เจอจากเวบนึงแล้วค่ะ
บาดแผล (Wounds) หมายถึงการบาดเจ็บทุกชนิดที่ก่อให้เกิดการแตกสลายของผิวหนัง หรือเยื่อบุส่วนอื่น ๆ ของร่างกายรวมทั้งการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแก่เนื้อเยื่อที่อยู่ส่วนล่างลงไปจากผิวหนังหรือเยื่อบุเหล่านี้ ผลของบาดแผลที่ควรสนใจเป็นพิเศษคือ เลือดออกและติดเชื้อ
ประเภทของบาดแผล
บาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ แบ่งออกเป็น ๕ ชนิด คือ
๑. บาดแผลถลอก (abrasions) เป็นบาดแผลจากการขีดข่วน ขัดถู เสียดสี มักเป็นแผลตื้น ๆ มีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอย เช่น แผลจากหกล้ม ทำให้เกิดบาดแผลถลอกตามข้อศอกและหัวเข่า บาดแผลประเภทนี้ติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะมีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผลตั้งแต่ต้น
๒. บาดแผลตัด (incisions) เป็นบาดแผลจากของมีคม เช่น มีด ขอบโลหะ กระจก เศษแก้วตัดผ่านผิวหนังมักมีเลือดออกมาก เพราะเส้นเลือดถูกตัดขาดบริเวณขอบแผลทั้ง ๆ ที่เนื้อเยื่อโดยรอบมิได้ถูกกระทบกระเทือนบาดแผลประเภทนี้ติดเชื้อโรคได้น้อยที่สุดเพราะมีเลือดออกมาก จึงชะล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกมาด้วย
๓. บาดแผลฉีกขาด (lacerations) เป็นบาดแผลที่เกิดจากสะเก็ดระเบิด บาดแผลฉีดขากจากอุบัติเหตุเครื่องยนต์มักมีฝุ่นผงน้ำมัน หรือสิ่งสกปรกเจือปน เส้นเลือดบริเวณบาดแผลมักถูกหนีบ จึงทำให้เลือดออกไม่มาก แต่ติดเชื้อโรคได้
๔. บาดแผลทุละ หรือบาดแผลถูกแทง (punctures or penetrating wounds) เป็นบาดแผลที่เกิดจากถูกแทงด้วยของแหลม หรือถูกกระสุนปืน มีทางเข้าเล็ก ๆ แต่ลึก บางครั้งไม่ปรากฏเลือดออกมาจากภายนอก แต่มีการบาดเจ็บรุนแรงของอวัยวะใต้ผิวหนังลงไป ติดเชื้อได้ง่ายเพราะมีเชื้อโรคจากภายนอกเข้าไปในส่วนลึกของแผล มีเลือดออกน้อย ๕. บาดแผลถูกบีบหรือบด (crushed wounds) มักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง บาดแผลของผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบถูกทกลายไปมาก มักมีกระดูกหักและบาดแผลฉีกขาดร่วมอยู่ด้วย เชื้อโรคเข้าไปสู่ส่วนลึกได้มาก มีความเจ็บปวดและเลือดออกรุนแรง
หลักของการรักษาบาดแผล ๑. บาดแผลสด ให้ปฐมพยาบาลโดยห้ามเลือดรักษาอาการช็อค และป้องกันการติดเชื้อด้วยการแต่งบาดแผลที่ถูกวิธีตามลำดับขั้นตอน
๒. บาดแผลเก่าที่ติดเชื้อโรคมาแล้ว ให้ปฐมพยาบาลโดยบังคับให้ส่วนที่มีแผลอยู่นิ่ง ยกให้สูงแล้วประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น
๓. บาดแผลใดที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ถ้าเอาออกได้ ควรรีบเอาออกเสีย
วิธีปฏิบัติ ๑. บาดแผลที่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อย ให้ใช้ยาแต่งแผลธรรมดา เช่น ทายาแดงแล้วปิดด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดอย่าลืมนำส่งแพทย์เพื่อฉีดยาวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หรือ รักษาโรคอื่น ๆ เพิ่มเติม
๒. บาดแผลที่มีเลือดออกมาก ควรห้ามเลือดให้ดีก่อนแต่งบาดแผล
๓. หากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในบาดแผล เช่น เศษดินทราย น้ำมัน ดินระเบิด หรือดินปืน ควรชะล้างด้วยน้ำสะอาดให้ออกมามากที่สุด แล้วปิดแผลไว้ หากมีกระดูกแทงทะลุออกมา ควรห้ามเลือดเสียก่อนแล้วจึงปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดก่อนเข้าเฝือกชั่วคราว
๔. บาดแผลบริเวณทรวงอกที่มีทางติดต่อเข้าไปในช่องปอด ให้ใช้ผ้าหนาๆ ปิดทับลงบนปากแผลให้แน่นโดยเร็ว เพื่อมิให้อากาศเข้าออกเวลาหายใจได้ แม้ว่าผู้ป่วยมีอาการช็อคก็ไม่ควรให้นอนราบ ให้นอนพิงในท่านั่ง เพื่อมิให้หายใจลำบาก
๕. บาดแผลบริเวณหน้าท้อง ควรกดบนแผลด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด หากพบส่วนหนึ่งส่วนใดของลำไส้ทะลักออกจากแผล ควรปิดแผลด้วยผ้าสะอาดที่ชุ่มน้ำเกลือ ให้ผู้ป่วยนอนหงายงอเข่าทั้ง ๒ ข้างเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องหย่อน ไม่ควรให้อาหารหรือน้ำดื่มแก่ผู้ป่วย และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
๖. บาดแผลบริเวณศีรษะ ควรให้ผู้ป่วยนอนหงายในท่าราบ ในกรณีที่ผู้ป่วยหน้าแดงหรือแสดงอาการหายใจลำบากควรหนุนศีรษะของผู้ป่วยให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
๗. บาดแผลบริเวณใบหน้าให้รักษาเช่นเดียวกับบาดแผลอื่น ๆ นอกจากในรายที่ผู้ป่วยมีอาการช็อคควรให้ใบหน้าของผู้ป่วยตะแคงข้าง และให้ศีรษะอยู่ในระดับต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย เลือดจะได้ไม่ไหลเข้าไปอุดทางเดินหายใจ
๘. บาดแผลภายในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการกระแทกจากแรงภายนอก โดยที่ไม่มีการบาดเจ็บของผิวหนังภายนอก ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้นาน ควรส่งให้แพทย์ตรวจโดยด่วน บางครั้งต้องทำการผ่าตัดช่วยชีวิต
๙. การบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้ส่วนใดของแขนหรือขา แม้แต่นิ้วมือนิ้วเท้าขาดออกจากร่างกาย ผู้ช่วยเหลือควรห้ามเลือดส่วนทีเป็นแผลโดยเร็ว ชิ้นส่วนที่ขาดออกมาควรเก็บใส่ถุงพลาสติกแห้ง มัดปากถุงให้แน่น นำไปแช่ไว้ในน้ำแข็ง ส่งพร้อมกับผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อแพทย์จะได้ผ่าตัดต่ออวัยวะที่บาดเจ็บให้