แจ้งข่าวครับ
http://www.1000yards.net/forum/index.php/topic,1766.0.html....หากยังจำกันได้ เมื่อปี2547 ผมได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเรื่องการไม่ออกใบอนุญาตป.3ขนาด.45 ตามกระทู้
http://www.1000yards.net/forum/index.php/topic,1271.0.html และในศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่าประกาศนายทะเบียนที่30/2546 ลงวันที่29 พ.ค.2546เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอยประกาศเฉพาะส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเสีย...ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น....
....ในวันที่ 3กรกฎาคม2555 เวลา 09.30น.ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ศาลจึงนัดพิจารณาคดีครั้งแรก....
....หากพวกเราท่านใดว่างก็เรียนเชิญเข้าฟังกันด้วยนะครับ....
ลองอ่านคำแก้อุทธรณ์ ซึ่งสรุปข้อเท็จจริงไว้ให้ตั้งแต่ต้น
คดีนี้ วังไชยา ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง มีใจความเพียง 27 บรรทัด
ข้อ ๑ คดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาสรุปได้ว่าพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒) บัญญัติว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องการวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานคร ที่ ๓๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ โดยในข้อ ๑ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าวซึ่งรวมถึงอาวุธปืนพกสั้นขนาด.๔๕ เพื่อการกีฬา จะต้องนำหลักฐานการเป็นสมาชิกสนามยิงปืนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน เพื่อประกอบการพิจารณา สาระสำคัญของประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานครดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอและการออกใบอนุญาต ซึ่งต้องทำเป็นกฎกระทรวงอันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒) เท่านั้น ดังนั้น ข้อ ๑ ของประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานคร ที่ ๓๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ให้เพิกถอนประกาศเฉพาะส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเสีย
ข้อ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลปกครองกลาง สรุปได้ว่า
ข้อ ๒.๑ ประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานคร ที่ ๓๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นคำขออนุญาต และเป็นเพียงส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น มิได้เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต
ข้อ ๒.๒ กฎกระทรวงในเรื่องการวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาต ได้ดำเนินการออกมาใช้บังคับแล้ว ประกอบด้วยกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๔๙๐), กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๑) และกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๒)
ข้อ ๓ คำแก้อุทธรณ์
ข้อ ๓.๑ ข้อความในเนื้อหาคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๒๗ บรรทัดมิได้เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลปกครองกลาง อีกทั้งยังไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ คำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งฉบับจึงเป็นคำอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ข้อ ๑๐๑ จึงขอความกรุณาศาลปกครองสูงสุดได้โปรดยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีโดยพลัน
ข้อ ๓.๒ การอ้างว่าประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานคร ที่ ๓๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ได้ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นคำขออนุญาต และเป็นเพียงส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้นเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากข้อความในตัวประกาศเองที่มีสภาพบังคับอยู่ในตัว อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เอง ก็ยังใช้ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการออกใบอนุญาตให้กับผู้ฟ้องคดี จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยคำอุทธรณ์ว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับสั่งให้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ฟ้องคดีมาแล้ว
ข้อ ๓.๓ กฎกระทรวงในเรื่องการวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตที่ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒) มีแต่เพียงกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๔๙๐) เท่านั้น กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๙๑) เป็นกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๕๖ เพื่อจำกัดการออกใบอนุญาตบางประเภท ส่วนกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๒) ก็เป็นกฎกระทรวงที่ออกเพื่อกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๕๕ มิได้เป็นกฎกระทรวงที่วางระเบียบการทะเบียนตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒) ในประเด็นตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแต่อย่างใด และโดยที่ได้มีการออกกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๔๙๐) เพื่อวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตไว้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกระเบียบใด ๆ ขึ้นมาให้เกิดความสับสนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอีกต่อไป
ข้อ ๓.๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๔๙๐) เป็นการวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตไว้แบบกว้าง ๆ กับได้ออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๖๗๔/๒๔๙๐ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ มีข้อความสาระสำคัญเป็นการวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตขึ้นมาควบคู่กับกฎกระทรวง ส่วนที่แตกต่างกันก็คือคำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเป็นเอกสารภายในของกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานทางกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลอดจนไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองและได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีดังเช่นการออกกฎกระทรวง ทำให้สามารถออกระเบียบที่กดขี่บีบบังคับประชาชนอย่างไรก็ได้ โดยในปัจจุบันก็ได้มีประชาชนยื่นฟ้องคดีปกครองขอเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๖๗๔/๒๔๙๐ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด
