คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551
พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์
โจทก์
นางอัญชลี บุญอุทิศ
จำเลย
ป.วิ.อ. มาตรา 185
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์... ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เพื่อหากำไร เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องปรากฏแต่เพียงว่า จำเลยเปิดแผ่นเอ็มพีสามและซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหาย 1 แผ่น เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยแต่ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลงโดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จั้ดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 17, 31, 70, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์... ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เพื่อหากำไร เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นปรากฏว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหาย จำนวน 1 เพลง เพียง เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
( พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - บุญรอด ตันประเสริฐ )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายนทดล กิติกัมรา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จากฎีกาข้างต้น ผมมีข้อสงสัยว่า
1. จำเลยผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว เมื่อศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดตามฟ้องแล้ว สามารถฟ้องร้องค่าเสียหาย เช่นค่าเสียโอกาสทางการค้า (หากการกระทำในการจับกุมทำให้ต้องหยุดการให้บริการหรือไม่สามารถเปิดดำเนินการค้าขายได้ปกติชั่วคราวหรือถาวร) จากบริษัทหรือผู้ดำเนินการจับกุมได้หรือไม่
2. กรณีในการจับกุมทั่วไป มักมีการเรียกร้องเงิน เพื่อให้จบเรื่องหรือไม่ต้องมีการดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมายปกติ เราสามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย กับการกระทำดังกล่าวได้หรือไม่
3. กรุณาช่วยแยกความแตกต่างระหว่าง "การกระทำเพื่อการค้า" และ "การกระทำเพื่อหากำไร" ว่าแตกต่างกันอย่างไร
ในฟ้องดังกล่าว อัยการร่างฟ้องไม่ครบข้อหาฐานความผิด
เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง
ตอบตามคำถาม
1.สามารถฟ้องร้องได้ แต่จะชนะหรือไม่อยู่ที่พยานหลักฐานที่จะนำสืบในชั้นศาล
ถ้าข้อมูลเป็นแบบนี้ ฟ้องกลับเป็นการเปิดแผลใหม่ให้ตนเอง ไม่เป็นผลดีครับ
คดีนี้อัยการบกพร่องเรื่องร่างคำฟ้องไม่ครบองค์ประกอบฐานความผิด และนำสืบไม่ครบประเด็น
ศาลจึงยกฟ้อง
2.คดีละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นกฎหมายที่ยอมความกันได้ หากตกลงกันเองแล้ว จะไปฟ้องกับใคร
ยกเว้นในการตกลงนั้น เป็นไปโดยไม่ชอบ ก็สามารถที่จะฟ้องร้องได้ตามฐานความผิด
อาจจะเป็นความผิดฐาน กรรโชกทรัพย์ ฯลฯ
3.การกระทำเพื่อการค้า คือการที่ได้ทรัพย์หรือประโยชน์จากการค้าขายโดยตรง
การกระทำเพื่อหากำไร อาจจะได้ทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากการค้าขายตรง
เช่นเราไปเที่ยวร้านคาราโอเกะ ทางร้านมีการเก็บเงินค่าร้องเพลง เพลงละ 10 บาท
การกระทำของร้านดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการละเมิดลิขสิทธิ์