มีเพื่อนทำธุรกิจปลาร้า ทุกวันนี้สั่งปลามาจากเขมร ปลาเขมรเนื้อหวาน ต่างชาติขยับเข้าลงทุนส่งออก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 เมษายน 2553 12:01 น.
ภาพถ่ายวันที่ 24 พ.ย.2552 แม่ค้าปลากำลังกุลีกุจอชั่งปลาสดให้ลูกค้าในตลาดเมืองเกาะกง กัมพูชาเป็นแหล่งผลิตปลาสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปลาน้ำจืดที่ยังมีมากมายในแหล่งน้ำธรรมชาติ ขณะที่การประมงทางทะเลกำลังรอการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาขึ้นมาแข่งกับเพื่อนบ้าน ปัจจุบันธุรกิจผลิตปลาส่งออกกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น
ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์ --- เพิ่งจะมีการเปิดเผยขอมูลว่า ในแต่ละปีไทยกับเวียดนามนำเข้าปลาแช่แข็งจากกัมพูชาปริมาณมหาศาล แต่ตลาดก็กำลังขยายออกไปอย่างกว้าง และบริษัทต่างชาติเริ่มเข้าไปทำกำไรจากการส่งออก
ตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรกัมพูชา ปีที่แล้วมีการส่งออกปลาถึง 30,000 ตัน มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปี 2551 ที่ส่งออกปลาสด 20,000 ตัน กับปลาแปรรูป 10,000 ตัน เพิ่มขึ้นราว 5,000 ตัน จากปี 2550 ปริมาณส่งออกปีที่แล้วไม่ได้ลดลง แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างหนักก็ตาม
เราก็ไม่ได้คิดว่าจะส่งออกมากมายขนาดนั้น เพราะว่ายังจะต้องเหลือให้พอบริโภคภายในประเทศด้วย หนังสือพิมพ์ในกัมพูชาอ้างคำสัมภาษณ์ของ นายซัมนอว์ (Sam Nav) รองอธิบดีกรมประมง
ปี 2552 ทั่วกัมพูชาจับปลาได้ราว 465,000 ตัน เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน ในนั้น 390,000 ตันเป็นปลาน้ำจืด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า โตนเลสาบ (Tonle Sap) ทะเลสาบใหญ่ใจกลางประเทศเป็นแหล่งปลาที่อุดมสมบูรณ์ แม้ว่าปริมาณจะลดลงในช่วงปีหลังๆ นี้ เนื่องจากจับกันมาก
ภาพถ่ายวันที่ 24 พ.ย.2552 แม่ค้าสาวกำลังจัดแจงกับปลาขณะรอลูกค้าภายในตลาดสดเกาะกง กัมพูชาเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่สำคัญ ในขณะที่การเพาะเลี้ยงยังไม่แพร่หลายและการประมงน้ำเค็มยังล้าหลัง ปัจจุบันธุรกิจผลิตปลาส่งออกกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน
กัมพูชาเป็นแหล่งผลิตปลาช่อนทะเล ปลากะพง กุ้งลอบสเตอร์ ปูและกุ้งทะเล ตลาดส่งออกมีตั้งแต่ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ลูกค้าสองรายหลังนี้ต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่กัมพูชาผลิตได้ไม่พอ
ความต้องการของตลาดที่สูงขึ้นได้ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งเข้าไปปักหลักในสีหนุวิลล์ เมืองท่าเรือและท่าแพปลาใหญ่ที่สุด สร้างห้องเย็นผลิตปลาแช่แข็งและแปรรูปสำหรับส่งออก
บริษัท แคนาเดียนนอทิสโก (Canadian Nautisco Seafood Manufacturing) เป็นรายล่าสุดที่เข้าไปแสวงหาผลกำไรจากการผลิตและส่งออกปลากับอาหารทะเล บริษัทนี้ลงทุนราว 4 ล้านดอลลาร์สร้างโรงงานขึ้นในสีหนุวิลล์โดยเล็งไปยังตลาดแคนาดา ยุโรปตะวันออก ญี่ปุ่น รัสเซีย รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทจากแคนาดาผลิตกุ้งแช่แข็งได้เพียง 500 ตันต่อเดือนเท่านั้น ที่เหลือล้วนเป็นผู้ผลิตส่งออกรายเล็ก โอกาสสำหรับการลงทุนเรื่องนี้จึงมีอีกมาก สื่อในกัมพูชากล่าว