ข้อ ๓.๕ นับตั้งแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๖๗๔/๒๔๙๐ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับอาวุธปืน ต่างก็พากันออกคำสั่งทางปกครอง วางระเบียบในการออกใบอนุญาตออกมาอีกมากมาย เพื่อสร้างอำนาจบารมีและอิทธิพลให้กับตนเองและบริวาร จนกระทั่งเอกสารหลายฉบับมีข้อความกลับไปกลับมาเพื่อที่จะใช้เลือกปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ ได้ตามอำเภอใจ ดังที่ผู้ฟ้องคดีได้เคยระบุไว้ในคำคัดค้านคำให้การตั้งแต่ในชั้นศาลปกครองกลาง กล่าวคือ
ก. เดิมกระทรวงมหาดไทยได้เคยมีหนังสือที่ ๕๑๙๐/๒๕๐๒ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๒ กำหนดว่าอาวุธปืนขนาด.๓๘ หรือ ๙ มม.ขึ้นไปถือว่าเป็นอาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรง หากจะอนุญาตให้กับประชาชนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือที่ มท ๐๓๑๓/๕๔๗๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๙ ยกเลิกหลักเกณฑ์ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ ๕๑๙๐/๒๕๐๒ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๒ และกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ว่าอาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงคืออาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่ระบุห้ามไว้ในกฎกระทรวง ฯ คำสั่งทางปกครองนี้ ล้วนแต่ออกขึ้นโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่วางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒) ทั้งสิ้น
ข. ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือ ที่ มท ๐๕๐๑/ว๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ กำหนดหลักเกณฑ์สวนทางกับหนังสือที่ มท ๐๓๑๓/๕๔๗๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๙ ว่าบุคคลทั่วไปมีอาวุธปืนได้ไม่เกิน.๓๘ หรือ ๙ มม.หากจะอนุญาตขนาดลำกล้องใหญ่กว่านี้จะต้องขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลายลักษณ์อักษร
ค. การที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์สวนทางกับของเดิม แต่มิได้ยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม ทำให้มีนายทะเบียนอาวุธปืนท้องที่ต่าง ๆ มีหนังสือหารือว่าจะให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดกันแน่ ปรากฏว่ากระทรวงมหาดไทยมีหนังสือที่ มท ๐๒๐๔/๖๑๗๖ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕ ชี้แจงว่าหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ว๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ ไม่มีผลยกเลิกหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท ๐๓๑๓/๕๔๗๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๙ โดยให้นายทะเบียนอาวุธปืนใช้ทั้งสองฉบับพิจารณาไปด้วยกัน
ง. ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือที่ มท ๐๒๐๔/ว๑๒๒๓๖ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๖ ออกมายืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ว๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ ไม่มีผลยกเลิกหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท ๐๓๑๓/๕๔๗๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๙ และชี้แจงเพิ่มเติมว่าหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ว๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ เป็นนโยบายที่กำหนดโดยกรมตำรวจที่จะใช้บังคับในส่วนกลาง โดยให้นายทะเบียนในส่วนภูมิภาคถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท ๐๓๑๓/๕๔๗๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๙
จ. การที่มีหนังสือสั่งการหลายฉบับให้เลือกใช้ได้ตามใจชอบ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีข้ออ้างที่จะเลือกปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีได้ตามอำเภอใจของตนเอง กล่าวคือ หากผู้ฟ้องคดีทำตัวให้เป็นที่พึงพอใจในทางหนึ่งทางใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็อาจจะเลือกใช้หลักเกณฑ์ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท ๐๓๑๓/๕๔๗๕ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๙ ที่กำหนดว่า อาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงคืออาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ตามที่ระบุห้ามไว้ในกฎกระทรวง ฯ แต่ถ้าทำให้ไม่พอใจ อย่างเช่นเป็นบุคคลที่เคยยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมาก่อนแล้ว จึงถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้หลักเกณฑ์ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ว๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ และหลักเกณฑ์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดขึ้นมาเอง มาใช้เป็นเหตุผลในการปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ข้อ ๔ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ แยกแยะข้อกฎหมายตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน สมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะได้นำเอาคำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติราชการ โดยยกเลิกระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตที่ออกโดยฝ่าฝืนกฎหมายเช่นเดียวกับประกาศนายทะเบียนอาวุธปืนกรุงเทพมหานคร ที่ ๓๐/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีและบริวารได้ออกไว้อย่างมากมาย จนกระทั่งสามารถจัดรวบรวมพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแจกจ่ายให้กับนายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยจัดทำเป็นคำอุทธรณ์ที่มีข้อความเนื้อหาคำอุทธรณ์นับได้เพียง ๒๗ บรรทัด จึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากต้องการซื้อเวลาเพื่อที่จะแสวงประโยชน์ จากระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ตนเองออกขึ้นมาโดยฝ่าฝืนกฎหมายต่อไปอีกเรื่อย ๆ ในระหว่างที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีนี้
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ผู้ฟ้องคดีจึงขอความเมตตาต่อศาลปกครองสูงสุด ได้โปรดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง และขอได้โปรดเร่งรัดการพิจารณาคดีนี้ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีจะได้นำระเบียบที่ออกโดยฝ่าฝืนกฎหมายเหล่านี้มาออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้มาตรฐานผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สมดังเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒)