เมื่อเห็นคนอื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่านิ่งดูดายนะครับ ความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ เรื่องป้องกันก็สามารถป้องกันสิทธิ
ของคนอื่นที่กำลังจะได้รับภยันตรายได้ด้วย ไม่เฉพาะแต่เรื่องของตัวเองแต่อย่างใด
หากเราพบคนอื่นกำลังตกอยู่ในภยันตราย ถือได้ว่าเราพบความผิดซึ่งหน้า
เกิดขึ้นแล้ว ราษฎรอย่างเราก็มีสิทธิเข้าช่วยเหลือโดยอ้างสิทธิผู้อื่นตาม มาตรา ๖๘
นี้ก็ได้ หรือจะเข้าไปช่วยโดยอ้างว่าพบความผิดซึ่งหน้าแล้วเข้าจับกุมตาม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๓
ก็ได้
มีฎีกา ที่ ๒๓๕๓ / ๒๕๓๐ วินิจฉัยว่า กรณีที่มิใช่ความผิดซึ่งหน้า ราษฎรไม่มีอำนาจ
ตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ... .......................... ฯ
เมื่อแปลความกลับก็จะได้ความว่า หากเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้ว
ราษฎรเข้าจับกุมได้ ก็ตาม มาตรา ๗๙ / ๘๐ / ๘๓ นี่แหละ
และการเข้าไปจับกุมดังกล่าวก็ไม่ต้องแจ้งข้อหาให้คนร้ายทราบก่อนด้วยก็ได้
( ตามฎีกาที่ ๕๑๒/ ๒๔๘๐ และที่ ๓๑๙ - ๓๒๐ / ๒๕๒๑ )
และเมื่อเข้าไปจะจับกุมคนร้ายแล้ว หากคนร้ายขัดขืน เช่นว่า ชักปืนจะยิงสู้
เราก็ยิงโต้ตอบคนร้ายได้โดยอ้างป้องกันตาม มาตรา ๖๘ ได้อีก เพราะตาม
มาตรา ๘๓ วรรคท้าย ให้อำนาจราษฎรที่เข้าไปจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้า
สามารถใช้วิธีตอบโต้คนร้ายได้ตามสัดส่วนของภัยนั้นๆ
ลองๆดูคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔ กลุ่มวัยรุ่นกำลังรุมทำร้าย ถ.
จำเลยไปเจอ จึงได้ใช้อาวุธปืนที่มียิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้าย ถ.
เมื่อจำเลยยิงขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว ได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย
จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุนจากปืนของจำเลยได้ลั่นไปถูกคนตาย
เป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่มีความผิด
ฝากไว้ว่า อย่านิ่งดูดายนะครับ เพราะความจริงมีกฎหมายเขาคุ้มครอง
พลเมืองดีอย่างเราๆอยู่ครับ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องกฎหมายครับ ....