบาท
"จีที 200" ตำนานไม้ล้างป่าช้า
ยุทโธปกรณ์ที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดตลอดปี 2553 คือ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 หลังจากแสดงผลผิดพลาดอย่างน้อย 2 ครั้ง จนเกิดระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ตลาดพิมลชัยกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ความผิดพลาดที่นำไปสู่ความสูญเสีย ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่อง จีที 200 จากองค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนออนไลน์ กระทั่งสำนักข่าวบีบีซี เสนอสกู๊ปข่าวการ ผ่าเครื่อง ที่มีลักษณะคล้าย จีที 200 แต่ใช้ชื่อทางการค้าว่า ADE 651 ผลปรากฏว่าเป็นเครื่องลวงโลก เพราะภายในไม่มีกลไกอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ และไร้ประสิทธิภาพในการตรวจหาระเบิดอย่างสิ้นเชิง
จากข้อมูลและกระแสเรียกร้องดังกล่าว ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องมีคำสั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพในการพิสูจน์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจีที 200 ด้วยวิธีการที่ทุกฝ่ายยอมรับ ผลปรากฏว่าการทำงานของเครื่องมีความแม่นยำต่ำกว่าการเดาสุ่ม ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำจนไม่อาจยอมรับได้ หลายคนจึงขนานนาม จีที 200 ว่าเป็น "ไม้ล้างป่าช้า"
จีที 200 กลายเป็นเรื่อง "น้ำลดตอผุด" เมื่อมีการตรวจสอบราคาที่หน่วยงานต่างๆ จัดซื้อตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่าราคามีความแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ 4 แสนบาทไปจนถึง 1.2 ล้านบาท ส่วนราคาขายในต่างประเทศอยู่ที่ 2 แสนบาทเท่านั้น หนำซ้ำยังมีสื่อบางสำนักขุดคุ้ยไปถึงต้นทุนการผลิตที่แท้จริง พบว่าราคาอยู่แค่หลักพัน
เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 มีใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 541 เครื่อง ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1 ล้านบาท (เพราะใช้การ์ดตรวจหาสารประกอบระเบิดและดินปืนสูงสุดถึง 18 ใบ) คิดเป็นเงินงบประมาณที่ต้องสูญเสียมากถึง 541 ล้านบาท
รวมมิตรยุทโธปกรณ์ชำรุด-สูญ 2 พันล้าน
การจัดงบประมาณเพื่อซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีปัญหาเหล่านี้ รวมมูลค่าแล้วเกือบๆ 2 พันล้านบาท ประกอบด้วยบอมบ์สูทที่ยังไม่ได้ส่งมอบ 330 ล้านบาท รถปิคอัพหุ้มเกราะ 750 ล้านบาท เรือเหาะตรวจการณ์ 350 ล้านบาท และจีที 200 ซึ่งปัจจุบันระงับการใช้งานไปแล้วอีกราว 541 ล้านบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางปัญหาและความไม่โปร่งใสดังกล่าวนี้ กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพต่างๆ ยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปีงบประมาณ 2554 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 170,285 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 16,253 ล้านบาท ขณะที่กองทัพบกเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุดของกระทรวงกลาโหม กล่าวคือได้รับงบประมาณจำนวน 83,508.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,644.6 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2553
ส่วน กอ.รมน. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2553 จำนวน 552 ล้านบาท เป็นงบในภารกิจดับไฟใต้มากถึง 8,019 ล้านบาท