จำนวนคนอ่านล่าสุด 394 คน วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7369 ข่าวสดรายวัน
เซรามิกหุ้มเคฟลา 'เกราะ'ใหม่ฝีมือไทยทำจันท์เกษม รุณภัย/รายงาน
เสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นยุทธภัณฑ์พื้นฐานที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการอยู่รอดของฝ่ายปฏิบัติการจากห่ากระสุนของฝ่ายตรงข้าม อันเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในสนามรบ ด้วยตระหนักในความขาดแคลนยุทธภัณฑ์และภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของกองทัพไทย
ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) หน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้รับอนุญาตจากกองทัพไทยให้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุน รุ่น MTEC No.2 และนำไปมอบให้กองทัพภาคที่ 3 ค่ายนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 47 ตัว
โดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบเสื้อเกราะแด่ พลโทวรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อใช้ในปฏิบัติการด้านความมั่นคง อาทิ การปราบปรามยาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างหนัก
สำหรับเสื้อเกราะ รุ่น MTEC No.2 เป็นเสื้อเกราะชนิดแข็ง ได้รับการทดสอบคุณภาพเสื้อเกราะโดยกองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรฐานกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (เอ็นไอเจ) พบว่า
มีขีดความสามารถอยู่ในระดับ III-A จนถึง III
กล่าวคือ สามารถกันกระสุนที่มีอัตรา เร็วสูงสุด 838 เมตรต่อวินาที เทียบเท่ากระสุน ขนาด 7.62 มิลลิเมตร ในเอเค-47 หรือปืนอาก้า แตกต่างกับเกราะอ่อนซึ่งกันได้เพียงแค่กระสุนปืนพกทั่วไป
MTEC No.2 มีน้ำหนักราว 8 กิโลกรัม ประกอบด้วย แผ่นเซรามิกอะลูมินาหลายชิ้น มีน้ำหนักเบา ทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุนที่พุ่งเข้าปะทะ โดยผงอะลู มินานั้นนำเข้าจากญี่ปุ่น ก่อนจะนำมาขึ้นรูปในไทย แผ่นเซรามิกดังกล่าวห่อหุ้มด้วยแผ่นอะลู มิเนียมและเส้นใยเคฟลา ซึ่งมีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง ทำหน้าที่กระจายและดูดซับแรงปะทะเพื่อไม่ให้รอยปูดจากเกราะยาวทะลุเข้าไปในร่างของผู้สวมใส่ ทั้งหมดกลายเป็นแผ่นเกราะขนาด 26 x 30 ตารางเซนติเมตร หนา 4 ซ.ม. น้ำหนักแผ่นละ 4 ก.ก. มีผู้รับผิดชอบงานวิจัย คือ ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ ในอดีตเคยรับผิดชอบโครงการเสื้อเกราะ รุ่น MTEC No.1 ซึ่งใช้เส้นใยโพลีเอธิลีนเป็นวัสดุกระจายและดูดซับแรงปะทะแทนเคฟลา มอบให้กับกองทัพภาคที่ 4 เพื่อนำไปใช้ในภารกิจรักษาความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผอ.เอ็มเทค กล่าวว่า ทางศูนย์กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาเสื้อเกราะรุ่นใหม่ที่มีความทนทานแต่มีน้ำหนักน้อยลง
และจากการสอบถามบรรดาทหารที่ได้ลองสวมใส่เสื้อเกราะ รุ่น MTEC No.2 ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกเบาสบายและคล่องตัว
หน้า 28