เอ็มเทคส่งมอบ 'เสื้อเกราะกันกระสุน' ใช้ในพื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนใต้
.เสื้อเกราะกันกระสุน ผลงานวิจัยร่วมเอ็มเทค-มหิดล พัฒนาสำเร็จ ส่งมอบ 100 ตัวให้ทหาร-ตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ใช้งานจริงรองศาสตราจารย์ศิริลักษณ์ นิวิฐจรรยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า เอ็มเทคได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยและพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยใช้เซรามิกส์ โพลิเมอร์ และโลหะที่มีความแข็งแรงสูงผลิตเป็นแผ่นกันกระสุน ได้คุณภาพมาตรฐานสากล มีประสิทธิภาพทัดเทียมต่างประเทศ โดยมีอายุการใช้งานนานกว่าเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไป และมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อชุด ซึ่งต่ำกว่าราคาเสื้อเกราะกันกระสุนระดับเดียวกันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติป้องกันกระสุนปืนระดับเอ็ม-16 และปืนไรเฟิลอีกด้วย
ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ หัวหน้าโครงการวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนของเอ็มเทค กล่าวว่า เสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตขึ้นนี้เป็นเสื้อเกราะชนิดแข็ง ใช้แผ่นกันกระสุนที่ประกอบด้วยแผ่นกระจายแรงและแผ่นดูดซับแรง แผ่นกระจายแรงทำจากเซรามิกส์และโลหะ ส่วนแผ่นดูดซับแรงที่พัฒนาโดย รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย หัวหน้าโครงการวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตจากแผ่นโพลิเมอร์ HDPE คอมโพสิตที่มีความแข็งแรงสูง โดยได้ดำเนินการวิจัยผลิตเส้นใยสมบัติเชิงกลสูงเสริมแรงโพลีเอทิลีน ซึ่งแผ่นเกราะแข็งนี้มีลักษณะเป็นแผ่นโค้งที่ออกแบบให้รับกับสรีระของคนไทย แผ่นกระจายแรงที่อยู่ด้านนอกจะทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุน และด้วยคุณสมบัติของวัสดุเซรามิกส์ที่เบาและแข็งสามารถทำลายหัวกระสุนที่มีความเร็วสูงให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ ส่วนความแข็งช่วยให้กระจายแรงได้ดี สำหรับแผ่นดูดซับแรงโพลิเมอร์คอมโพสิทที่อยู่ด้านในทำหน้าที่ลดแรงกระแทกที่เหลือ
เสื้อเกราะกันกระสุนนี้มีน้ำหนักเพียง 9 -10 กิโลกรัม และผ่านการทดสอบคุณภาพจากกองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันภัยของเกราะบุคคลในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) Standard 0101.03 และ NIJ Standard 0101.04 (เฉพาะส่วนที่อ้างถึงในคุณลักษณะเฉพาะ) ของสหรัฐอเมริกา คือสามารถป้องกันกระสุนปืน 7.62 ม.ม. ปืนเอ็ม-16 และปืนไรเฟิลได้ ซึ่งทางกลุ่ม ปตท.จะนำเสื้อเกราะทั้งหมดจำนวน 100 ตัว มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้ป้องกันตัวขณะปฏิบัติในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อใช้ป้องกันรักษาชีวิตทหาร โดยมอบให้หน่วยงานทหารบก จำนวน 30 ชุด หน่วยงานทหารเรือ จำนวน 40 ชุด และหน่วยงานตำรวจ จำนวน 30 ชุด
ทั้งนี้ งานวิจัยและพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและวัตถุดิบเม็ดพลาสติกจาก บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (PTTPM) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลการจำหน่ายเม็ดพลาสติก InnoPlus HDPE ทั้งหมดของกลุ่ม ปตท.
หน่วยงานเจ้าของข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 0 2564 7000
โทรสาร 0 2564 7001-5
เว็บไซต์ :
http://www.nstda.or.th/