...ว่ากันอีกนิดสำหรับเรื่อง DOF (Depth Of Field) นะครับ คงทราบกันแล้วว่าเจ้า DOF เนี่ยแปลตรงตัวหมายถึง "ความชัดลึก" แต่บางท่านใช้คำว่า "ระยะชัด" หมายถึงว่าเวลาเราถ่ายภาพนั้นที่จริงจุดโฟกัส (ถ้ามี) มีเพียงจุดเดียวเท่านั้น จุดอื่นไม่ชัดเท่า อย่างไรก็ตามจุดที่อยู่ "ก่อนถึงจุดโฟกัส" และ "เลยจากจุดโฟกัสออกไป" บางทีมันก็ยังชัดเพียงพอที่สายตาของเราจะบอกว่า "ชัดพอๆ กัน" ครับ เจ้าระยะที่สายตาเราบอกว่าชัดพอๆ กันนี่เองที่เขาเรียกว่า DOF (ที่จริงมันมีอะไรมากกว่านี้อีก แต่ผมขอไม่อธิบายเพราะไม่อยากมั่ว ฮา)
...DOF มีผลกับภาพอย่างไร
-ถ้า DOF บางๆ ตัวแบบจะชัด วัตถุที่อยู่หน้าและหลังตัวแบบ (ถ้ามี) จะเบลอ มักใช้ในการถ่าย portrait ที่นิยมให้หน้าเบลอหลังเบลอตัวแบบชัด หรือภาพอะไรก็ตามที่ต้องการจำกัดความคมชัดไว้ที่ระยะใดระยะหนึ่งครับ
-ถ้า DOF หนาๆ ตัวแบบรวมทั้งวัตถุที่อยู่หน้าและหลังก็จะชัดพอๆ กัน (มากน้อยตามความหนาของ DOF) DOF หนาๆ แบบนี้นิยมเอาไว้ถ่ายวิวทิวทัศน์ ถ่ายภาพหมู่ หรืออะไรก็ตามที่ต้องการความคมชัดทั่วถึง
...ช่างกล้องสามารถใช้เทคนิค DOF เล่นกับภาพได้มากมายครับ
...ทีนี้ DOF จะมากหรือน้อย (หนาหรือบาง) ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (อย่าบอกว่าอยากหนาก็ชงแก่ๆ นะครับ) ตามตำราท่านว่าไว้ดังนี้ครับ
1. ทางยาวโฟกัส: ยิ่งมาก DOF ยิ่งน้อย (บาง)
2. รูรับแสง: รูใหญ่ DOF ยิ่งน้อย (บ๊างบาง)
3. ระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวแบบ: ยิ่งใกล้ DOF ยิ่งน้อย (บางซะ)
...ที่จริงมีสูตรคำนวณด้วยครับ แต่ช่างมันเถอะ อย่าเอามาลงเลย อิอิ
...ที่มันเกี่ยวกับเรื่อง FF และ APS-C ก็คือในข้อ 1. ครับ ผมเล่าเรื่องของผมละกัน
...ทีแรกที่ผมได้กล้อง APS-C มา ผมเข้าใจไปเองว่าต้องเอา "ตัวคูณ 1.6" มาคูณทางยาวโฟกัสในประเด็น DOF ด้วย คือตีความ "ตัวคูณ" เลยเถิดไปว่าเลนส์ตัวเดียวกันเมื่อใช้กับ APS-C แล้ว DOF จะยิ่งบางหนัก เพราะทางยาวโฟกัสมันโดนคูณไปแล้ว ซึ่งที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้นครับ ถึงจะเป็นกล้อง APS-C (ซึ่งเราเข้าใจว่ามันมี "ตัวคูณ") เวลาจะคิดเรื่อง DOF นั้น ไม่ต้องเอาความเป็น APS-C หรือตัวคูณมาเกี่ยวครับ เพราะที่จริงทางยาวโฟกัสมันก็เท่าเดิม แต่ภาพมันถูก crop เท่านั้นเอง อิอิ