ขอแบ่งปันบ้างครับ ปัจจุบันอาราธนา พระพิมพ์สมเด็จ 1 องค์ (คุณพ่ออาราธนาไปรบที่เวียตนาม แล้วรอดปลอดภัยกลับมาครับ), พระไพรีพินาศเนื้อเงินของศาลหลักเมือง กทม. หลังมีตราพร้อมลายมือ(ไม่รู้เรียกว่าอะไรครับขอประทานอภัย) คุณพ่อเช่าให้ตอนที่ท่านเป็นผู้ดูแลศาลหลักเมือง(ในนามองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก) สมเด็จพระญาณสังวร 1 องค์ และก็พระขุนแผนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) ครับ เช่าบูชาตอนที่บวชเรียนอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ แต่ยังไม่เคยถ่ายรูปเก็บไว้เลย
มีแต่รูปพระของคุณพ่อเป็น พระกำลังแผ่นดิน สมเด็จจิตรลดา คุณพ่อได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ปิดทองหลังพระเรียบร้อยแล้วครับ) สมัยเป็นทหารมหาดเล็กรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอยู่ที่พระราชวังไกลกังวลครับ (ท่านพระราชทานเรียกตัวกลับให้ไปรับ - เนื่องจากลาราชการกลับมาพักที่บ้านครับ) กำลังจีบขออาราธนาขึ้นคออยู่ครับ
ท่านบอกให้แน่แต่ยังรออยู่เลยครับ
เสียดายแต่พระยอดธงชุดเดียวกับไปเวียตนามที่หายไปครับ
สงสัยบุญไม่ถึง
เคยอ่านพบในหนังสือ เขาเขียนว่าพระสมเด็จจิตรดา หายากยิ่งกว่าพระสมเด็จวัดระฆัง เพราะมีจำนวนสร้างน้อย
พระสมเด็จจิตรลดาปี พ.ศ.2508 ก่อนทรงมีพระราชดำริสร้างพระพุทธนวราชบพิตร พระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกรมศิลปากร
แกะแม่พิมพ์พระพิมพ์ สองแม่พิมพ์
ต่อมา ประชาชนเรียกพระพิมพ์นี้ว่า
สมเด็จจิตรลดาก่อนหน้านั้น ขณะเสด็จพระราชดำเนิน เปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต
เมื่อประชาชนทูลเกล้าฯถวายพวงมาลัยดอกไม้สด ทรงถวายไว้ ณ ที่บูชา
จนถึงคราวเสด็จเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่
ทรงเห็นควรเก็บดอกไม้แห้งไว้เป็นสิริมงคล ใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างพระพิมพ์
พระราชประสงค์เบื้องต้น บรรจุไว้ที่ฐานพระพุทธนวราชบพิตร
และพระราชทานข้าราชบริพารฝ่ายใน ราชองครักษ์ ประจำ ที่ถวายงานใกล้ชิด
แต่เพียงดอกไม้แห้งจากพวงมาลัย คงไม่พอสร้าง
โปรดฯ ให้รวบรวมเส้นพระเจ้า ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตรฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรี
สีที่ขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพ ชัน และสีที่ขูดจากเรือใบพระที่นั่ง
เหล่านี้คือ ส่วนผสมส่วนในพระองค์
ส่วนผสมนอกนั้น ทรงมอบให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวม ปูชนียสถาน พระพุทธรูปสำคัญ ฯลฯ
ที่ประชาชนเคารพบูชาจาก ทุกจังหวัด
หนังสือ พระพิมพ์จิตรลดา พระพิมพ์ฝีพระหัตถ์ขององค์พระประมุขของชาติ
ฉบับที่นายประมุข ไชยวรรณ จัดทำ เมื่อ พ.ศ.2541 ให้ข้อมูลว่า
ทรงใช้เวลาตอนดึก หลังทรงงาน หลังทรงพระอักษร เทพิมพ์ด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง
มีเพียงเจ้าพนักงาน 1 คน คอยถวายพระสุธารส และคอยหยิบสิ่งของถวาย
ทรงพิมพ์พระตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 จนถึงปี พ.ศ.2512
เมื่อทรงจะพระราชทานผู้ใด ทรงประสิทธิ์ประสาทให้โดยพระหัตถ์ พร้อมพระกระแสรับสั่ง
เมื่อได้พระแล้ว จงประพฤติตนให้เป็นคนดี มีจิตใจดี มีสติ รักษากาย วาจา และใจ
ผลของกรรมดีที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ สติปัญญา สุจริต และเมตตา
จะนำไปสู่ความยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป เป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จที่สมบูรณ์
จำนวนพระพิมพ์จิตรลดา ที่พระราชทานประกาศนียบัตรให้ภายหลัง มีประมาณ 2,900 องค์
เวลาผ่านมาถึงวันนี้ มีผู้ต้องการมากนักหนา ราคาประเมินกันองค์ละหลายแสนถึงล้าน
จึงมีผู้ปลอมทั้งพระ ทั้งประกาศนียบัตร มากมายนับไม่ถ้วน
การดูพระพิมพ์จิตรลดา กลายเป็นศาสตร์ที่ต้องหมั่นศึกษา ยิ่งกว่าอัญมณีมีค่าอื่นๆ
เคล็ดลับการดูพระจิตรลดา ช่วยให้เชื่อว่าเป็นพระแท้ได้ ส่วนหนึ่ง แม้เป็นส่วนน้อย แต่ก็ควรจะรู้ไว้
ก็คือ จะทรงกำชับให้ผู้รับพระราชทาน
ก่อนนำไปบูชา ให้เอาทองเปลวไปปิดที่ด้านหลัง
ความจริงข้อนี้ จึงพอเป็นข้อสรุปว่า พระพิมพ์จิตรลดาแท้ ต้องมีทองปิดที่ด้านหลัง
และคนดีที่ทรงเลือกพระราชทาน ก็จะต้องเป็นคนดีที่ทำงาน แบบปิดทองหลังพระจริงๆ
ผมเห็นคนทำงานแย่งกันเอาหน้า จึงคิดขึ้นได้ สมัยนี้ คนดีแบบนี้ ไม่ค่อยมีแล้ว...
เหมือนพระพิมพ์จิตรลดา ทั้งแพงทั้งหายาก มีเงินแสนเงินล้านซื้อไว้ ก็ไม่แน่ว่าจะได้พระแท้.
โดย "กิเลน ประลองเชิง" จาก นสพ.ไทยรัฐ